สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ANTISEPTIC, DISINFECTANT, STERILIZATION

วิธีการกำจัดเชื้อ ป้องกันการติดเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ เป็นเรื่องที่ได้ปฏิบัติกันมานานนับเป็นศตวรรษ ก่อนที่จะมีความรู้ในวิชาจุลชีววิทยา หรือกล่าวได้ว่าก่อนที่ Pasteur กับ Koch พบจุลชีพก่อโรค ตามที่ได้มีบันทึกไวในปี ค.ศ. 1825 มีผู้ใช้ chlorinated soda รักษา แผลเน่าเปื่อยโดยมีจุดมุ่งหมายกำจัดกลิ่น, Sommelweis แนะนำให้ใช้นํ้ายา chlorinated lime ล้างมือก่อนตรวจผู้ป่วยสูติ-นรีเวช ซึ่งมีผลทำให้โรค puerperal fever มีอัตราลดลง, Lister (ค.ศ. 1867) ได้นำ phenol  มาใช้ในทางศัลยกรรม โดยใช้ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วย, มือของศัลยแพทย์, เครื่องมือ และบริเวณต่างๆ ในห้องผ่าตัด, สำหรับแอลกอฮอล์ (ค.ศ. 1881) รายงานว่าไม่สามารถทำลายสปอร์ของแบคทีเรียได้ ทำให้ความสนใจในการที่จะนำแอลกอฮอล์มาใช้หยุดไประยะหนึ่งจนถึงปี ค.ศ. 1912 Beyer พบว่า แอลกอฮอล์ 70% สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย โดยทั่วไปได้ผลดี

ตามที่กล่าวนี้เป็นประวัติสั้นๆ เกี่ยวกับการใช้ antiseptic -disinfectant ในวงการแพทย์ ในปัจจุบันได้มีผู้วิจัยพบสารต่างๆ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น antiseptic-disinfectant อีกเป็นจำนวนมากรวมทั้งวิธีการต่างๆ ในการทำให้ปราศจากเชื้อ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ควรมีความรู้ความเข้าใจในการที่จะนำสารและวิธีการต่างๆ มาใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมในการป้องกันการติดเชื้อ

ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของ antiseptic-disinfectant แต่ละชนิด ยังมีข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่ควรจะรู้อีกหลายประการ คือ

1. คำจำกัดความ   ศัพท์ที่ใช้บ่อยๆ มีคำจำกัดความดังต่อไปนี้
sterilization-ขบวนการที่จะทำให้เกิดภาวะไร้จุลชีพที่มีชีวิต และสปอร์
sterile-ภาวะปราศจากสิ่งที่มีชีวิดทุกชนิด
disinfection-ขบวนการทำลายจุลชีพให้ลดลงถึงระดับที่จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่สปอร์อาจจะไม่ถูกทำลายได้
disinfectant-เป็นสารเคมีที่ใช้ใน disinfection
antisepsis    -ขบวนการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ จนไม่สามารถก่อโรคในเนื้อเยื่อที่มีชีวิตได้
antiseptic    – สารเคมีที่ใช้ใน antisepsis
bactericide-สารเคมีที่สามารถฆ่าแบคทีเรีย แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์
bacteriostat-สารเคมีที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
bacteriostasis-ภาวะที่การแบ่งตัวของแบคทีเรียถูกยับยั้ง
fungicide-สารเคมีที่สามารถทำลายเชื้อรา และสปอร์ของเชื้อรา
fungistat-สารเคมีที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา
fungistasis-ภาวะที่การแบ่งตัวของเชื้อราถูกยับยั้ง
germicide    -สารเคมีที่ใช้ทำลายจุลชีพซึ่งจะรวมถึง bactericide และ fungicide
sporocide    -สารเคมีที่ใช้ทำลายสปอร์ของแบคทีเรีย
virucide-สารเคมีที่ใช้ทำลายเชื้อไวรัส
sanitation-ขบวนการในการที่จะทำความสะอาด และลดจำนวนจุลชีพที่ติดอยู่ตามภาชนะและเครื่องมือที่ใช้เกี่ยวข้องกับอาหาร
sanitiser-สารเคมีที่ใช้ใน sanitisation
sterilizer-เครื่องมือที่ใช้ในขบวนการ sterilization เช่น autoclave หรือ
hot-air oven
sterilant-ของเหลวหรือก๊าซที่ใช้ในขบวนการ sterilization
incineration-การทำลาย infected material โดยใช้เตาเผา

2. Antimicrobial Activity

2.1 กลไกการออกฤทธิ์ พอสรุปได้เป็น 2 แบบ คือ (1) ทำให้สารโปรทีนในเซลล์แข็งตัว ซึ่งมีผลให้การทำงานของเอ็นซัยม์ต่างๆ เสียไป และ (2) ทำลายผนังเซลล์และเซลล์เมมเบรน ทำให้เสียการควบคุมการผ่านเข้าออกของสารต่างๆ ที่จำเป็นในการมีชีวิตของเซลล์ อย่างไรก็ตามยังมีสารเคมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่สามารถอธิบายกลไกออกฤทธิ์ได้

2.2 antimicrobial spectra อำนาจการทำลายเชื้อของ antiseptic-disinfectant มีไม่เท่ากัน เช่น บางชนิดทำลายได้เฉพาะแบคทีเรียกรัมบวกเท่านั้น, บางชนิดทำลายได้ทั้งแบคทีเรียกรัมบวก และกรัมลบ แต่ทำลายเชื้อวัณโรคไม่ได้ หรือไม่สามารถทำลายสปอร์, เชื้อไวรัสหรือปาราสิตได้

2.3 germicidal kinetic
การที่จะนำ antiseptic-disinfectant มาใช้จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถในการทำลายเชื้อด้วย คือ ความเข้มข้น, ระยะเวลา, อุณหภูมิ, pH และสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้กระบวนการออกฤทธิ์ช้าลง เช่น สารอินทรีย์ (เลือด, หนอง, ซีรั่ม ฯลฯ) detergent บางชนิด, หรือกับนํ้ากระด้างที่มีเกลือแคลเซี่ยม เป็นต้น

3. คุณสมบัติที่ต้องการ
antiseptic และ disinfectant ที่ดีควรจะมีคุณสมบัติดังนี้
1. มีประสิทธิภาพสูงและทำลายจุลชีพได้หลายชนิด
2. ออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว
3. เมื่อเจือจางในความเข้มข้นที่ต้องการจะมี stability ได้นาน และเป็นสารที่ละลาย หรือผสมกับนํ้าได้ง่าย
4. ไม่เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย
5. ไม่ทำปฏิกิริยากับสิ่งของต่างๆ เช่น เครื่องมือ, ผ้าและของใช้ต่างๆ
6. สามารถแทรกซึมเข้าไปในที่ต่างๆ ได้ง่าย
7. ไม่เสื่อมฤทธิ์เมื่อถูกกับสารอินทรีย์
8. ไม่มีสี-กลิ่นอันไม่พึงประสงค์
9. ราคาถูก

Antiseptic และ disinfectant แบ่งออกเป็นกลุ่มตามคุณสมบัติทางเคมีดังต่อไปนี้
1. acid
2. alcohol
3. aldehyde
4. amidine
5. ampholytic surfactant
6. cationic surfactants
7. chlorhexidine and other diguanide
8. dye
9. gaseous disinfectants
10. halogen
11. metal
12. peroxide and permanganate
13. phenol
14. quinoline derivative

ในทางปฏิบัติเราจะใช้ antiseptic และ disinfectant ในโรงพยาบาลเพียงบางชนิดเท่านั้น ดังนั้นจะอธิบายรายละเอียดเฉพาะชนิดที่กำลังใช้อยู่เป็นประจำในขณะนี้ สำหรับชนิดอื่นๆ จะกล่าวถึงชื่อและคุณสมบัติบางประการเท่านั้น

1. Acid
กรดอนินทรีย์ทำลายจุลชีพโดยความเข้มข้นของไฮโดรเจน ไอออน และมีฤทธิ์กัดกร่อนค่อนข้างมาก ส่วนกรดอินทรีย์ทำลายจุลชีพโดยอาศัยสารทั้งโมเลกุลเป็นสำคัญ

acetic acid ความเข้มข้นร้อยละ 5 ทำลายจุลชีพได้หลายชนิด ทั้งเชื้อราแคนดิดาและ Pseudomonas aeruginosa ถ้าใช้ความเข้มข้นต่ำกว่านี้จะมีฤทธิ์เพียงยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ สารละลายความเข้มข้นร้อยละ 1 สามารถใช้ทำแผลผ่าตัดได้และกำจัดจุลชีพใน
dialyser และ inhalation-therapy equipment

boric acid และ sodium borax   มีที่ใช้น้อย เคยนำมาใช้ล้างโพรงต่างๆ ในร่างกาย แต่มีพิษ เพราะดูดซึมได้ ปัจจุบันใช้ผสมในยาล้างตา, นำล้างปากหรือกลั้วลำคอ สารนี้มีฤทธิ์อ่อนในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา

peracetic acid  ใช้ความเข้มข้นร้อยละ 0.2 ในการล้างมือศัลยแพทย์และในรูปของสเปรย์เพื่อลดจุลชีพในบรรยากาศ

2. แอลกอฮอล์ ในรูปของ ethyl, isopropyl, benzyl และ phenethyl alcohol สามารถฆ่าแบคทีเรียและเชื้อราได้ ยกเว้นในภาวะมีสปอร์ นอกจากจะเติมกรดอินทรีย์บางชนิดลงไป แอลกอฮอล์ทำให้สารโปรทีนแข็งตัวและทำลายเซลล์เมมเบรน แอลกอฮอล์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. Ethyl alcohol ในความเข้มข้นร้อยละ 70 ในนํ้าทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ดีที่สุด การฆ่าเชื้อใช้เวลาอย่างรวดเร็ว เมื่อเช็ดถูแล้วพอระเหยแห้งเชื้อจะตายหมด (ยกเว้นเชื้อวัณโรค ต้องใช้เวลานานถึง 10 นาที)

การนำไปใช้ ใช้ราดถูมือภายหลังทำการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เช็ดผิวหนังก่อนฉีดยาหรือให้สารนํ้าเข้าหลอดเลือดในกรณีที่แพ้ไอโอดีน

ethyl alcohol ผสมกับสารอื่นจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อยิ่งขึ้น เช่นผสมกับไอโอดีนเป็นทิงเจอร์ไอโอดีน 2.5%, chlorhexidine 0.5% ในแอลกอฮอล์ 70% ฯลฯ

2. Isopropyl  alcohol มีฤทธิ์ดีกว่า ethyl alcohol เล็กน้อย สามารถนำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน ความเข้มข้นที่ใช้ร้อยละ 95-99 ในนํ้า

3. Benzyl alcohol  มีฤทธิ์เพียงยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

4. Phenethyl alcohol ส่วนมากนำไปใช้เป็น preservative

3. Aldehyde สารสำคัญในกลุ่มนี้มี 2 ชนิด คือ formaldehyde และ glutaraldehyde ซึ่งใช้ทั้งใน disinfection และ sterilization ในรูปของของเหลวและไอระเหย

formaldehyde  ที่วางขายในท้องตลาดมีความเข้มข้นร้อยละ 34-38 โดยมีเมธิลแอลกอฮอล์ผสมอยู่เพื่อป้องกัน polymerisation ของฟอร์มาลดีไฮด์ สารนี้มีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย, เชื้อรา, ไวรัส และสปอร์ แต่มีฤทธิ์แทรกซึมต่ำ ฟอร์มาลดีไฮด์ออกฤทธิ์ทำลายผนังเซลล์ของจุลชีพและโปรทีน ประสิทธิภาพในการทำลายจะเพิ่มขึ้นตามที่อุณหภูมิสูงขึ้น แต่จะลดลงถ้ามีสารอินทรีย์เช่น โปรทีนปนอยู่ด้วย ใช้ในรูปของสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ความเข้มข้นร้อยละ 1-2 ในนํ้าหรือแอลกอฮอล์ เพื่อทำความสะอาดเครื่องมือของโรงพยาบาล และ dialysis equipment; ความเข้มข้นร้อยละ 8 ในแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 70 ใช้ทำความสะอาดเครื่องมือที่ทนความร้อนสูงไม่ได้ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นไอระเหยทำลายจุลชีพในอากาศ

สิ่งไม่พึงประสงค์ของฟอร์มาลดีไฮด์ คือ กลิ่นและไอระเหยทำให้แสบตา

glutaraldehyde   มีขอบข่ายในการทำลายจุลชีพเหมือนฟอร์มาลดีไฮด์ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด อยู่ในรูปของกรดซึ่งจะทำให้สารนี้คงตัวดีมาก แต่ก่อนใช้จะทำให้ pH อยู่ระหว่าง 7.5-8.5 ด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่ง glutaraldehyde จะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ใช้ในรูปของสารละลาย ความเข้มข้นร้อยละ 2 ที่ pH 7.5-8.5; สารนี้ไม่กัดโลหะ, ยาง หรือ
พลาสติค จึงใช้กับเครื่องมือหลายชนิดที่ทนความร้อนสูงไม่ได้ เวลาที่ใช้นาน 15-30 นาที ใน disinfection แต่ใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง ใน sterilization

paraformaldehyde  ใช้เป็นก๊าซ สำหรับทำความสะอาดห้องและเครื่องมือ

noxythiolin และ polynoxylin  ออกฤทธิ์โดยปล่อยฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาใช้เป็นยากำจัดจุลชีพเฉพาะที่ เช่น ที่ผิวหนัง, ลำคอ และในกระเพาะปัสสาวะ

4. Amidine  ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ ได้แก่ dibromopropamide และ propamidine ใช้ทำเป็นครีมทารักษาโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง ปัจจุบันมีที่ใช้น้อย

5. Ampholytic surfactant  เป็นสารจำพวกกรดอมิโน เช่น dodicine hydrochloride ความเข้มข้นร้อยละ 1 ใช้รักษาโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือทำความสะอาดเครื่องมือ

6. Cationic surfactant ได้แก่สารพวก quarternary ammonium compound หรือ pyridinium compound มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตหรือฆ่าเชื้อขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและ pH ที่เหมาะสม (7-8) ไม่สามารถทำลายสปอร์ของแบคทีเรีย, เชื้อวัณโรค, เชื้อรา สำหรับเชื้อไวรัสอาจจะทำลายได้บ้าง สารในกลุ่มนี้ที่ใช้ในปั๋จจุบัน มีดังนี้

1. Benzalkonium compound
ความเข้มข้น 1 : 1000 (ในนํ้า) ทำลายเชื้อที่ปรอทวัดไข้ในเวลา 30 นาที ความเข้มข้น 1 : 100 ใช้แช่เครื่องมือมีคมก่อนที่จะนำไปล้าง, แช่สายยาง, อุปกรณ์ที่ทำด้วยยาง หรือ polyethylene tube ใช้เวลา 30-60 นาที

2. Cetrimide เป็นสารจำพวก cetyltrimethylammonium bromide ในปริมาณ 0.03% สามารถทำลาย vegetative form ของแบคทีเรียทั้งกรัมบวกและกรัมลบ ยกเว้น Pseudomonas aeruginosa ซึ่งต้องใช้ความเข้มข้น 1-3% ปัจจุบันใช้ cetrimide ผสมกับ chlorhexidine (cetrimide 15% + chlorhexidine 1.5%)ใช้กำจัดเชื้อที่ผิวหนังแผลไฟไหม้ นํ้าร้อนลวก โดยเจือจาง 1 : 30 ในนํ้า หรือเจือจาง 1 : 100 สำหรับกำจัดเชื้อที่ฝีเย็บก่อนตรวจภายใน

3. Benzethonium chloride  ใช้ควบคุมการเจริญเติบโตของสาหร่ายในสระว่ายนํ้า

7. Chlorhexidine  ใช้ในรูปของ gluconate มากกว่า acetate หรือ hydrochloride มีฤทธิ์ทำลายเชื้อได้ทั้งแบคทีเรียกรัมบวกและกรัมลบ แต่ไม่ได้ผลกับเชื้อวัณโรค เชื้อรา ไวรัสและสปอร์ของแบคทีเรีย โดยออกฤทธิ์ที่เซลล์เมมเบรนทำให้ผนังเซลล์รั่ว สารต่างๆ ภายในเซลล์จะออกนอกเซลล์ทำให้เซลล์ตาย และในความเข้มข้นสูงๆ จะทำให้สารโปรทีนแข็งตัว นอกจากนี้ ยังมีผลยับยั้งการทำงานของเอ็นซัยม์ adenosine triphosphate

chlorhexidine  เป็นสารที่ incompatible กับสบู่ และจะเสื่อมฤทธิ์เมื่อถูกกับเลือด หรือสารอินทรีย์

ขนาดที่ใช้ chlorhexidine  มีที่ใช้หลายประการ โดยนำไปผสมกับสารอื่น หรือเจือจางในนํ้า ดังต่อไปนี้

1. Chlorhexidine 0.5% ในน้ำ ใช้ล้างแผลไฟไหม้ นํ้าร้อนลวก หรือใช้แช่เครื่องมือมีคมไว้ 1 ชั่วโมงก่อนนำไปล้าง และแช่ไว้หลังจากทำความสะอาดแล้วเพื่อใช้ต่อไป นํ้ายาเมื่อเจือจางด้วยนํ้าแล้วใช้ได้ไม่เกิน 7 วัน

2. Chlorhexidine 0.5% ในแอลกอฮอล์ 70% ใช้ราดและถูมือกำจัดเชื้อหลังทำการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ, กำจัดเชื้อที่ผิวหนังก่อนผ่าตัด

3. Chlorhexidine 4% ใน detergent บางชนิดใช้ฟอกมือก่อนผ่าตัด
4. Chlorhexidine ผสมกับ cetrimide ให้ได้ความเข้มข้น 1.5% และ 15% ตามลำดับ มีที่ใช้ตามที่กล่าวแล้วในเรื่องของ cetrimide

Picloxydine  เป็นสารอีกชนิดหนึ่งในกลุ่มนี้ เมื่อนำมาผสมกับ octylphenoxy polyethoxyethanol และ benzalkonium chloride (Resiguard) ใช้พ่นในห้องเพื่อทำลายเชื้อ โดยใช้เวลาปิดห้องไว้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง

8. Dye
ยาในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อนุพันธุ์ของ acridine และ triphenyl methane.  Proflavine และ Aminacrine เป็นอนุพันธุ์ของ acridine ส่วน Acriflavine และ Euflavine เป็น mixture ของอนุพันธุ์ของ acridine. Brilliant green และ Crystal violet รวมทั้ง Malachite green, Magenta และ Acid fuchsine จัดอยู่ในกลุ่มอนุพันธุ์ของ triphenylmethane

Proflavine hemisulphate  และอนุพันธุ์ของ acridine มีฤทธิ์แค่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยเฉพาะกรัมบวก แบคทีเรียอาจจะดื้อต่อยากลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อวัณโรค, เชื้อไวรัส, เชื้อรา และสปอร์ทนต่อฤทธิ์ของยากลุ่มนี้, มักจะใช้ยากลุ่มนี้รักษาบาดแผลจากเชื้อกรัมบวก หรือทำความสะอาดแผลไฟไหม้หรือผิวหนัง

Brilliant green และ crystal violet มักใช้ร่วมกันทำความสะอาดผิวหนัง ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว

9. Gaseous Disinfectant
ให้ดูเรื่อง ethylene oxide, formaldehyde ในเรื่อง Sterilization ข้อที่ 5

Methyl bromide  ใช้เป็นก๊าซสำหรับฆ่าแมลงตามดิน, อาหาร, ผลไม้, พืชผัก

Propiolactone  ใช้เป็นไอระเหยซึ่งได้ผลดีมากใน sterilization และ disinfection มักใช้ก๊าซนี้กับสิ่งที่มีชีวิต เช่น ใช้ในการกำจัดจุลชีพที่ปนอยู่กับเนื้อเยือหรืออวัยวะที่จะนำไป transplant หรือในวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคกลัวนํ้า นอกจากนี้ ไอระเหยของสารนี้ใช้อบห้องก็ได้

10. Halogen
สารกลุ่มนี้อาศัย oxidising property ในการฆ่าเชื้อ และยาที่ใช้กันมากคือ สารผสมที่มี chlorine และ iodine ส่วน bromine มีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนัง จึงมีที่ใช้น้อยกว่า

Inorganic chlorine compound
Chlorine และ hypochlorite เป็นสารที่ออกฤทธิ์เร็วมากและฆ่าจุลชีพได้หลายชนิดตั้งแต่ไวรัสที่มีขนาดเล็กจนถึงสาหร่าย ยกเว้นเชื้อวัณโรคและสปอร์เท่านั้น ทั้ง chlorine และ hypochlorite จะทำให้เกิด hypochlorous acid (HOC1) ซึ่งจะผ่านเข้าไปในเซลล์และทำปฏิกิริยา oxidation กับสารต่างๆ ภายในเซลล์รวมทั้งเอ็นซัยม์ต่างๆ จนผลสุดท้ายทำให้ผนังเซลล์แตกสลาย pH ที่ออกฤทธิ์ได้ดีคือ 5, แต่เนื่องจากก๊าซคลอรีนจะระเหยถ้าสารละลายมี pH ที่เป็นกรด จึงต้องเติมด่างจนได้ pH 7-9 เพื่อให้คลอรีนยังคงอยู่ในสารละลายนั้น

ก๊าซคลอรีนใช้ในขบวนการทำนํ้าประปาโดยใช้ในอัตราส่วน 0.5-20 ส่วนต่อล้านส่วน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความปนเปื้อนในนํ้าที่นำมาทำนํ้าประปา

น้ำยา Dakin’s solution หรือ Milton’s solution ซึ่งเตรียมมาจาก chlorinated lime นำมาทำลายเชื้อได้ดี สารอินทรีย์หลายชนิดที่มีส่วนประกอบของคลอรีน จะออกฤทธิ์เหมือน hypochlorite แต่มีความคงตัวดีกว่า และมีระคายเคืองและมีพิษน้อยกว่าอีกด้วย สารจำพวก chloromine B หรือ chloroazodin มีฤทธิ์คล้ายคลึงกันและใช้ผสมนํ้าดื่มหรือทำความสะอาดนํ้าในสระว่ายนํ้า

สารประกอบไอโอดีน
สารไอโอดีนเป็นสารที่ทำลายจุลชีพได้หลายชนิดรวมทั้งสปอร์ด้วย, ออกฤทธิ์ได้เร็วและยังทำลายเชื้อราและไวรัสได้ด้วย, เข้าใจว่าออกฤทธิ์โดยธาตุไอโอดีนที่เป็นอิสระ และรวมตัวกับโปรทีนของเซลล์, สารเคมีที่รวมตัวกับไอโอดีนอย่างถาวรจะกลายเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ฆ่าจุลชีพ

ใช้ทำความสะอาดบาดแผล ในรูปน้ำยาเจือจาง ใช้เป็นนํ้ายากลั้วคอทำลายเชื้อได้ด้วยความเข้มข้นร้อยละ 2 ในสารละลาย glycerol

Iodophore เป็นสารเชิงซ้อนของไอโอดีนและ surfactant สารนี้ไม่ระเหย ฆ่าเชื้อได้ดีขึ้น เมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากสารนี้จะปล่อยสารไอโอดีนมากขึ้น นิยมใช้สารนี้ทำความสะอาดผิวหนังก่อนผ่าตัดและทำลายเชื้อในบาดแผลต่างๆ

Povidone-iodine เป็นสารเชิงซ้อนของไอโอดีนร่วมกับ povidone สารละลายที่มีความเข้มข้นร้อยละ 0.75-1 ใช้ทำความสะอาดผิวหนังและบาดแผล

11. Metal
สารประกอบทองแดง

จุนสี (copper sulphate) มีฤทธิ์เป็น bacteriostatic และยังมีฤทธิ์ต่อเชื้อรา สาหร่ายและเชื้อไวรัสบางชนิด ทองแดงออกฤทธิ์โดยจับกับ thiol group ของจุลชีพ และทำให้โปรทีนตกตะกอน ถ้าใช้สารละลายที่มีความเข้มข้นสูง ส่วนมากใช้ผสมนํ้าในสระว่ายนํ้า โดยใช้ความเข้มข้น
0.5-1 ส่วนต่อล้าน เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของสาหร่าย

สารประกอบปรอท
ปรอทออกฤทธิ์โดยจับกับ thiol group ของเอ็นซัยม์ที่อยู่ตามเซลล์เมมเบรนและซัยโตพลาสม โดยทั่วไปมีฤทธิ์เป็น bacteriostatic และกลัวว่าจะเกิดพิษจากปรอทได้ จึงมีผู้นิยมใช้กันน้อยลง จากการศึกษาของกรองกาญจน์และคณะพบว่า เมื่อใช้ความเข้มข้นที่พอเหมาะและเวลา นานพอสมควรสามารถฆ่าเชื้อได้หลายชนิดรวมทั้งเชื้อวัณโรค แต่ทำลายเชื้อ hepatitis B virus ไม่ได้
สารประกอบที่มีปรอทที่เคยใช้ลดจุลชีพในบาดแผลได้แก่ hydrargaphen, nitromersol และ thiomersol ส่วน Mercurochrome (ยาแดง) เคยนิยมใช้กันแพร่หลายในอดีต แต่ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เมื่อทำเป็น aqueous solution

สารประกอบ silver
สารประกอบ silver ออกฤทธิ์โดยจับกับ thiol group ที่ผนังเซลล์ นอกจากนี้ silver ยังรวมตัวกับ carboxyl, phosphate, amino group ที่อยูในเซลล์ ที่ต้องระวังคือความเข้มข้นที่ใช้ อาจจะมีพิษต่อเนื้อเยื่อได้ ถ้าใช้ความเข้มข้นสูงจะทำให้โปรทีนตกตะกอน

Silver nitrate ร้อยละ 0.1 จะมีฤทธิ์ bactericidal ต่อแบคทีเรียทั้งกรัมลบ และกรัมบวก Silver sulphadiazine มีฤทธิ์ต่อจุลชีพได้กว้างขวาง คือทั้งแบคทีเรียกรัมลบ และบวก, ยีสต์ และ เชื้อ Pseudomonas aeruginosa ที่ชอบก่อโรคในคนที่มีบาดแผลไฟไหม้, นิยมทำเป็นครีมและผสมสังกะสีเข้าไปด้วย สารละลาย Silver nitrate ร้อยละ 0.2-1.0 ใช้เป็นยาหยอดตา โดยเฉพาะสำหรับทารกแรกเกิดซึ่งใช้ความเข้มข้นร้อยละ 1.0

12. Peroxide และ permanganate
สารทั้งสองเป็น oxidising agent ซึ่งผลิตออกมาในรูปต่างๆ เช่น hydrogen peroxide, potassium permanganate, magnesium peroxide, zinc peroxide และ zinc permanganate

hydrogen peroxide solution
เป็นสารละลายที่มี H2O2 ร้อยละ 5-7, ซึ่งไม่คงตัวและมีฤทธิ์ฆ่าจุลชีพเพียงช่วงสั้นๆ คือในขณะที่ H2O2 สลายให้อ็อกซิเจนไป oxidise thiol group และgroup อื่นๆ ที่อยู่ในผนังเซลล์ ฤทธิ์ในการฆ่าแบคทีเรียจะลดลงเมื่อมีโปรทีนอยู่ด้วย

ปัจจุบัน ใช้ล้างแผลที่สกปรก หรือหยอดหูที่มีขี้หูมาก

potassium permanganate (ด่างทับทิม)
ด่างทับทิมเป็นสาร disinfectant และดับกลิ่นได้ด้วย นิยมใช้ความเข้มข้นระหว่าง 1 : 1,000 ถึง 1 : 4,000 ความเข้มข้นที่ 1 : 10,000 จะฆ่าเชื้อแบคทีเรียแต่ใช้เวลานาน 1 ชั่วโมง นิยมใช้ล้างแผล, บ้วนปาก, ถ้าใช้ความเข้มข้นจางลงอาจจะใช้ล้างช่องคลอดหรือสวนล้าง กระเพาะปัสสาวะ ความเข้มข้นร้อยละ 0.02 ใช้ล้างท้อง ในกรณีที่ผู้ป่วยกินฝิ่น, มอร์ฟีน หรือ strychnine ลงไปในกระเพาะอาหาร

13. Phenol
ฟีนอลเป็นสารที่ระคายเคืองมาก แต่ก็เป็นสารที่ใช้กันมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19 การเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของฟีนอลทำให้สารนี้มีความระคายเคืองน้อยลง แต่ฤทธิ์ในการทำลายแบคทีเรียจะเปลี่ยนไปด้วย สารนี้ออกฤทธิ์โดยทำลายผนังเซลล์ทำให้ส่วนประกอบของเซลล์รั่วไหลออกนอกเซลล์ และทำให้โปรทีนแข็งตัวถ้าใช้ความเข้มข้นสูง

phenol (carbolic acid)
ความเข้มข้นต่ำกว่าร้อยละ 1 จะมีฤทธิ์เป็น bacteriostatic, ส่วนความเข้มข้นสูงกว่านี้จะมีฤทธิ์ bactericidal, นิยมใช้กำจัดจุลชีพใน excreta ต่างๆ ; ความเข้มข้นร้อยละ 0.2-0.5 ใน glycerol สามารถนำมาใช้บ้วนปาก ทันตแพทย์นิยมใช้เป็นสารกำจัดจุลชีพและทำให้ชา

cresol
เมื่อใช้ในขนาดความเข้มข้นร้อยละ 0.3-0.6 จะฆ่าจุลชีพได้หลายชนิดรวมทั้งเชื้อวัณโรค, ถ้าผสมกับสบู่ที่เรียกว่า Lysol ใช้ทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์และอื่นๆ ; ฤทธิ์ในการทำลายจุลชีพไม่ลดลง แม้จะมีสารอินทรีย์อยู่ด้วย, แต่จะลดลงถ้าถูกกับสารพวกพลาสติค

Hexachlorophane
สารนี้มีฤทธิ์ต่อเชื้อกรัมบวก และไม่ค่อยได้ผลกับเชื้อกรัมลบ เช่น Pseudomonas และ Salmonella, ฤทธิ์ในการกำจัดจุลชีพจะลดลงเมื่อถูกกับเลือด

ในอดีต นิยมใช้ hexachlorophane กำจัดเชื้อ S.aurens ตามผิวหนังโดยการล้างมือบ่อยๆ หลายๆ ครั้ง ซึ่งจะทำให้ยาไปเคลือบอยู่ตามผิวหนังนั้น ปัจจุบันใช้กันน้อยลง เพราะยานี้ สามารถถูกดูดซึมผ่านผิวหนังโดยเฉพาะในทารก ในปริมาณที่เป็นพิษต่อเซลล์สมองได้

Chloroxylenol   นิยมใช้ในความเข้มข้นร้อยละ 5 โดยใช้ทำความสะอาดผิวหนัง หรือล้างบาดแผล

14. Quinoline derivative
hydroxyquinoline  และอนุพันธุ์ เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อรา, แบคทีเรียกรัมบวก แต่ไม่ค่อยได้ผลกับเชื้อกรัมลบ, ออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อมีธาตุเหล็กหรือทองแดงอยู่ด้วย นิยมใช้เป็นยาทาผิวหนัง ในความเข้มข้นต่ำๆ เช่น ร้อยละ 0.001 ซึ่งทำลายจุลชีพทั้งแบคทีเรียและเชื้อราไปด้วยกัน นิยมใช้ในรูปของ hydroxyquinoline sulphate, potassium hydroxyquinoline sulphate และ chlorquinadol

Dequaiinium chloride  เป็นอนุพันธุ์ของ aminoquinaldinium และยังเป็น cationic surfactant, ใช้ได้ผลกับเชื้อกรัมบวกและกรัมลบ และ Candida ด้วย นิยมทำเป็นยาอมแก้เจ็บคอหรือป้ายคอในความเข้มข้นร้อยละ 0.5

สรุป
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่ามี antiseptic และ disinfectant ให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก และสารเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการทำลายจุลชีพได้ไม่เท่ากัน จึงมีผู้ประเมินประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อไว้ 3 ระดับคือ ระดับสูง, กลาง และต่ำ โดยอาศัยคุณสมบัติในการทำลายเชื้อแบคทีเรียในรูปแบบต่างๆ คือ vegetative form-nonspore-forming, สปอร์, เชื้อวัณโรค, เชื้อรา และเชื้อไวรัสด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังในตารางที่ 2.1

ตารางที่ 2.1 ประสิทธิภาพของ Disinfectant ในการทำลายจุลชีพ
health-0022 - Copy
+    =    ทำลายได้
–    =    ทำลายไม่ได้
*    =    vegetative, gram + หรือ gram –
**    =    รวมถึง asexual spore ด้วย
เมื่อได้ข้อมูลสำหรับวัดประสิทธิภาพดังนี้แล้วสามารถแบ่ง antiseptic-disinfectant ที่ใช้เป็นประจำนั้นว่ามีประสิทธิภาพแตกต่างกันอย่างใด ดังตารางที่ 2.2

ตารางที่ 2.2 Antiseptic-Disinfectant ที่ใช้กันเป็นประจำ
health-0023 - Copy
*จำนวนคลอรีนอิสระ
**ในตู้ปิดสนิทอุณหภูมิ 50-60° ซ.
***คิดเฉพาะนํ้าหนักของไอโอดีน
****1, 2 และ 3 คือ ระดับประสิทธิภาพการทำลายเชื้อ ตํ่า, กลาง และสูงตามลำดับ

ในทางปฏิบัติ การใช้ antiseptic นั้นก็เพื่อทำลายแบคทีเรีย ซึ่งมี gram positive และ gram negative, spore ของแบคทีเรีย, เชื้อรา และไวรัสต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาใช้ในทางปฏิบัติ จึงรวม antiseptic เรียงลำดับตามตัวอักษรชื่อภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งคุณสมบัติในการทำลายเชื้อ ความเข้มข้นมาตรฐานที่ใช้ และประโยชน์ที่ใช้ที่สำคัญไว้ในตารางที่ 2.3

ตารางที่ 2.3 Antiseptic ที่ใช้กันอยู่เสมอ
health-0024 - Copy

ส่วนการเลือกใช้ antiseptic นั้น ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และพยาบาลที่มีความรู้ในเรื่องนี้ โดยอาศัยประสิทธิภาพของนํ้ายา, ความยากง่ายในทางปฏิบัติ, ราคา ฯลฯ เป็นปัจจัยในการเลือก ถ้าเป็นโรงพยาบาลใหญ่ควรจะให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อเป็นผู้กำหนดนโยบายในการใช้ antiseptic แต่ก็ควรจะมีการติดตามผล, วิจัย และประชุมกันเป็นระยะๆ เพื่อหายาที่เหมาะสมที่สุดต่อไป ขอยกตัวอย่างการเลือกใช้ antiseptic เพื่อทำความสะอาดผิวหนังของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งประกาศใช้ใน พ.ศ. 2526 (ตารางที่ 2.4) ซึ่งอาจจะนำไปประยุกต์ใช้ในสถาบันอื่นได้

ตารางที่ 2.4 นํ้ายาระงับเชื้อ (Antiseptic) ทำความสะอาดผิวหนัง

health-0025 - Copy

health-0026 - Copy

การทำให้ปราศจากเชื้อ (STERILIZATION)
วิธีการนี้ใช้กับสิ่งของหรือเครื่องมือที่ต้องการกำจัดจุลชีพทุกชนิด รวมทั้งสปอร์ของแบคทีเรียให้หมดสิ้นไป โดยที่ขบวนการดังกล่าวไม่ทำให้คุณภาพของสิ่งของหรือเครื่องมือเสื่อมลง วิธีการต่างๆ ที่ใช้ในการทำให้ปราศจากเชื้อ มีดังนี้

1. ต้มกับ bactericide
2. ใช้ความร้อนใน autoclave
3. ใช้ความร้อนแห้ง (hot air oven) และการเผาจนไหม้ (incineration)
4. กรอง
5. ใช้ก๊าซ
6. ใช้รังสี
7. ใช้สารเคมี

1. ต้มกับ bactericide
การใช้ bactericide บางชนิดผสมลงไปในน้ำจะเพิ่มประสิทธิภาพของความร้อนในการทำลายจุลชีพ วิธีนี้ใช้สำหรับของเหลวชนิดที่จะเสื่อมคุณภาพถ้าอยู่ในอุณหภูมิสูงกว่า 100° ซ. bactericide ที่ใช้มี chlorocresol 0.2%, phenylmercuric acetate หรือ nitrate 0.002%, benzalkonium chloride 0.01%, chlorhexidine 0.01% และ thiomersol 0.01% ต้มให้ร้อน 98-100° ซ. เป็นเวลา 30 นาที (เริ่มนับเวลาเมื่ออุณหภูมิถึงขีดที่กำหนด)

2. ใช้ความร้อนใน autoclave
ความร้อนแบบ moist heat จะทำลายจุลชีพได้ดีกว่าความร้อนแห้ง โดยที่จะใช้อุณหภูมิ และเวลาน้อยกว่า หลักการของ autoclave คือใช้ไอนํ้าเข้าไปแทนที่อากาศในภาชนะที่ปิดสนิท เมื่อความดันไอนํ้าเพิ่มขึ้น อุณหภูมิจะสูงขึ้นด้วย เช่นความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว อุณหภูมิ จะเป็น 120° ซ. ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ทำให้สิ่งของทั่วไปปราศจากเชื้อ โดยใช้เวลานาน 15-30 นาที สรุปได้ว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ autoclave มีอยู่ 3 ประการ คือ saturated steam, อุณหภูมิ และเวลา ดังนั้นที่เครื่อง autoclave จะมีอุปกรณ์ต่างๆ คือมาตรวัดแรงดันไอนํ้า, เครื่องบอก อุณหภูมิ, safety valve, เครื่องควบคุมอุณหภูมิและความดันให้คงที่, และชนิดมาตรฐานจะมีเครื่องควบคุมเวลาให้หยุดได้ตามต้องการ เมื่อจบขบวนการต้องรอจนแรงดันในเครื่องลดลงถึงศูนย์ จึงค่อยๆ เปิดฝาให้ความร้อนระบายออกจนอุณหภูมิลดลงพอที่จะเข้าไปนำของออกมาได้ เครื่อง autoclave ขนาดธรรมดาที่ใช้กันทั่วไปเป็นแบบหม้อโลหะมีที่ต้มนํ้า (ใช้ไฟฟ้าหรือก๊าซ) อยู่ข้างล่างเพื่อผลิตไอนํ้า

autoclave สามารถใช้กับสิ่งของบางอย่างเท่านั้น เช่น เครื่องมือผ่าตัด (ยกเว้นของมีคม) เสื้อผ้าชุดผ่าตัด ถุงมือยาง และอุปกรณ์ที่ทำด้วยยางทนความร้อน, เครื่องแก้ว, กระบอกฉีดยา, สำลี, ผ้า gauze; ข้อควรระวังในการใช้ autoclave คือจะต้องไม่บรรจุของแน่นเกินไปจนไอนํ้า จะซอกแซกเข้าไปได้ไม่ทั่วถึง  ของเหลวบรรจุขวดฝาจุกยางหรือเกลียวต้องไม่ปิดสนิท

ข้อห้ามในการใช้ autoclave
1. ของมีคม เช่น ใบมีด กรรไกร จะทำให้เสียความคม
2. ของที่ถูกไอนํ้าแล้วชื้นเสีย เช่น powder
3. สารพวกไขมัน, vaseline, liquid paraffin สิ่งเหล่านี้ไอนํ้าแทรกซึมเข้าไปไม่ทั่วถึง

3. การใช้ความร้อนแห้ง (hot air oven)
ความร้อนแห้งคือ การอบด้วยไอร้อนโดยใช้ไฟฟ้าหรือก๊าซ อุณหภูมิ 160° ซ. เป็นเวลา 1-3 ชั่วโมงจะฆ่าสปอร์ได้ ปัจจุบันตู้อบความร้อนจะมีพัดลมอยู่ในตู้เพื่อให้ความร้อนกระจายไปทั่วกัน ประสิทธิภาพของความร้อนแห้งในการทำลายจุลชีพที่ปนอยู่กับสารโปรทีนจะด้อยกว่า moist heat จึงต้องการเวลาและอุณหภูมิมากกว่า

ตู้อบไอร้อน ใช้สำหรับสิ่งของที่ห้ามใช้กับเครื่อง autoclave ที่กล่าวแล้ว

ข้อแนะนำ ไม่ควรห่อวัสดุด้วยผ้าหรือกระดาษที่ไม่ทนความร้อนตามอุณหภูมิและเวลาที่กำหนด และเช่นเดียวกับ autoclave คือ อย่าบรรจุสิ่งของให้เต็มตู้จนแทบไม่มีช่องว่าง

autoclave และ hot air oven นี้ จำเป็นต้องตรวจสอบประสิทธิภาพอยู่เสมออย่างน้อยเดือนละครั้ง วิธีการทดสอบมีทั้งแบบใช้เชื้อแบคทีเรียและสารเคมี สำหรับเชื้อแบคทีเรียใช้สปอร์ของ Bacillus stearotherniophilus ซึ่งมีจำหน่ายในแบบที่จะใช้กับ autoclave หรือ hot air oven ส่วน chemical sterilization control จะทำเป็นแผ่นเคลือบด้วยสารเคมี แต่ละบริษัทที่ผลิตขายจะบอกวิธีใช้และการอ่านผลโดยละเอียด

การเผาจนไหม้ (incineration) เป็นการทำลายเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามสิ่งของต่างๆ เช่น ผ้าปิดแผล, infectious discharge (หนอง, เสมหะ), ซากสัตว์ทดลอง, disposible syringe ที่เจาะเลือดผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ เครื่องมือที่ใช้เผา (incinerator) ขนาดเล็กใช้ไฟฟ้า, ขนาดใหญ่ใช้นํ้ามันหรือก๊าซเป็นพลังงาน

4. การกรอง
วิธีนี้เหมาะที่จะใช้กับของเหลวที่ปราศจากตะกอนและทนความร้อนสูงไม่ได้ เวลาทำก็สะดวกรวดเร็ว ใช้เครื่องมือน้อย กรองได้ปริมาณครั้งละไม่น้อย ถ้าเครื่องกรองมีขนาดใหญ่ แต่ที่สำคัญและละเลยไม่ได้ คือ ต้องใช้ aseptic technique ที่ดี จึงต้องกระทำโดยผู้ที่มีความชำนาญ และต้องทดสอบภาวะไร้จุลชีพในของเหลวที่ผ่านการกรองมาแล้วทุกครั้ง การกรองผ่านแผ่นกรอง เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุด แผ่นกรองที่ใช้มีหลายชนิด เช่น
1. diatomaceous earth ปัจจุบันมีใช้น้อย
2. porous porcelain เช่น Pasteur-Chamberland ใช้เกรด L 5 หรือ P 5
3. asbestos pads เช่น Seitz ชนิด EK หรือ Sterimats ชนิด S.B. พวกนี้ใช้แล้วทิ้งเลย
4. sintered glass ใช้รูขนาด 2.5 ไมครอนหรือเล็กกว่า
5. membrane filters มีมากมายหลายประเภท เช่น millipore, gelman เป็นต้น ใช้รูขนาด 0.45 ไมครอนจะเหมาะที่สุด

5. การใช้ก๊าซ ใช้กับสิ่งของที่ไม่ทนต่อความร้อนที่สูงมากดังที่ใช้ในวิธีการใช้ความร้อนชื้น หรือความร้อนแห้ง วิธีนี้ต้องควบคุมปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น อุณหภูมิ, ความชื้น, ความเข้มข้นของก๊าซ และเวลาที่ใช้เป็นอย่างดี ก๊าซที่ใช้ในวิธีการนี้มี 2 ชนิดคือ ethylene oxide และ formaldehyde

ก๊าซ ethylene oxide เป็นของเหลวที่มีจุดเดือดอยู่ที่อุณหภูมิ 10.7° ซ. และเป็นก๊าซที่ทำลายแบคทีเรียและสปอร์ เมื่อมีความชื้นปนอยู่ด้วยในความเข้มข้นร้อยละ 33-60; สิ่งของทุกชนิด จึงต้องมีความชื้นอยู่ด้วยตลอดเวลาที่อบอยู่ มักจะใช้อุณหภูมิ 40-50°ซ. เพื่อลดเวลาอบลง, เนื่องจากก๊าซ ethylene oxide มีอำนาจในการทะลุทะลวงสูง สิ่งของที่จะนำมาอบอาจจะห่อให้มิดชิดด้วยวัสดุที่ยอมให้ก๊าซและไอนํ้าผ่านเข้าไปได้ ในกรณีที่ไม่แน่นอนควรใช้ spore strip ใส่ไว้ในห่อด้วยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการกำจัดจุลชีพ

ความเข้มข้นของก๊าซที่ใช้อยู่ระหว่าง 500-1,000 มก.ต่อลิตร, อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-55° ซ. และแรงดันในตู้อบอยู่ระหว่าง 5-10 psig เวลาที่ใช้ 3 ชั่วโมง (ถ้าใช้อุณหภูมิสูง) จนถึง 36 ชั่วโมง (ถ้าใช้อุณหภูมิตํ่า)

เมื่ออบเสร็จแล้ว ควรเก็บของเหล่านี้ไว้ที่อากาศถ่ายเทดีเป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนใช้ เพื่อให้ก๊าซที่ติดอยู่ตามสิ่งของระเหยออกไป

ก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ ราคาถูก ก๊าซนี้มีอำนาจทะลุทะลวงตํ่า และมักจะเสื่อมประสิทธิภาพถ้าอยู่ในบรรยากาศที่เย็น แต่ความชื้นสูง จะช่วยให้การทำลายเชื้อดีขึ้น

หลักการใช้ก๊าซนี้ ให้มีความเข้มข้นของก๊าซสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ อุณหภูมิสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส และมีความชื้นร้อยละ 80-90 และใช้เวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง แต่อบยิ่งนานยิ่งดี และควรทดสอบประสิทธิภาพการทำลายเชื้อ โดยใช้ spore strip ด้วย

ก๊าซ propylene oxide เป็นก๊าซที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูง ไม่ระเบิดง่ายเหมือน ethylene oxide แต่มีประสิทธิภาพในการทำลายจุลชีพตํ่ากว่า

6. การใช้รังสี ที่ใช้กันทั่วไป คือการใช้รังสีอุลตราไวโอเล็ทและแกมม่า ส่วนที่ใช้อีเล็คตรอนกำลังสูง มีใช้เฉพาะบางแห่งเท่านั้น

รังสีอุลตราไวโอเล็ท เป็นรังสีที่มีคลื่นสั้น (240-280 นาโนเมตร) และพลังต่ำ ความสามารถในการกำจัดจุลชีพอยู่ที่ช่วงคลื่น 253.7 นาโนเมตร ซึ่งจะไปทำลายปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์ จนเซลล์ตาย รังสีนี้มักกำเนิดจากหลอดไฟ ไอปรอท และออกแบบให้ใช้ที่ 30-40° ซ. ประสิทธิภาพในการทำลายจุลชีพจะลดลงถ้ามีฝุ่นละอองมาก อุณหภูมิของบรรยากาศตํ่าลงและหลอดไฟที่ใช้มีอายุมากแล้ว ประโยชน์ใช้ลดจำนวนจุลชีพในอากาศ เช่น ในห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ฯลฯ ข้อที่ควรคำนึงคือ รังสีไม่สามารถผ่านสิ่งของต่างๆ เช่น กระดาษ, ผ้า, แก้ว ฯลฯ ได้ ดังนั้น จะได้ผลก็ต่อเมื่อรังสีนี้สัมผัสกับจุลชีพโดยตรงเท่านั้น และชนิดที่ใช้อยู่ทั่วไป ในปัจจุบันห้ามใช้ขณะที่มีคนอยู่ในห้อง

รังสีแกมม่า เป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 1-10-4 นาโนเมตร แต่แฝงด้วยพลังสูง ซึ่งจะทำให้เกิด ionization ของสารภายในเซลล์ จนรบกวนการทำงานของเอ็นซัยม์ และ DNA จนเซลล์ตาย, ส่วนมากแล้วรังสีแกมม่าผลิตจากโคบอลต์ 60 หรือ caesium 137 ประสิทธิภาพ ของรังสีแกมมาในการทำลายเชื้อจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีอ็อกซิเจนและไอนํ้า แต่จะลดลงถ้ามีสารจำพวก sulhydryl, ascorbate และ glycerol ขนาดที่ใช้มักจะเป็น 2, 5 Mrads หรือสูงกว่า ถ้าสารนั้นมีแบคทีเรียปนเปื้อนมาก ข้อเสียของรังสีนี้ คือ ทำลายคุณภาพของยาหลายชนิด เช่น insulin, heparin, barbiturate และ sulfonamide เป็นต้น

7. การใช้สารเคมี  มีที่ใช้น้อย และสารเคมีส่วนมากจะทำลายคุณภาพของสารที่ถูกต้อง มีขอบข่ายในการกำจัดเชื้อแคบ มีพิษต่อมนุษย์ และชะล้างออกยากจากสารหรือสิ่งของที่ต้องการ ฤทธิ์ในการกำจัดจุลชีพจะลดลงอีกถ้ามีสารอินทรีย์ติดค้างอยู่

สารละลาย formaldehyde ความเข้มข้นร้อยละ 4-8 สามารถนำมาใช้ได้โดยแช่ไว้นาน 24 ชั่วโมงที่ 40° ซ. ข้อควรระวังคือ ต้องรักษาความเข้มข้นและระดับอุณหภูมิไว้โดยตลอด เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อ เสร็จแล้วควรล้าง formaldehyde ที่ติดมากับเครื่องมือออกโดยระวังมิให้มีการปนเปื้อนในระยะหลัง

สารละลาย glutaraldehyde เป็นสารอีกชนิดหนึ่งที่ฆ่าเชื้อและทำลายสปอร์ได้ดี โดยใช้ความเข้มข้นร้อยละ 2 ที่ pH 7.5-8.5 การเติมโซเดียม ไบคาร์บอเนต ความเข้มข้นร้อยละ 0.3 ทำให้ได้ pH ประมาณ 8.5 จะช่วยให้ฆ่าเชื้อได้ดีขึ้น แต่ลดความคงตัวของ glutaraldehyde เพื่อ ความแน่นอนควรแช่นาน 8-10 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะทำลายสปอร์ของ Clostridium tetani ได้ภายใน 3 ชั่วโมง

ส่วนฟีนอลและแอลกอฮอล์ทำลายสปอร์ไม่ค่อยได้ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในขบวนการ Sterilization

การเลือกวิธี Sterilization
หลักการเลือกว่าจะใช้วิธี sterilization ใดนั้นอาศัยหลักการเดียวกันกับการเลือกใช้ antiseptic ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่มักจะมีหน่วยจ่ายกลาง (Central Supply Unit) ซึ่งทำหน้าที่การทำลายเชื้อเป็นส่วนใหญ่ และคณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายและวิธีการ sterilization (ตารางที่ 2.5) ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความเหมาะสม

ตารางที่ 2.5 วิธีการทำลายเชื้อ (disinfection และ sterilization) ที่คณะกรรมการควบดุมโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแนะนำ

health-0031 - Copy

health-0032 - Copy

ที่มา:สมหวัง  ด่านชัยวิจิตร
โสภณ  คงสำราญ
อมร  ลีลารัศมี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า