สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นกลางชนิด Persuasion and Re-education

จิตบำบัดชั้นกลางชนิดที่สี่ เรียกว่า Persuasion and Re-education
หมายถึงการชักชวน แนะนำและให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคนไข้ จิตบำบัดชนิดนี้ ใช้ความเฉลียวฉลาดหรือ Intelligence ของคนไข้เป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษา ในทางปฏิบัตินั้น สมมติว่าคนไข้เป็นคนเฉลียวฉลาด มีเหตุมีผล เคารพตนเองมีความรบผิดชอบ แต่ มีความคิดหรือทัศนคติ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้รักษาก็จะใช้เหตุผล และ “บรรยากาศของการรักษา” ชักจูงและชี้แจงให้คนไข้เข้าใจตนเอง โดยอาศัยความเฉลียวฉลาดของคนไข้เป็นเครื่องมือ และทำในระดับที่คนไข้ “รู้สึกตัว” หรือ Conscious ถ้าความประพฤติและทัศนคติที่ไม่ถูกต้องนี้อยู่ในระดับที่ “ไม่รู้สึกตัว” หรือ Unconscious แล้ว จะต้องใช้การทำ จิตบำบัดชั้นสูงจึงจะได้ผล

จากประสบการณ์เราพบว่า การรักษาชนิดนี้ใช้ได้ผลในคนไข้จำนวนไม่มาก ทั้งนี้ ก็เพราะว่าความเฉลียวฉลาดเป็นเครื่องมือที่ไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพในการรักษาเท่าใดนัก จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์พบว่า ถ้ามนุษย์ต้องเลือกพฤติกรรมระหว่างการกระทำตามอารมณ์ กับการใช้เหตุผลแล้ว มนุษย์ส่วนมากมักจะมีพฤติกรรมตามอารมณ์ มากกว่าการใช้เหตุผล นอกจากนี้มนุษย์เรายังใช้ความฉลาดและเหตุผล เป็นเครื่องมือของการใช้อารมณ์ด้วย ซึ่งเรียกว่า Rationalization หมายถึงการใช้เหตุผลเข้าข้างการกระทำตามอารมณ์ของเราเอง

แต่อย่างไรก็ตาม จิตบำบัดชนิดนี้ ก็ยังใช้ได้ผลตามสมควรในกรณีต่อไปนี้ ผู้ป่วยโรคประสาทที่มีอาการไม่มากนักและผู้ป่วยที่มีบุคลิกภาพแปรปรวน แต่เป็นคนเฉลียวฉลาด และพอเชื่อถือได้ จิตบำบัดชนิดนี้จะใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยโรคจิต ผู้ป่วยโรคประสาทที่มีอาการ รุนแรง และผู้ป่วยที่มีบุคลิกภาพแบบอันธพาล

หลักของการทำ Persuasion คือ การทำให้คนไข้เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงตามสติปัญญาของเขา ตัวอย่างเช่น ชี้แจงให้คนไข้เข้าใจว่า อาการของโรคประสาทที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคทางกาย อาการที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากอารมณ์และจิตใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยมีท่าทีและทัศนคติไม่ถูกต้อง รวมทั้งภาวะตึงเครียดทางอารมณ์ด้วย ในการชี้แจงและอธิบายนี้ ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป มิฉะนั้น จะเกิดการโต้เถียงกับคนไข้ เราพบเสมอว่า การโต้เถียงมักจะเกิดขึ้น เนื่องจากผู้รักษาเร่งรัด หรือใจร้อนเกินไปก่อนที่ผู้ป่วยจะพร้อมที่จะเข้าใจ

จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ Persuasion จะได้ผลหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำอธิบายอย่างเดียว แต่ว่าขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้รักษา กับคนไข้ด้วย ในกรณีที่การรักษาได้ผลดีนั้น ถ้าต่อมาความสัมพันธ์นี้เสื่อมทรามลง อาการของโรคก็มักจะกลับคืนมาอีก ในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มากและไม่มีปัญหาทางจิตใจที่สลับซับซ้อนเกินไป แม้ความสัมพันธ์จะเสื่อมทรามลง ผู้ป่วยก็ยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ โดยไม่มีอาการกำเริบอีก

Re-education หมายถึงการสอนให้คนไข้ได้รับความรู้ใหม่ที่ถูกต้อง (ซึ่งความจริงก็คล้ายคลึงกับ Persuasion และจิตบำบัดชนิดอื่นๆ เพราะว่าจิตบำบัดชนิดนี้และชั้นกลางทุกชนิด มีการเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กันเสมอ การที่แยกเป็นหัวข้อ ก็เพื่อให้ง่ายแก่การอธิบายเท่านั้น) ในการทำจิตบำบัดชนิดนี้เราถือหลักว่า ผู้รักษามีความรู้ ประสบการณ์ มองเห็นการณ์ไกล และเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ได้ดีกว่าคนไข้ เพราะฉะนั้น ผู้รักษาจึงทำกันเสมือนเป็นครูอาจารย์ของคนไข้ ชี้แจงให้คนไข้เข้าใจในสิ่งที่ถูกที่ควร

ในทางปฏิบัติ ผู้เขียนนิยมใช้หลักธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นแนวทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัปปุริสธรรม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. รู้จักเหตุหรือสาเหตุ ผู้เขียนมักจะอธิบายสาเหตุ โดยใช้หลักธรรมประยุกต์ กับความรู้ทางทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ชี้ให้คนไข้เห็นว่า การที่เขาป่วย การมีพฤติกรรมต่าง ๆ นั้น เนื่องมาจากอะไร ตัวอย่างเช่น
เนื่องมาจากการขาดความยืดหยุ่น ขาดความรับผิดชอบ หวาดกลัวเกินกว่าเหตุ ตามใจตัวเองมากเกินไป เลือกที่รักมักที่ชังมากเกินไป กระทำตามอารมณ์โดยไม่ใช้เหตุผล ฯลฯ ในการอธิบายอย่างนี้ ผู้เขียนจะกระทำในสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้เท่านั้น คือ ในระดับ Conscious ส่วนสาเหตุจากสิ่งที่ผู้ป่วย “ไม่รู้สึกตัว” หรือ Unconscious ต้องใช้การทำจิตบำบัดชั้นสูง

2. รู้จักผล คือ อธิบายถึงผลที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคนไข้ และใช้หลักเดียวกัน คือ อธิบายในสิ่งที่คนไข้สามารถที่จะเข้าใจได้ ในระดับที่รู้สึกตัว

3.  รู้จักตน ข้อนี้เพ่งเล็งถึง Ego Functions รวมทั้ง Defenses ต่างๆ เช่น ความสามารถในการปรับตัว เรียนรู้ เข้าใจสภาวการณ์ต่างๆ ตาม Reality Principle วิธีการที่คนไข้ใช้แก้ปัญหา ฯลฯ สิ่งที่สำคัญอีกสองประการ คือ อธิบายให้คนไข้ทราบถึง “จุดอ่อน” และ “จุดเด่น” ของตน เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัว และเสริมสร้างความภาคภูมิใจ (self-esteem) ให้แก่ตน ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นคนโกรธง่าย โมโหง่าย ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ ที่จะทำให้เกิดอารมณ์ดังกล่าวให้มากที่สุด ถ้าเป็นคนหูเบา อ่อนไหวง่าย ถูกชัก-จูงง่าย ก็ให้หาเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ถ้าเป็นคนมีพรสวรรค์ในเรื่องดนตรี กีฬา ฯลฯ ก็ แนะนำให้เล่นดนตรี กีฬา ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง เป็นต้น

4.  รู้จักกาล หมายถึง รู้จักกาลเทศะ เวลาไหนควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร ฯลฯ ซึ่งในผู้ป่วยโรคจิต เด็กวัยรุ่น นิสิต นักศึกษา ผู้มีสติปัญญาน้อย ผู้ป่วยโรคประสาทบางชนิด ฯลฯ ต้องการเรียนรู้จากผู้รักษามาก เพื่อใช้ในการปรับตัว และกระทำพฤติกรรมที่เหมาะสมถูกต้อง ฯลฯ

5. รู้จักประมาณตน ข้อนี้ก็คล้ายๆ กับข้อ 4 แต่เพ่งเล็งในแง่ความพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ตามความสามารถของเรา ไม่ทะเยอทะยานเกินความสามารถของตน

6. รู้จักบริษัท หมายความว่า ให้รู้ว่าหมู่คณะไหนควรปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นนักศึกษาควรจะปฏิบัติตนต่อเพื่อนนักศึกษาอย่างไร จะปฏิบัติตนต่อคณะครูอาจารย์อย่างไร ปฏิบัติต่อชาวกรุงเทพมหานครอย่างไร ปฏิบัติต่อคนในชนบทที่ตนเองต้องออกไปร่วมงานพัฒนาอย่างไร ฯลฯ

7. รู้จักบุคคล ข้อนี้ก็คล้ายกับข้อที่ 6 แต่เพ่งเล็งเฉพาะเป็นคนๆ ไป คือ แยกจากหมู่คณะซึ่งเป็นส่วนรวม

คำแนะนำทั้ง 7 ข้อนี้ เป็นเรื่องสัปปุริสธรรมในพระพุทธศาสนา ผู้เขียนเคยเรียนให้ทราบแล้วว่าการจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องช่วยเหลือในการทำจิตบำบัดนั้น ทำได้เฉพาะคนไข้ 2 จำพวก คือ พวกที่มีศรัทธาและพวกที่มีปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะใช้สัปปุริสธรรมในคนไข้ที่ไม่มีศรัทธาและปัญญาจะได้ผลหรือ? คำตอบก็คือได้ผล! ถ้าเราใช้แบบประยุกต์ คือ ใช้ หลักสัปปุริสธรรมโดยไม่ออกชื่อ อธิบายโดยใช้ภาษาธรรมดา ใช้เหตุใช้ผลและข้อเท็จจริงประกอบ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องสร้างมนุษยสัมพันธ์กับคนไข้ให้ได้ก่อน ถ้าทำได้ก็ใช้ได้ผล ถ้าทำไม่ได้ก็ล้มเหลว

การใช้ศาสนาหรือหลักธรรมเป็นเครื่องช่วยในการทำจิตบำบัด ในผู้ป่วยที่ไม่ศรัทธา หรือไม่มีปัญญาซึ่งล้มเหลวหรือไม่ได้ผลนั้น ผู้เขียนหมายถึงการนำศาสนา หรือหลักธรรมมาใช้ “โดยไม่มีการประยุกต์” ตัวอย่างเช่น แนะนำให้ไปวัดเพื่อฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะประพฤติปฏิบัติธรรมโดยตรง เช่น ทำบุญรักษาศีล การทำวิปัสสนากรรมฐาน ฯลฯ แต่ถ้านำมาประยุกต์โดยไม่ให้คนไข้รู้สึกตัวแล้ว นับว่าได้ผลดีตามสมควร

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า