สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ข้อเคล็ด/ข้อแพลง(Sprain)

พบได้บ่อยบริเวณข้อเท้า จากการเดินสะดุดหกล้ม ข้อเท้าพลิก หรือบิดงอ และยังอาจเกิดที่ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ และข้อนิ้วก็ได้ อาการเหล่านี้มักพบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ข้อเคล็ด

สาเหตุ
การหกล้ม ข้อบิด ถูกกระแทก หรือการยกของหนักอาจทำให้เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อที่ยึดอยู่รอบๆ ข้อต่อฉีกขาด

อาการ
หลังจากได้รับบาดเจ็บผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บที่ข้อทันที เมื่อใช้นิ้วกดหรือมีการเคลื่อนไหวก็จะเจ็บมากขึ้น ความรุนแรงของโรคมักขึ้นอยู่กับปริมาณของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่ามีอาการบวม แดง และร้อนของข้อ อาจพบรอยเขียวคล้ำหรือฟกช้ำจากหลอดเลือดฝอยแตกร่วมด้วย

การรักษา
1. เพื่อลดอาการบวมและปวด หลังได้รับบาดเจ็บ ควรประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที ในระยะ 48 ชั่วโมงแรก ให้ทำทุก 3-4 ชั่วโมง หลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้วเพื่อลดอาการอักเสบควรประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ ครั้งละ 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง และทานวดด้วยขี้ผึ้งน้ำมันระกำหรือยาหม่องแล้วใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดพันพอแน่น ยกข้อที่แพลงให้สูง หากข้อเท้าแพลงก็ใช้หมอนรองเท้าให้สูงเวลานอน ยกเท้าวางบนเก้าอี้อีกตัวหนึ่งเวลานั่ง ควรยกมือให้สูงกว่าระดับหัวใจโดยใช้ผ้าคล้องคอถ้าข้อมือแพลง และไม่ควรทำงานด้วยข้อมือข้างนั้นจนกว่าอาการจะทุเลา อาจกินเวลาหลายวันจึงจะค่อยๆ เคลื่อนไหวบริหารข้อนั้นให้คืนสู่สภาพปกติได้

2. กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล หรือทรามาดอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ถ้ามีอาการปวด

3. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากสงสัยว่ากระดูกหัก มีอาการปวดหรือบวมมาก หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ บางครั้งอาจแยกอาการข้อแพลงออกจากอาการกระดูกแตกหรือหักเล็กน้อยได้ยากอาจต้องเอกซเรย์เพื่อตรวจดูว่ากระดูกแตกหักหรือไม่ อาจต้องเข้าเฝือก หรือแก้ไขด้วยการผ่าตัดในรายที่ข้อแพลงรุนแรง

ข้อแนะนำ
ส่วนใหญ่อาการมักจะไม่รุนแรงในกรณีข้อเคล็ดข้อแพลง ภายใน 1-2 สัปดาห์อาการควรจะดีขึ้น และใน 3-4 สัปดาห์ก็ควรจะหายเป็นปกติแล้ว แต่อาจมีอาการบวมเป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นเวลา 2-3 เดือนได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยไม่ถูกต้อง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า