สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การฝึกคุมจิตเพื่อการผ่อนคลาย

การฝึกคุมจิต(Autogenic Training)
เป็นการตั้งจิตและรวมอำนาจสร้างสรรค์ให้กับการผ่อนคลายและการรับรู้ ซึ่งเป็นการทำสมาธิแบบง่ายๆ

จะช่วยส่งเสริมให้ร่างกายมีการผ่อนคลายอย่างลึกซึ้งจากการฝึกคุมจิตนี้ และทำให้การรับรู้หรือมีสติมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการค้นพบตัวเองและการจัดระเบียบให้กับตัวเอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อละทิ้งการตอบรับเหตุการณ์ในแบบ “สู้ หรือหนี” เสีย แล้วสร้างความสงบนิ่ง การผ่อนคลาย และการพักผ่อนให้เกิดขึ้นในร่างกาย

ลักษณะของการตอบรับแบบสู้หรือหนีนั้น ใช้เรียกการทำงานของระบบประสาทในยามที่ประสบปัญหา ซึ่งเหมือนกับมีอันตรายคุกคามจิตใจ ประสาทจะเกิดความเครียดและคิดว่าจะสู้ หรือหนีปัญหานั้น เช่น เมื่อเรามีความตกใจกลัวและต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วนอย่างเคร่งเครียดว่าจะสู้ หรือ หนี

ในทศวรรษที่ 1930 การฝึกจิตวิธีนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ชื่อโยฮันส์ ชูลส์(Johannes Schultz) โดยตอนริเริ่มนั้นเขาได้แรงบันดาลใจมาจากงานของ ออสการ์ วอกต์(Oscar Vogt) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกายวิภาคของสมองที่สถาบันชีวประสาทวิทยาของเบอร์ลิน วอกต์ได้สังเกตพบว่า ผู้ป่วยบางคนสามารถเข้าสู่ภาวะการสะกดจิตตัวเองได้ และทำให้ผู้ป่วยฟื้นไข้ได้เร็วขึ้นด้วย

การทดลองเทคนิคการสะกดจิตในแบบต่างๆ กับผู้ป่วยของวอกต์กับเพื่อนร่วมงานที่ชื่อ คอร์บิเนียน บรอดมานก็ได้เริ่มขึ้น ผลปรากฏว่า ผู้ที่มีอาการจากความเครียด เช่น ปวดศีรษะและเมื่อยกล้ามเนื้อจะหายจากอาการพวกนี้ลงไปมากเมื่อได้ใช้เทคนิคนี้เพียงวันละไม่กี่ครั้ง

ชูลส์เริ่มมีความสนใจการสะกดจิตเพื่อรักษาโรค และอยากจะพัฒนามาเป็นเครื่องมือไว้ใช้ช่วยตัวเองของผู้ป่วย โดยไม่ต้องอาศัยผู้บำบัด หรือผู้ชำนาญด้านการรักษาโรคด้วยการสะกดจิตโดยเฉพาะ

ชูลส์ได้นำเอาวิธีการทำสมาธิตามแบบของคนทางซีกโลกตะวันออกอย่างเช่น โยคะ และเซน เข้ามาประกอบเพื่อพัฒนาวิธีการฝึกจิตตัวเองให้เกิดการผ่อนคลายอย่างลึกซึ้ง กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเดียวกันกับคนที่อยู่ในภาวะถูกสะกดจิตแต่ยังรู้สึกตัวอยู่ ซึ่งต่างจากคนที่ตกอยู่ในห้วงภวังค์ของการสะกดจิตที่ในขณะนั้นจะไม่รู้สึกตัวเลย

ชูลส์กับลูกศิษย์ที่ชื่อ โวลฟ์กัง ลุธ ได้พัฒนาการฝึกคุมจิตขึ้น โดยอาศัยประโยคมาตรฐานที่ทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลายอย่างลึกซึ้ง ซึ่งบางประโยค เช่น “แขนขวาของฉันหนัก” “แขนซ้ายของฉันอบอุ่น” “หัวใจของฉันเต้นอย่างสม่ำเสมอ สงบ” เหล่านี้ก็เป็นประโยคมาตรฐานที่ใช้ในการสะกดจิตเหมือนกัน โดยที่ผู้ฝึกคุมจิตจะต้องกล่าวประโยคพวกนี้ซ้ำหลายๆ ครั้ง ในขณะที่เพ่งก็ให้เอาใจใส่กับร่างกายบริเวณที่พูดถึง และจะปิดท้ายการฝึกนี้ลงด้วยประโยคที่เป็นผลลัพธ์ว่า “ฉันรู้สึกกระชุ่มกระชวย”

สามารถนำการฝึกคุมจิตตามวิธีการนี้มาใช้สร้างอิทธิพลต่อการทำงานโดยอัตโนมัติของร่างกายได้ ทำให้เราสามารถควบคุมกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือจิตสำนึกได้ เช่น การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อุณหภูมิในร่างกาย และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก่อนเคยคิดกันว่าร่างกายของคนเรามีระบบควบคุมการทำงานที่อยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรงของเรา ซึ่งความเป็นจริงแล้วระบบการควบคุมการทำงานเหล่านี้จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ

กระบวนการฝึกจิตนี้ จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลลัพธ์ในด้านการขจัดความเครียดและความเหนื่อยอ่อนที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หากมีการประสานข้อดีที่ได้จากการทำสมาธิพร้อมกับโน้มน้าวตัวเองหรือคุมความคิดได้อย่างเหมาะสม

ความเครียดที่คั่งค้างอยู่ในร่างกายมานานเป็นปีๆ ยังสามารถขจัดออกไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิธีการนี้ได้ด้วย มีบ่อยครั้งที่บางคนเกิดพลังงานทางสรีระหรืออารมณ์ที่เก็บกดเอาไว้ถูกปล่อยออกมาจนทำให้มีความรู้สึกเจ็บปวดหรือกลัวขึ้นมาอย่างกะทันหันจนน่าตกใจ ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า “การระบายที่เกิดขึ้นมาเอง”
ไม่ว่าจะอยู่ในท่าใดก็สามารถที่จะฝึกการคุมจิตได้ รวมทั้งท่าที่นอนหงายสบายๆ อยู่บนที่นอน หรือบนเก้าอี้ที่นั่ง หรือเอนอยู่บนโซฟา การฝึกจิตจะใช้เวลาครั้งละ 20 นาที ควรทำเป็นประจำวันละ 2 ครั้ง คือในตอนเช้าและตอนค่ำ หรือเพื่อให้ได้ผลตามต้องการเฉพาะกิจเพื่อเพิ่มระดับพลังงานหรือทำให้จิตใจสงบลงก็อาจจะใช้เวลาสักไม่กี่นาทีในช่วงกลางวันด้วยก็ได้

เคยมีการบันทึกไว้อย่างมีหลักเกณฑ์ทางวิชาการตอนที่ได้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดกับผู้ป่วย ผลลัพธ์ที่ได้โดยผ่านการฝึกจิตนี้มีประสิทธิภาพในการบำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน เบาหวาน ไซนัส ความผิดปกติในเรื่องเพศและปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย และได้นำมาใช้บำบัดรักษาความผิดปกติทางจิตที่ทำให้เกิดปัญหาทางกายขึ้นด้วย สามารถช่วยปรับปรุงฝีไม้ลายมือของนักกีฬาให้ดีขึ้น ช่วยให้ผลการเรียนของนักศึกษาดีขึ้น รวมทั้งกำจัดนิสัยอย่างเช่น การติดบุหรี่ เหล้า และการรับประทานอาหารที่มากเกินควรให้หมดไป

โวลฟ์กัง ลุธ ได้เป็นบรรณาธิการจัดทำหนังสือตำราขึ้นมาชุดหนึ่งในตอนปลายทศวรรษที่ 1960 มีชื่อว่า Autogenic Therapy ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 เล่ม โดยหนังสือชุดนี้ได้สรุปการวิจัยและระเบียบวิธีการฝึกคุมจิต ซึ่งได้ดำเนินการและพัฒนามาเป็นเวลาหลายปี ผลงานหนังสือชุดที่ได้รับการยกย่องนี้ ได้ยกระดับการฝึกคุมจิตให้ขึ้นไปถึงระดับที่อยู่ในฐานะของวิธีการบำบัดรักษาโรคที่เป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศ

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ ชูลส์ และลุธ ได้ร่วมกันเขียนขึ้นมา มีชื่อเรื่องว่า Autogenic Training: A Psychophysiologic Approach to Psychotherapy ซึ่งในปี ค.ศ.1959 ก็ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา

เกี่ยวกับการฝึกคุมจิต สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากคณะกรรมการเพื่อการฝึกคุมจิตนานาชาติในประเทศอังกฤษ ตามที่อยู่ดังนี้
International Committee for Autogenic Training,
101 Harley Street,
London, W1 N1 DF,
England.

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า