สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

OCCUPATIONAL DISEASES

วัตถุประสงค์   เพื่อให้ทราบถึง
-ความหมายของ Occupational Diseases และตัวอย่างของโรค
-ความสำคัญของ Occupational Diseases ในงาน Public Health -การป้องกัน Occupational Diseases และบทบาทของนักวิชาการสาธารณสุข
-ระบบบริการทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับ Occupational Diseases

Occupational Diseases
-Occupational Diseases หรือโรคจากอาชีพ เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการทำอาชีพในผู้ปฏิบัติ อันสืบเนื่องมาจากปัจจัยสัมผัสในระบบของอาชีพนั้นๆ โดยมีอาชีพเป็นปัจจัยหลักหรือปัจจัยเดียวที่ทำให้ เกิดโรคนั้น จึงมักจะได้ชื่อตามชื่ออาชีพนั้นๆ เช่นโรคปอดชาวนา (Farmers’ lung disease) โรคนิวโมโคนิโอซิสผู้ทำถ่านหิน (Coal Workers’ Pneumoconiosis หรือ CWP) โรคคนเพาะเลี้ยงนก (Bird breeders’ disease) และโรคอื่นๆ อีกมาก ต่อมาพบว่าผู้ทำงานในระยะหลังๆ ต้องป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป เนื่องจากปัจจัยสัมผัสต่างกันออกไป และในผู้ทำอาชีพเดียวอาจพบได้มากกว่า 1 กลุ่มโรค จึงได้มีการจำแนกโรคจากอาชีพเป็นกลุ่มโรคจากอาชีพต่างๆ กัน ได้แก่ กลุ่ม

1. โรคสารพิษจากอาชีพ (Occupational Toxic Chemical Diaease)
2. โรคปอดอักเสบจากอาชีพ (Occupational Lung Diseases)
รวมถึง โรคปอดอักเสบจากฝุ่นในอาชีพ (Occupational Pneumoconiosis)
3. โรคมะเร็งจากอาชีพ (Occupational Cancer)
4 . โรคเออร์โกโนมิคส์จากอาชีพ (Occupational Ergonomics Diseases)
5. การบาด เจ็บจากอาชีพ (Occupational Injuries)
6. โรคทางจิตเวชจากอาชีพ (Occupational Psychiatric diseases)
7. โรคติดเชื้อจากอาชีพ (Occupational Infectious Disease)
8. กลุ่มอื่นๆ

และองค์การอนามัยโลกได้ให้ขยายความครอบคลุมของโรคให้กว้างมากขึ้น โดยเรียกว่า โรคจากการทำงาน (Work Related Diseases) ซึ่งมีทั้ง Occupational Diseases, Work related  diseases และ Work aggravated diseases ทั้งนี้ เนื่องจากในระบบของอาชีพหนึ่งๆ จะมีงานหลายประเภท นอกจากนั้น ยังมีการจำแนกโรคจากการทำงานตามปัจจัยก่อโรค ซึ่งแบ่งใหญ่ๆ ได้ 4 ประการคือ
1. โรคจากปัจจัยทางเคมี
2. โรคจากปัจจัยทางชีวภาพ
3. โรคจากปัจจัยทางกายภาพ
4. โรคจากปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา

ความสำคัญของ Occupational Diseases ในงาน Public Health
โรคจากอาชีพมีความสำคัญต่อปัญหาสาธารณสุขและเศรษฐกิจของสังคมมาก เนื่องจากเกิดขึ้นกับบุคคลที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งมีบทบาทต่อการพัฒนาครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ทำให้บุคคลมีปัญหาทั้งคุณภาพชีวิต และคุณภาพการทำงาน ในประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับโรคในกลุ่มนี้มาก

ในทางสาธารณสุข โรคจากอาชีพ เป็นโรคที่มนุษย์ทำขึ้น เป็น Manmade Diseases จึงสามารถป้องกันได้ มิใช่โรคที่เกิดจากธรรมชาติ จึงสามารถมีทิศทางในการควบคุมโรคในกลุ่มนี้ได้ชัดเจนกว่าโรคในกลุ่มอื่น การดำเนินงานทางสาธารณสุข เพื่อการป้องกันโรคจากอาชีพ จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ชัดเจน และมีความคุ้มค่า ในทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เป็นอย่างยิ่ง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีโครงการทางสาธารณสุข เพื่อการป้องกันโรคจากอาชีพในระดับปฐมภูมิเป็นส่วนใหญ่ โดยการเน้นการควบคุมปัจจัยอันตราย และปัจจัยก่อพิษทั้งหลายในการทำอาชีพต่างๆ ให้มากที่สุด

และเช่นกัน เนื่องจากโรคจากอาชีพจะเกิด เป็น cluster ถ้าเกิดรายหนึ่งแล้ว จะมีโอกาสพบเป็นกลุ่มได้สูงหรือเกิดการระบาดได้มาก ในที่นี้งานสาธารณสุขเกี่ยวกับการป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง

เมื่อพิจารณาในขอบเขตของชุมชน สังคม และประเทศชาติแล้ว โรคจากอาชีพ เป็นโรคที่มีอัตราเกิดสูง และมีความชุกชุมมา โดยเฉพาะในระยะที่ประเทศ หรือสังคมกำลังเร่งรัดพัฒนา และยังให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันโรคจากอาชีพไม่มาก

โรคจากอาชีพ สามารถทำการเฝ้าระวัง และควบคุมการเกิดในพื้นที่ได้ง่าย สามารถค้นพบโรคในระยะแรกได้ง่าย จึงสามารถทำการป้องกันระยะที่ 2 ได้ดีด้วย

การป้องกัน Occupational Diseases และบทบาทของนักวิชาการสาธารณสุข
ด้วยโรคจากอาชีพ เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เรื้อรัง รุนแรง ไม่ค่อยกลับคืนได้ง่าย แต่ป้องกันได้ ( Chronic .Severe, IrriversibIe but Preventable) การป้องกันจึงเป็นหัวใจของการดำเนินงานสาธารณสุขในเรื่องนี้ ซึ่งใช้หลักการป้องกันโรคทั่วไป ประยุกต์เข้ากับวิชาการสาธารณสุขสาขาต่างๆ ในแบบ multidisiplinary ซึ่งเป็นบทบาทของนักวิชาการสาธารณสุขทุกสาขา ได้แก่ พยาบาล นักสุขศึกษา นักจิตวิทยา แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ นักสุขาภิบาล ไม่เฉพาะ เป็นเพียงบทบาทของนักวิชาการอาชีวอนามัย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ และอื่นๆ เท่านั้น หลักการป้องกันโรคจากอาชีพที่สำคัญจำแนกตามลักษณะการได้รับปัจจัยก่อโรคได้ 3 ประการใหญ่ คือ

1. การป้องกันที่แหล่งมลภาวะ หรือปัจจัยก่อโรค (Source)
2. การป้องกันที่ทางผ่าน (Path)
3. การป้องกันที่ตัวบุคคล (Recievers)

ในจำนวนดังกล่าว การป้องกันที่แหล่งเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการป้องกันระดับที่ 1 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในระดับต่างๆ ได้แก่

1. การไม่ก่อมลภาวะ หรือสร้างมลภาวะให้น้อยที่สุดในกระบวนการผลิต และกระบวนการทำงานอาชีพ
2. การปิดคลุมแหล่งก่อมลภาวะ และกำจัดต่อไปอย่างถูกต้อง
3. การปิดคุมตัวคนให้พ้นจากแหล่งมลภาวะ
4. การกำจัด และจัดเก็บอย่างถูกต้อง
5. การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling)

ระบบการบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับ Occupational Diseases
ในระบบบริการสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับโรคจากอาชีพ ประกอบไปด้วยการดำเนินงานสาธารณสุขในทุกระดับ เป็นการดำเนินงานทั้งเมื่อยังไม่มีการป่วย ซึ่งได้แก่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการดำเนินงานเมื่อป่วยและพิการแล้ว ได้แก่การให้การรักษาพยาบาล และการพื้นฟูสมรรถภาพ ในประเทศไทย การดำ เนินงานจัดบริการสาธารสุขของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในแผนงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และแผนงานอาชีวอนมัย มีหน่วยงานสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคที่ เกี่ยวข้องได้แก่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัด อำเภอ และตำบล โรงพยาบาลทุกระดับ และสถานีอนามัยหลายพื้นที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งและดำเนินการ มีองค์ประกอบของงานที่แตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย

-งานเฝ้าระวังโรคจากอาชีพ และการทำงาน ที่พบมาก ได้แก่ การเฝ้าระวังโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช โรคซิลิโคซิส โรคพิษตะกั่ว และโรคอื่นๆ ตามพื้นที่
-งานป้องกันและควบคุมโรคจากอาชีพ
-งานส่งเสริมสุขภาพ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ทำอาชีพมีสุขภาพที่ดี
-งานรักษาพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่ที่ดำเนินการได้แก่บริการในคลีนิคอาชีวเวชศาสตร์ มีบริการทั้งการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน (Preplacement Medical Examination) การตรวจขณะประจำการ อย่างสมํ่าเสมอ (Per iodic Medical Examination) และการตรวจหลังป่วยก่อนกลับเข้าประจำการใหม่ (Post illness Medical Exanination)
-งานพื้นฟูสมรรถภาพหลังการป่วยด้วยโรคจากอาชีพ
-งานวิจัยโรคจากอาชีพในพื้นที่ เพื่อการกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้อง
-งานศูนย์ข้อมูลอาชีวเวชศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสารพิษของจังหวัด
-งานอื่นๆ ตามความเหมาะสม

สำหรับหน่วยงานในภาคเอกชน จะมีการดำเนินงานในเรื่องโรคจากอาชีพส่วนใหญ่เมื่อมีการป่วย หรือบาดเจ็บแล้ว เป็นบริการด้านการรักษา การปฐมพยาบาล การส่งต่อ และการให้ความรู้ สำหรับบางหน่วยงานจะมีการดำเนินงานในเบื้องต้นด้านอื่นๆ บาง ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบาย และความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน

ที่มา:แพทย์หญิงอรพรรณ์   เมธาดิลกกุล
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า