สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ตะคริว(Muscle cramps)

เป็นอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อที่เกร็งตัว มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และทุเลาไปได้เองเพียงชั่วขณะ ส่วนของร่างกายที่พบอาการนี้ได้บ่อย เช่น กล้ามเนื้อน่องและต้นขา อาการมักเกิดขึ้นขณะเดิน นั่งพัก นอน หรือขณะออกกำลังกายก็ได้ บางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาขณะนอนหลับตอนกลางคืนจนต้องสะดุ้งตื่น เรียกว่า ตะคริวตอนกลางคืน(nocturnal leg cramps) ผู้ที่เป็นตะคริวขณะออกกำลังหรือทำงานในที่อากาศร้อน เรียกว่า ตะคริวจากความร้อน(heat cramps)ตะคริว

ตะคริวเป็นภาวะที่พบได้ในคนทุกวัยและพบได้บ่อยมาก ส่วนในวัยกลางคนและวัยสูงอายุมักพบตะคริวที่ขาตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุ
ส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุชัดเจนของการเกิดภาวะนี้ สาเหตุที่พบเป็นส่วนน้อย เช่น จากสาเหตุการใช้กล้ามเนื้อมากจนเมื่อยล้า ออกกำลังกายโดยใช้แรงติดต่อกันนานๆ ออกกำลังกายหรือทำงานในที่อากาศร้อน ภาวะขาดน้ำ การยืน นั่ง หรือทำงานท่าเดิมติดต่อกันนานๆ

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการ เช่น
-ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม

-ภาวะตั้งครรภ์เนื่องจากการที่ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำหรือการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก

-ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งในผู้ป่วยสูงอายุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด ขณะออกกำลังหรือเดินไกลหรือเดินนาน ขณะที่อากาศเย็น ตอนดึงหรือเช้ามืดอาจเป็นตะคริวได้บ่อยเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี

-มักมีอาการตะคริวที่น่องขณะเดินไกลหรือเดินนานจากการที่รากประสาทถูกกด เช่น ในโรคโพรงกระดูกสันหลังแคบ เป็นต้น

-การใช้ยาบางชนิดก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการตะคริวได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ไนเฟดิพีน ซาลบูทามอล เทอร์บูทาลีน สตีรอยด์ ไซเมทิดีน มอร์ฟีน เป็นต้น

-อาการตะคริวอาจพบร่วมกับภาวะอื่นๆ ได้ เช่น เบาหวาน โรคพาร์กินสัน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจาง ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ ตับแข็ง ไตวาย เป็นต้น

อาการ
ผู้ป่วยจะรู้สึกมีว่ามีการแข็งตัวและปวดมากของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น น่องหรือต้นขา เมื่อเอามือคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน และจะทำให้ยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้นเมื่อพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้น การช่วยให้ตะคริวหายเร็วขึ้นด้วยการนวดและยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้น อาการตะคริวมักเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน นั่งพัก หรือนอน ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดจนสะดุ้งตื่นถ้าเป็นในขณะนอนหลับ

มักจะมีอาการอยู่เพียงชั่วขณะไม่เกิน 10-15 นาที และหายไปได้เอง โดยที่ผู้ป่วยจะเป็นปกติทุกอย่าง และไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย

อาจมีอาการตะคริวติดๆ กันหลายครั้งหรือเคลื่อนไหวหรือเกร็งกล้ามเนื้อเพียงเล็กน้อยก็กระตุ้นให้เกิดอาการขึ้นได้ถ้าเป็นแบบรุนแรง

การเกิดตะคริวที่นิ้วมือจากการเขียนหนังสือติดต่อกันนานๆ เรียกว่า ตะคริวนักเขียน (writer’s cramps หรือ graphospasm) ซึ่งอาจพบได้ในช่างทาสีหรือเกษตรกรที่ใช้มือหยิบจับอุปกรณ์ใช้งานนานๆ

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบอาการของกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง

ภาวะแทรกซ้อน
ไม่มีอันตรายร้ายแรงจากภาวะนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นชั่วขณะแล้วทุเลาไปได้เอง

อาจทำให้หกล้มหรือจมน้ำได้หากเป็นขณะเล่นกีฬาหรือว่ายน้ำและเป็นติดต่อกันนานๆ

การรักษา
1. ให้ทำการปฐมพยาบาลขณะที่เป็นตะคริว โดยการนวดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ หรือยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึง เช่น ถ้าเป็นตะคริวที่น่องให้เหยียดหัวเข่าตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้มากที่สุด ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาให้เหยียดหัวเข่าตรง ยกเท้าขึ้นให้พ้นจากเตียงเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่างไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า

2. เมื่อเข้านอนตอนกลางคืนและเกิดเป็นตะคริวบ่อยๆ ให้ดื่มนมก่อนนอนให้มากขึ้นและยกขาสูงโดยใช้หมอนรองจากเตียงประมาณ 10 ซม. ในหญิงตั้งครรภ์อาจให้ยาเม็ดแคลเซียมแลกเทตกินวันละ 1-3 เม็ด

3. ควรให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ในกรณีเป็นตะคริวจากระดับโซเดียมในเลือดต่ำ เช่น ท้องเดิน อาเจียน ออกกำลังหรือทำงานในที่อากาศร้อน เหงื่อออกมาก เป็นต้น หรือให้น้ำเกลือนอร์มัลทางหลอดเลือดดำหากดื่มน้ำเกลือแร่ไม่ได้

4. มักเกิดจากกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกินถ้ามีอาการมือเท้าจีบเกร็งพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และให้รักษาตามสาเหตุที่เกิด

5. ควรแนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุของโรคหรือภาวะที่พบร่วมด้วยหากพบผู้ป่วยมีอาการเป็นๆ หายๆ บ่อย โดยเฉพาะเมื่อเดินนานๆ ขณะนอนหลับ เป็นต้น

นอกจาก ไดเฟนไฮดรามีน แล้ว แพทย์อาจให้กินเวราพามิล 120 มก. ก่อนนอนทุกคืน ในรายที่เป็นตะคริวตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

การป้องกัน
1. ไม่ควรออกกำลังหรือใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป

2. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ก่อนออกกำลังกายควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

3. ควรกินผลไม้ เช่น กล้วย หรือส้ม เป็นประจำเพื่อป้องกันการขาดโพแทสเซียม หรือควรเสริมด้วยยาโพแทสเซียมคลอไรด์ในรายที่ใช้ยาขับปัสสาวะติดต่อกันนานๆ

4. ก่อนและระหว่างออกกำลังหรือทำงานในที่อากาศร้อน หรือมีเหงื่อออกมากควรดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ด้วย

5. ก่อนออกกำลังกายควรทำการบริหารยืดกล้ามเนื้อทุกครั้ง

6. ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายตอนกลางคืนในผู้ที่เป็นตะคริวตอนกลางคืน ควรทำการบริหารยืดกล้ามเนื้อก่อนนอน หรือขี่จักรยานนาน 2-3 นาที หรือกินยาป้องกันตามแพทย์สั่ง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า