สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โลหะเป็นพิษในอาหาร

พิษจากสารเคมีในอาหาร (Chemical Poison)
อาหารเป็นพิษประเภทนี้ เกิดจากสารเคมีที่ปะปนมากับอาหารที่รับประทาน อันเนื่องมาจากกรรมวิธีที่มนุษย์ใช้ในการเก็บรักษา และในกรรมวิธีการผลิตอาหารนั้นๆ จัดเป็นพิษที่เกิดนอกตัวอาหารโดยตรง และการที่อาหารเป็นพิษเนื่องจากสารเคมีมีสาเหตุมี 2 ประการ

1. พิษจากวัตถึปนเปื้อนในอาหาร (Contaminants)
2. พิษจากวัตถุเจือปนในอาหาร (Food Additives)

พิษจากวัตถุปนเปื้อนในอาหาร (วัตถุปนเปื้อนหมายถึงวัตถุซึ่งอาจติดเข้าไปในอาหารได้โดยที่ไม่ตั้งใจ) ได้แก่
ก. โลหะเป็นพิษในอาหาร (Metallic Poisoning)
ข. พิษจากยาฆ่าแมลงตกค้าง (Pesticide Residue)
ค. พิษจากถุงพลาสติกบรรจุอาหาร (Plastic)

โลหะเป็นพิษในอาหาร อาหารเป็นพิษอันเนื่องมาจากโลหะเป็นพิษที่ปะปนอยู่ในอาหาร เป็นสิ่งที่พบได้ง่ายในโลกแห่งความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากวงการอุตสาหกรรมมักใช้โลหะหนักเป็นส่วนประกอบ จะโดยรู้หรือไม่รู้เท่าถึงการก็ตาม ซึ่งโลหะหนักได้แก่ ปรอท ตะกั่ว สํงกะสี โครเมียม แมงกานีส แคสเมียม และแวนนาเดียม เป็นต้น เมื่อโรงงานปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงานลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล โลหะหนักเหล่านั้นก็จะไปสะสมอยู่ใน กุ้ง กั้ง ปู ปลา หอย และสัตว์น้ำอื่นๆ ครั้นมนุษย์รับประทานสัตว์น้ำนั้นเข้าไปก็จะเป็นอันตรายได้

นอกจากนี้วัตถุที่ใช้ในการปรุงแต่งอาหารและภาชนะใส่อาหาร ซึ่งใช้ โลหะหนักในกรรมวิธีผลิตหรือเป็นส่วนผสม ก็เป็นอันตรายถึงชีวิตของผู้บริโภคได้ไม่น้อย เช่น สีผสมอาหาร สีทาบ้าน น้ำส้มสายชู สีเคลือบถ้วยชาม กระป๋อง ถุงพลาสติก เป็นต้น

โลหะเป็นพิษในอาหารได้แก่
1. ปรอท (Mercury) ปรอทเป็นส่วนประกอบในการผลิตยาฆ่าราในเมล็ดพืชและวัชชพืช ผลิตยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อโรค ใช้ทำสีทาท้องเรือ ทำกระจกเงา (ใช้ปรอททาด้านหลัง เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยใช้แล้วเพราะมันเป็นพิษ) และเป็นสารสำคัญในอุตสาหกรรมเคมีประเภท เปโตรเคมิคอล (Petrochemical Industry) เช่นโรงงานผลิตพลาสติก โรงงานผลิตสี โรงงานผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ โรงงานผลิตโซดาไฟ โรงงานไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ โรงงานผลิตพลาสติกชนิด P V C (Polyvinyl Chloride) ซึ่งใช้ปรอทคลอไรด์ (Mercuric Chloride, HgCl2) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst). แล้วปล่อยสารประกอบปรอทลงสู่แม่น้ำลำคลองหรือทะเล ซึ่งประมาณว่าปีหนึ่งๆ จะมีสารปรอทอยู่ ในน้ำทะเล 5,005 ตัน ปรอทจะไปสะสมอยู่ในสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลา กุ้ง และหอย เป็นต้น คนที่กินสัตว์น้ำพวกนี้ก็จะเป็นโรคมินามาตา (Minamata Disease) หรือโรคแพ้พิษปรอท

ที่ได้ชื่อว่า (โรคมินามาตา เนื่องจากโรคแพ้พิษปรอทเกิดครั้งแรกกับคนญี่ปุ่น ที่อยู่รอบอ่าวมินามาตา (Minamata Bay) เมื่อ พ.ศ. 2493 จากการที่คนเหล่านั้นกินปลาและหอยในอ่าวที่ได้รับปรอทเข้าไปสะสมในตัวมัน ซึ่งปรอทนั้นได้จากการปล่อยลงน้ำในรูปของน้ำทิ้ง หรือน้ำเสียของโรงงานผลิตไวนีล คลอไรด์ของบริษัทชิสโสซึ่งอยู่บนอ่าวนั้น ทำให้มีคนป่วย 200 คน และตาย 50 คน โดยคนพวกนี้ง่อยเปลี้ย ตาฟาง ที่เป็นมากมีอัมพาตหมดสติและตายไปทั้งนี้เนื่องจากปรากฏว่าปลาในอ่าวนั้นมีปรอทอยู่ถึง 50 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 100 เท่า คือ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีปรอทในปลาได้ไม่ เกิน 0.5 ppm และสูงกว่าที่กำหนดให้มีได้ในอาหารทั่วไปถึง 1,000 เท่า คือในอาหารทั่วไป กำหนดให้มีปรอทได้ไม่เกิน 0.05 ppm ครั้นใน พ.ศ. 2507 -2508 ชาวญี่ปุ่นใน Niigata ได้เป็นโรคมินามาตากันอีก โดยโรงงานผลิตอะเซตัลดีไฮด์ของบริษัท Showa Denko ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ Agano ได้ปล่อยสารปรอทออกมาสู่แม่น้ำเช่นกัน ครั้งนี้มีคนป่วย 26 คน และตาย 5 คน ใน พ.ศ. 2510 เกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกันในประเทศสวีเดน และใน พ.ศ. 2513 เกิด โรคมินามาตาในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

สำหรับประเทศไทยพบว่าปลาและหอยมีปรอทอยู่ในระดับ 0.004 -0.237 ppm นับว่ายังไม่เป็นอันตราย แต่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรับผิดชอบหาทางป้องกันและสำรวจเป็นประจำ

นอกจากนี้เคยมีคนล้มป่วยและตายเป็นจำนวนมากในประเทศกัวตีมาลา อิรัคและปากีสถาน เนื่องจากนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชพวก ข้าว ข้าวสาลี และข้าวบาร์เล่ที่ได้พ่นยาฆ่าเชื้อราซึ่งมีส่วนผสมของปรอทเพื่อเก็บเมล็ดพืชเหล่านั้นไว้ทำพันธุ์ไปปรุงเป็นอาหาร หรือนำไปเลี้ยงหมู แล้วกินเนื้อหมูเหล่านั้น โดยเฉพาะในประเทศอีรัคมีการล้มป่วยและตายกันมาก ในต้นปี พ.ศ. 2515 จากการนำข้าวพันธุ์ที่พ่นยาฆ่าเชื้อราไว้และรัฐบาลแจกให้ไปปลูก กลับเอาไปทำเป็นอาหารกินเสียนี่

พิษฃองปรอท เมื่อคนกินพืช ปลา หรือหอยที่มีปรอทสะสมอยู่ปรอทก็จะเข้าไปสะสมอยู่ในคน หากสะสมอยู่มากๆ จะทำลายประสาทส่วนกลาง เป็นเหตุให้สมองพิการ กล้ามเนื้อเต้น สายตาและการได้ยินเสื่อมเสียไป มึนงง ความจำเสื่อม แขนขาพิการและตาย พบว่าแม้จะมีปรอทในร่างกายเพียง 0.05 ppm ก็สามารถทำให้โครโมโซมในเซลล์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเกิดการแบ่งตัวผิดปรกติและมีการแตกขาดแยกคู่ออกจากกัน กลายเป็นชิ้นส่วนของโครโมโซมพิการกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ อีก คือ ทำให้เยื่อบุปากเปื่อย เหงือกอักเสบ บวม ฟันโยกหลุด น้ำลายฟูมปาก ลิ้น นิ้ว และแขนขาสั่น เดินลำบาก ปวดหัว วิงเวียน มือสั่น อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน อุจจาระมีมูกเลือด อุจจาระเป็นน้ำ นอนไม่หลับ อาการทางจิต เพราะเป็นพิบต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหารและการทำงานของไต ฯลฯ อาการจะเกิดภายใน 2-30 นาที หลังจากเข้าสู่ร่างกายปรอทยังเข้าร่างกายทางจมูก และทางผิวหนังได้ด้วย

2. ตะกั่ว (Lead) ตะกั่วเป็นโลหะที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ตัวพิมพ์ เครื่องเคลือบดินเผา ใช้ในอุตสาหกรรมทำสี ผสมในน้ำยาปราบศัตรูพืชสารประกอบของตะกั่วในรูป ของ tetraethyl Lead ใพ้ผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อเพิ่มออกเทนและกันเครี่องยนต์น๊อก เครื่องยนต์จะเดินเรียบ (antiknock)

ตะกั่วที่มีอยู่ในอาหารมาจากดินที่ปลูกพืชซึ่งใช้ผลิตอาหารนั้น แต่โดยมากจะมาจากโลหะที่ใช้ทำภาชนะหรือที่จะต้องสัมผัสกับอาหาร หรือวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหาร ไม่ว่าจะในระหว่างขนส่ง หรือเก็บก็ตาม อาจจะเป็นการกรุภายในภาชนะ การใช้บัดกรีตามข้อต่อ การใช้ทำท่อ หรือใช้ในการเคลือบผิวภาชนะ เป็นต้น

ในอาหารประเภทผักผลไม้ ตะกั่วอาจมาจากยาฉีดแมลงที่มีตะกั่วอาร์เซเนทและจากฝุ่นละอองในอากาศซึ่งมาจากสีทาบ้านเก่าๆ ที่มีตะกั่วผสม อาหารจำพวกปลาอาจได้รับตะกั่วจากน้ำทะเลซึ่งเป็นที่รวมของน้ำจากท่อสาธารณะและน้ำเสียจากโรงงาน

ภาชนะใส่อาหารที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผา ส่วนใหญ่จะใช้น้ำยาเคลือบที่มีตะกั่วผสม ฉะนั้นอาหารที่หุงต้มในภาชนะนี้จะมีตะกั่วละลายออกมาปนด้วย หรือใช้ภาชนะนี้ใส่อาหารที่เป็นกรดตะกั่วก็จะละลายออกมาด้วย ถ้วยชามกระเบื้องและพลาสติกที่เคลือบด้วยสีพิมพ์ดอกเมื่อใส่อาหารร้อนหรืออาหารที่เป็นกรด ตะกั่วก็ละลายออกมาเช่นกัน

น้ำดื่มอาจมีตะกั่วได้หากน้ำนั้นสัมผัสกับท่อหรืออุปกรณ์ของท่อ เช่นท่อน้ำประปา น้ำอัดลมหรือนํ้าดื่มที่มีความกระด้าง ยิ่งต่ำเท่าใดก็ยิ่งสามารถละลายตะกัวได้ดีเท่านั้น

ในด้านอาหารกระป๋อง ตะกั่วที่ปนในอาหารมักจะมาจากตะกั่วที่บัดกรีตะเข็บข้างกระป๋อง การบัดกรีตะเข็บจะต้องระวังไม่ให้ตะกั่วเข้าไปติดภายในกระป๋อง และมีกระป๋องบรรจุอาหาร บางชนิดมีส่วนผสมของตะกั่ว

สารเจือปนในอาหารบางชนิด เช่นผงฟู กรดทาร์ทาริก กรดซิตริก ครีมออฟทาร์ทาร์ อาจมีตะกั่วปนมาหากใช้อุปกรณ์การผลิตที่ทำด้วยตะกั่ว
สีผสมอาหารก็ต้องกำหนดปริมาณของตะกั่วไว้ เพราะการผลิตสีบางกรรมวิธีจะทำให้มีตะกั่วปริมาณสูง

ตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางจมูกจากลมหายใจ ทางผิวหนังจากการสัมผัส และทางปากจากอาหาร แต่ตามปรกติตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ทางจมูกและทางปากเท่านั้น โดยเฉพาะทางปากโดยปะปนเข้าไปกับอาหารนั้น อาหารในแต่ละวันจะมีตะกั่วเจือปนอยู่โดยเฉลี่ย 300 ไมโครกรัม แต่ร้อยละ 5 หรือ 15ไมโครกรัมจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่วนที่เหลือถูกถ่ายออกมากับอุจจาระ คนปรกติจะมีระดับของตะกั่วในเลือดต่ำกว่า 0.8 ppm

เด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ขวบ มักมีอุปนิสัยชอบหยิบของต่างๆ ที่ไม่ใช่อาหารเข้าปาก อุปนิสัยเช่นนี้เรียกว่า “pica” มักจะเกิดกับเด็กที่ขาดธาตุเหล็ก ถ้าเผื่อไปหยิบเอาเศษสีที่ลอกตามฝาผนังบ้านกินเข้าไปก็จะทำให้เกิดพิษจากตะกั่วได้ เพราะสีทาบ้านโดยทั่วไปใส่ตะกั่วไว้เป็นจำนวนมาก แต่เดี๋ยวนี้สีส่วนหนึ่งใช้ทิเทเนียมเป็นองค์ประกอบแทนตะกั่วแล้ว มีรายงานว่าเด็กเล็กในสหรัฐอเมริกาจำนวนปีละประมาณ 200,000 คน เกิดเป็นพิษจากตะกั่วเนืองจากกินเศษสีทาบ้าน เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในสลัม

จากนิสัยที่ชอบแทะ อม กัด กิน ของเด็กนี้เอง หากตุ๊กตาหรือของเล่นของแกทาหรือเคลือบด้วยสีที่มีตะกั่ว เมื่อแก แทะ อม กัด กิน ก็จะให้เกิดพิษขึ้นได้

การกินไข่เยี่ยวม้ามาก ๆ จะทำให้สารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ สันนิษฐานกันว่าตะกั่วที่อยู่ในดินจะละลายมากับด่างที่ใช้เป็นส่วนผสมในการพอกไข่จะซึมผ่านเข้าไปในไข่ได้ ไข่เยี่ยวม้ามีตะกั่ว 31.21 ppm ยิ่งเก็บนานยิ่งมีตะกั่วสะสมมาก ไข่เป็ดมี 0.80 ppm

คนที่ทำงานในโรงงานผลิตสี โรงงานถลุงแร่ โรงงานทำแบตเตอรี่ ก็เกิดมีพิษตะกั่วขึ้นในร่างกาย

แหล่งที่เพิ่มปริมาณตะกั่วให้กระจายสู่สิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด คือตะกั่วที่ใช้ผสมในน้ำมันเบนซินซึ่งจะออกมากับไอเสียรถยนต์ พบว่าพืชที่อยู่ใกล้ถนนจะมีปริมาณตะกั่วอยู่ตามผิวสูงมาก เมื่อสัตว์กินพืชตะกั่วก็จะสะสมในสัตว์ และเมื่อเรากินสัตว์เป็นอาหารตะกั่วก็เข้าสู่ร่างกายเราในที่สุด

เมื่อ พ.ศ. 2519 ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลบางครุ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ได้นำเอากากหรือซากแบตเตอรี่ไปถมที่ดินและทำถนน เป็นผลให้เด็กเป็นโรคพิษตะกั่ว จำนวนมากถึงตายก็มี จากการตรวจเลือดของเด็กเหล่านั้นพบว่า เด็กหลายคนมีตะกั่วในเลือดสูง โดยเฉลี่ย 1.25 ppm (สูงกว่า 0.8 ppm)

พิษของตะกั่ว ตะกั่วเป็นธาตุที่มีพิษที่สุดที่ลงไปปะปนในอาหาร เมื่อร่างกายได้รับตะกั่วเข้าไปจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวแล้วก็จะเกิดอาการพิษตะกั่ว ซึ่งพิษของมันมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบโลหิตและระบบประสาท และพิษของมันจะมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง (Chronic Lead Poisoning) อาการแบบเฉียบพลันจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังจากเข้าสู่ร่างกายคือ ปวดท้อง ท้องผูก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้วิงเวียน น้ำหนักลด อาเจียน คอแห้ง กระหายน้ำ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ

ถ้าได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงและเป็นระยะเวลานาน ตะกั่วจะสะสมในร่างกายมาก ในเลือดมีตะกั่วสูงทำให้เกิดพิษแบบเนิ่นนานหรือแบบเรื้อรัง (Chronic Lead Poisoning) คือ เหงือกเขียวคล้ำ ลำไส้เป็นแผล บริเวณใกล้เคียงกับเรตินาของลูกตาจะมีจุดเล็กๆ เกิดขึ้น ทำให้ ประสาทตาเสียหรือพิการ ไตถูกทำลาย กระทบกระเทือนต่อการมีประจำเดือน ประจำเดือนหยุด อาจทำให้แท้งบุตรได้ เข้าไปทำอันตรายต่อระบบประสาทและสมอง เกิดอาการมือเท้าตกเคลื่อนไหวลำบากในที่สุดอาจพิการ สมองเสื่อม ความจำเสื่อม อารมณ์หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ ขาดความกระตือรือร้น ตกใจง่าย เป็นโรคประสาทอย่างอ่อน เป็นหวัดบ่อย หมดความรู้สึกทางเพศ สมองอักเสบ (Encephalitis) อย่างแรง ชักหมดสติ และที่สำคัญได้แก่ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง

โลหิตจางซึ่งเกิดจากการมีตะกั่วในร่างกาย เกิดขึ้นโดยที่ตะกั่วขัดขวางการสร้างฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ของเม็ดเลือดแดง ซึ่งฮีโมโกลบินประกอบด้วยส่วนใหญ่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ “globulin protein” และหน่วยที่บรรจุเหล็กอยู่ซึ่งเรียกว่า “heme” (ฮีม) heme สร้างขึ้นโดยเอน- ไซม์ ALA-dehydrase ทำปฏิกิริยากับ amino acid ชนิดที่ชื่อ ALA ทำให้เกิด prophyrin เมื่อ prophyrin ถูกเติมเหล็กเข้าไปก็จะเป็น heme ต่อมาเมื่อ heme รวมตัวกับ globulin protein จึงทำให้เกิด hemoglobin ขึ้น ตะกั่วขัดขวางการสร้าง hemoglobin สองจุดด้วยกันคือ จุดแรกขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ ALA-dehydrase ทำให้ prophyrin ถูกสร้างขึ้นน้อยมาก heme จึงถูกสร้างขึ้นน้อยหรือครึ่งๆ กลางๆ ส่วนจุดที่สองตะกั่วขัดขวางการรวมตัวระหว่าง globulin protein กับ heme ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง

การสูญสิ้นอำนาจของจักรวรรดิ์โรมันโบราณนั้นเชื่อกันว่า สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากพิษของตะกั่วแบบเรื้อรัง ทั้งนี้เพราะชนชั้นปกครองของโรมันรู้จักใช้ตะกั่วมาทำเป็นภาชนะสำหรับใส่หรือเก็บน้ำดื่มและดื่มน้ำที่จ่ายมาตามท่อที่ทำด้วยตะกั่ว และใช้ตะกั่วบุอาคาร ทำให้ผู้ชายเป็นหมันและแท้งลูกบ่อยครั้งในชนชั้นปกครอง

3. สารหนู (Arsenic) สารหนูมีมากในยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู และยาฆ่าเชื้อโรค มีบ้างในสีผสมอาหาร สารกันเสีย ในสีพิมพ์กระดาษห่ออาหาร ในอาหารทะเล เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม นอกจากนี้อาจปะปนอยู่ในอาหารโดยบังเอิญ หรือผู้ใช้ขาดความระมัดระวัง

พิษของสารหนู คณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดมาตรฐานสำหรับอาหารว่า ไม่ควรมีสารหนูเกิน 2.6 ppm และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับน้ำดื่มว่าไม่ควรมีสารหนูเกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร ดังนั้นเมื่อเราได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายจะโดยทางหายใจ ทางผิวหนัง หรือทางปาก โดยเฉพาะปะปนกับอาหารที่รับประทานเข้าไป เมื่อรับประทานอาหารที่มีสารหนูปะปนอยู่ เช่นผักและผลไม้ที่ฉีดยาฆ่าแมลงที่มีสารหนูก็จะมีสารหนูติดอยู่ที่ผิว หากทิ้งไว้ไม่นานพอที่สารหนูจะสลายตัวไป หรือล้างไม่สะอาด อาหารที่ใส่สี อาหารที่ห่อด้วยกระดาษหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ หรืออาหารที่มีสารหนูปะปนอยู่ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม สารหนูก็จะเข้าสะสมอยู่ในร่างกาย หากมีปริมาณมากพอก็จะทำให้มีอาการ อาเจียน ท้องเดิน ปวดเบ่งเวลาถ่าย ปวดหลัง ตาแดงอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ ปวดหัว วิงเวียน อาการทางสมอง ตับและไตพิการ บางรายทำให้เกิดมะเร็งปอด และผิวหนังได้ เชื่อกันว่าสารหนูในใบยาสูบซึ่งได้รับมาจากยากำจัดศัตรูพืชประเภทสารประกอบของสารหนู อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในบรรดานักสูบบุหรี่ทั้งหลายได้ อาการที่เกิดโดยทันทีหรือแบบเฉียบพลันมักจะเกิดภายใน 10 นาที

4. แมงกานีส (Manganese) แมงกานีสใช้ผสมกับเหล็กทำให้เหล็กเหนียว ยืด หยุ่นและคงทนยิ่งขึ้น เช่นรางรถไฟ ใช้ทำถ่านไฟฉาย ใช้ในการเตรียมด่างทับทิม สารเคมีรักษาเนื้อไม้ ฟอกหนังและย้อมหนัง เป็นต้น

แมงกานีสเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางจมูก ทางผิวหนังและทางปาก โดยเฉพาะทางปากจะปะปนกับอาหารและน้ำที่รับประทานเข้าไป แต่มีน้อยมาก

พิษของแมงกานีส หากแมงกานีสเข้าสู่ร่างกายมากพอจะทำให้ทางเดินอาหารและทางเดินอากาศอักเสบ ผิวหนังอักเสบ ปวดศีรษะ ตับโต และหากร่างกายยังได้รับแมงกานีสอยู่อีกมากและนานก็จะไปทำลายระบบประสาทส่วนกลาง กล้ามเนื้อไม่มีแรง กล้ามเนื้อปลายแขนปลายขาสั่นกระตุก กล้ามเนื้อใบหน้าตายไม่อาจบ่งความรู้สึกใดๆ หรือยิ้มแย้มได้เหมือนคนปกติธรรมดา เดินเซและบังคับการเดินไม่ได้ บางรายมีอารมณ์ไม่แน่นอน บางครั้งหัวเราะ บางครั้งร้องไห้ พูดไม่มีเสียง ปอดบวม และอัมพาตตามร่างกายบางส่วน

5. พลวง (Antimony) เป็นแร่ที่ใช้ในการผลิตสีเคลือบภาชนะเคลือบ เช่น หม้อ ถ้วย จาน ชาม ช้อนและกะละมังเคลือบ และใช้ทำไม้ขีดไฟ (Safety Matches) ดังนั้นเมื่อเอาอาหารที่เป็นกรดมีรสเปรี้ยวปรุงในภาชนะเคลือบที่คุณภาพต่ำพลวงก็จะสลายออกมาปะปนกับอาหาร

พิษของพลวง เมื่อพลวงสลายตัวออกมารวมกับอาหารแล้วเรารับประทานเข้าไปก็จะเกิดอาการภายใน 2-3 นาที ถึง 1 ชั่วโมง อาการเหล่านั้นคือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือมูกเลือด อ่อนเพลีย วิงเวียน หนามืด หายใจช้าลง และไม่สม่ำเสมอ ตัวเย็น และมีพิษต่อตับอย่างแรงอาจทำให้ตายได้

6. โครเมียม (Chromium) เป็นโลหะใช้เคลือบกันสนิม เรียกว่าชุบโครเมี่ยม สารประกอบโครเมทของตะกั่ว สังกะสีและแบเรียม ใช้ทำสีต่างๆ ใช้ทำพรมน้ำมัน ใช้ทำยางและใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมฟอกหนัง การย้อมสีขนสัตว์ ไหมและหนังสัตว์ บางคนนำตะแกรงชุบโครเมียมมาย่างเนื้อ ทำให้โครเมียมซึ่งชุบอยู่นั้นละลายเข้าสู่เนื้อย่างแล้วเกิดเป็นพิษอย่างเฉียบพลันได้

พิษของโครเมียม ส่วนมากคนเราได้รับพิษของโครเมียมโดยการหายใจซึ่งอาจทำให้เกิดเนื้องอกที่ปอดได้ แต่การได้รับร่วมกับน้ำและอาหารก็มีไม่น้อย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรฐานสำหรับน้ำดื่มว่ามีโครเมียมได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร หากร่างกายได้รับโครเมียมในปริมาณมากพอ จะเกิดแผลที่เยี่อเมือกของจมูก ปอด ทางเดินอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มีอันตรายต่อไต ตับ ปอด และเป็นมะเร็ง มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ฝุ่นโครเมียมยังทำให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังตามโคนเล็บมือหรือที่เล็บเท้า

7. ดีบุก (Tin) พบมากในอาหารกระป๋อง เพราะแผ่นเหล็กที่ใช้ทำกระป๋องเคลือบด้วยดีบุก ดีบุกจะถูกสารเคมีในอาหารนั้นทำปฏิกิริยากัดกร่อนให้ละลายปนลงในอาหาร โดยเฉพาะอาหารพวก ปลา กุ้ง ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ ผักโขม แอสปารากัส ผักที่แช่ทองแดงเพื่อช่วยให้เขียว อาหารที่ผ่านการอบหรือแช่สารที่ให้กำมะถันไดออกไซด์ หรือที่มีเกลือ อาหารพวกนี้จะต้องบรรจุในภาชนะที่เคลือบด้วยแลคเกอร์จึงจะป้องกันการละลายของดีบุกลงในอาหารได้

อาหารกระป๋องถ้าเปิดทิ้งค้างไว้ในกระป๋องให้ถูกอากาศ อ๊อกซิเจนจะช่วยเร่งปฏิกิริยาให้ดีบุกละลายปนกับอาหารได้มากขึ้น

เนยแข็งที่ห่อด้วยโลหะแผ่นบางๆ ที่ทำด้วยดีบุก (tin foil) หากมีรอยกัดกร่อนหรือเก่า พบว่ามีปริมาณดีบุกสูงมาก ไม่ควรบริโภค

ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2515 ให้มีดีบุกในอาหารกระป๋องได้ไม่เกิน 250 ppm

พิษของดีบุก เมื่อรับประทานอาหารที่มีดีบุกปะปนอยู่ จะปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า เบื่ออาหาร ปวดท้องมากชนิดปวดบิด ท้องผูกและน้ำหนักลด

8. สังกะสี (Zinc) สังกะสีมีอยู่ในอาหารทั่วไป เช่น ผลไม้ ผัก อาหารทะเล นม เนื้อแดง ข้าวขัดสีแล้ว ไข่ ขนมปัง ถั่วต่างๆ น้ำแร่ แต่ปริมาณไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย

สังกะสีใช้เคลือบกระป๋องในอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ซึ่งจะละลายออกมาปนกับอาหาร

การใช้ภาชนะเคลือบสังกะสีใส่อาหารที่เป็นกรด หรือการตากอาหารบนแผ่นสังกะสี แม้ในระยะสั้นก็ตาม จะทำให้ปริมาณสังกะสีละลายลงไปในอาหารได้

ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2515 ให้มีสังกะสีในอาหารกระป๋องได้ไม่เกิน 100 ppm

พิษของสังกะสี เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีสังกะสีเข้าไป จะปวดบริเวณปาก คอ ท้อง และท้องเดิน

9. แคดเมียม (Cadmium) มีในสีสังเคราะห์ที่ใช้ผสมอาหาร ในอาหารกระป๋อง ที่ใช้แคดเมียมเคลือบกระป๋อง หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดคือมีรสเปรี้ยวใส่ในภาชนะที่ทำด้วยแคดเมียมหรือเคลือบด้วยแคดเมียม แคดเมียมจะละลายปนกับอาหาร เมื่อรับประทานอาหารนั้นเข้าไป จะคลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริว ท้องเดิน เพราะมีการอักเสบอย่างปัจจุบันของระบบทางเดินอาหาร อาการจะเกิดภายใน 15-30 นาที หลังจากเข้าสู่ร่างกาย

ถ้าเป็นเรื้อรังจะมีอาการไอ หอบ เหนื่อยง่าย โลหิตจาง กระดูกผุ ตับพิการ ไตพิการ ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง และหัวใจวายได้

ในประเทศญี่ปุ่นเคยเกิดโรคพิษแคดเมียมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เมือง Toyama ทำให้ไตพิการและปวดเจ็บกระดูกส่วนต่างๆ Dr. Noboru Hagino เรียกโรคนี้ว่า อิไต อิไต (itia-itia kyo หรือ ouch-ouch Disease)

10. แบเรียมคาร์บอนเนต (Barium Carbonate) มีในอาหารที่มียาฆ่าสัตว์แทะปน ภายหลังจากเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะอาเจียน ท้องเดิน ตะคริวที่หน้าท้อง ปวดมวนหน้าท้อง รู้สึกซู่ซ่าตามหน้าและคอ ไม่มีการสะท้อนของเอ็น (Tendon Reflexes) หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ มีอัมพาฅตามกล้ามเนื้อ

11. ฟลอรินหรือโซเดียม ฟลูออไรด์ (Sodium Fluoride) มีในอาหารที่มี สารเคมีนี้ ซึ่งอาจเป็นยาฆ่าแมลง ปนโดยอุบัติเหตุ หรือการหยิบส่วนผสมอาหารผิดไป เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกาย 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง จะอาเจียน มักมีโลหิตออก ปวดท้อง ท้องเดิน ชัก มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (Spasm) กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง เช่นที่ตา หน้า แขน ขา สะอึก ม่านตาเล็กลง มีอัมพาตอย่างอ่อนที่แขนขา อาจจะเข้าใจไขว้เขวกับโรค Botulism

12. ไนเตรด (Nitrate) มีในอาหารที่ปรุงด้วยน้ำบ่อที่มีสารนี้ อาการมักเกิดกับเด็กทารก คือตัวเขียว ท้องเดิน อาเจียน

13. ไนไตร (Nitrite) หรือดินประสิวใช้ใส่ในเนื้อให้มีสีแดงสด หรือใส่ในอาหาร โดยคิดว่าเป็นเกลือ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย 2-3 ชั่วโมง หากมีปริมาณมากพอจะคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดศีรษะ ตัวเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ในรายรุนแรงถึงหมดสติ โลหิตเป็นสีแดงสด ลักษณะเดียวกับคาร์บอนมอนน็อกไซด์ฮีโมโกลบิน

14. เซเลเนียม (Selenium) มักมี ในสีสังเคราะห์ที่ใช้ผสมอาหาร หากรับประทานอาหารที่ใส่สีที่มีสารนี้มากพอ ทำให้ปวดหัวบริเวณหน้าผากซีดมาก ตกใจง่าย ลิ้นเป็นฝ้า ผิวหนังอักเสบ อ่อนเพลียอย่างมาก ตับถูกทำลาย ฯลฯ

15. เมธิล คลอไรด์ (Methyl Chloride) เมื่อรับประทานเข้าไปกับอาหารจะซึม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน ชักและหมดสติ

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า