สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โครเมียม

โครเมียมเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการเพียงจำนวนเล็กน้อย ในปัจจุบันมีผู้สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับโครเมียมมากขึ้น เพราะอาจใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาการเกิดโรคเบาหวาน (ชนิดที่เกิดจากการขาดโครเมียม) ในคนสูงอายุ หรืออุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมีรายงานว่าสาเหตุอันหนึ่งก็คือ การขาดโครเมียม สำหรับประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคขาดโครเมียม และยังไม่มีรายงานการศึกษาภาวะโครเมียมในคนไทย

หน้าที่

โครเมียมมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ในการควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยมีสมมุติฐานว่าโครเมียมเป็น cofactor ทำใหัมีการส่งผ่านนํ้าตาลกลูโคสเข้าไปในเนื้อเยื่อ ถ้าขาดโครเมียมก็จะทำให้ระดับนํ้าตาลในเลือดสูง เนื่องจากอินซูลินทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ ภาวะนี้คล้ายการเกิดโรคเบาหวาน แต่เป็นเบาหวานที่รักษาด้วยอินซูลินแล้วไม่ได้ผล ต้องแก้ไขโดยการเสริมโครเมียม ภาวะนี้มักเกิดในหญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังพบว่าโครเมียมช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้ด้วย

ความต้องการ

ร่างกายคนเรามีโครเมียมอยู่น้อยกว่า 6 มก. และปริมาณนี้จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยปกติคนเราได้รับโครเมียมจากอาหารประมาณวันละ 50-200 มคก. โครเมียมในอาหารจะอยู่ในรูปสารอนินทรีย์ ร่างกายจะดูดซึมได้ประมาณร้อยละ 0.5 การขับถ่ายโครเมียม ส่วนใหญ่ออกทางปัสสาวะโดยมีประมาณ 5-10 มคก.ต่อวัน

การกำหนดค่าความต้องการโครเมียมในแต่ละวันหาได้ค่อนข้างยาก เพราะขึ้นอยู่กับชนิดปริมาณของโครเมียมที่มีอยู่ในอาหาร รวมถึง chelating agent บางตัวที่ขัดขวางการดูดซึมของโครเมียม เช่น พวก phytate อาหารที่มีโครเมียม เช่น ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เนยแข็ง ในพืชผักพบได้น้อย

ดังนั้น จึงได้กำหนดเป็นค่าประมาณ ซึ่งจะปลอดภัยและเพียงพอในแต่ละช่วงอายุ ในเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และให้นมลูก ควรได้โครเมียมวันละ 0.05- 0.2 มก. เด็กอายุ 1-3. ปี ต้องได้รับ 0.02-0.08 มก.ต่อวัน อายุ 4-6 ปี ควรได้รับวันละ 03.0.12 มก. ทารกแรกคลอดถึง 2 เดือน จะได้รับโครเมียมเพียงพอจากนมแม่ เด็กอายุ 3-5 เดือน ต้องได้รับวันละ 0.01-0.04 มก. เมื่ออายุมากขึ้นเป็น 6-11 เดือน ความต้องการเพิ่มขึ้นเป็น 0.02-0.06 มก.ต่อวัน

พิษของโครเมียมจะพบได้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการหยิบเอากรดโครมิกหรือ โครเมตมาดื่ม ซึ่งจะเป็นอันตรายกับไต ตับ และระบบประสาท ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้ถึงตายได้ อาการเรื้อรังจะพบได้ในกรณีที่ทำงานในโรงงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับโครเมียม จะเกิดอาการทางผิวหนังแพ้และเป็นผื่น เยื่อกั้นช่องจมูกมีรูทะลุ และมีอาการหอบหืดร่วมได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า