สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไส้ติ่งอักเสบ(Appendicitis)

ไส้ติ่งเป็นส่วนของลำไส้ ยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ที่ยื่นออกมาจากกระพุ้งไส้ใหญ่อยู่ตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ภายในมีรูติดต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ที่ฝ่อตัวลงและไม่ได้ทำหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหาร เนื่องจากเป็นท่อขนาดเล็กปลายตัน เมื่อเกิดการอักเสบจะทำให้เนื้อผนังไส้ติ่งเน่าตายและเป็นรูทะลุในเวลารวดเร็วได้ไส้ติ่งอักเสบ

หากพบอาการปวดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวารุนแรงควรนึกถึงโรคนี้และทำการรักษาด้วยการผ่าตัด พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในช่วงอายุ 10-30 ปี ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เพียงร้อยละ 7

สาเหตุ
เกิดจากภาวะอุดกั้นของรูไส้ติ่งจากนิ่วอุจจาระ หรือจากสิ่งแปลกปลอม เนื้อเยื่อน้ำเหลืองของไส้ติ่งที่โตขึ้น หนอนพยาธิ เนื้องอก จะทำให้สิ่งคัดหลั่งในไส้ติ่งเกิดการอุดกั้นทำให้ไส้ติ่งบวมมีแรงดันภายในไส้ติ่งสูงขึ้นและมีการบีบขับของไส้ติ่งทำให้มีอาการปวดท้องรอบๆ สะดือ แบคทีเรียที่อยู่ในรูไส้ติ่งก็จะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเข้าไปในเนื้อเยื่อของไส้ติ่งทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงผู้ป่วยจะเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา และเนื้อไส้ติ่งเกิดการเน่าตายและแตกทะลุได้

ในผู้ป่วยเอดส์อาจพบเป็นไส้ติ่งอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกาโล(cytomegalovirus) หรืออาจเป็นไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้

อาการ
มีอาการปวดท้องรุนแรงนาน 6 ชั่วโมงขึ้นไป มักปวดอยู่นานหลายวันหากไม่ได้รับการรักษา จนทนไม่ไหวต้องนำส่งโรงพยาบาล

อาจมีอาการปวดแน่นตรงลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือปวดบิดเป็นพักๆ รอบสะดือคล้ายอาการท้องเดิน บางรายอาจมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำร่วมด้วยในระยะเริ่มแรก

ผู้ป่วยมักเบื่ออาหาร หากไม่มีอาการนี้ควรนึกถึงสาเหตุของโรคอื่น
มักมีอาเจียนตามหลังจากอาการปวดท้อง 1-2 ครั้ง อาจไม่ใช่ไส้ติ่งอักเสบหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนก่อนปวดท้อง

อาการจะไม่ทุเลาลงแม้จะได้รับยาแก้ปวดแล้ว และอาการปวดจะย้ายมาปวดที่ท้องน้อยข้างขวา เมื่อ 4-6 ชั่วโมงต่อมา จะปวดเสียดตลอดเวลา เมื่อขยับตัว เดิน ไอ จาม จะปวดมากขึ้น ต้องนอนนิ่งๆ จึงจะรู้สึกสบายขึ้น หากเป็นมากต้องนอนงอขาตะแคงไปข้างหนึ่ง เวลาเดินต้องเดินตัวงอ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำๆ ในบางราย หรืออาจมีแค่อาการปวดท้องน้อยข้างขวาโดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อนเลยก็ได้

ในเด็กอาจกดเจ็บทั่วท้อง อาจมีไข้และปวดท้องโดยไม่มีอาการกดเจ็บชัดเจน ในหญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุอาการปวดท้องอาจไม่รุนแรงอาการไม่ชัดเจน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่ล่าช้าได้

สิ่งตรวจพบ
อาจไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5-38 องศาเซลเซียส
กดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวาโดยเฉพาะตรงจุดไส้ติ่งหรือจุดแม็กเบอร์เนย์(Macburney point) เมื่อกดบริเวณนั้นลึกๆ แล้วปล่อยจะเจ็บมาก แสดงว่าเริ่มมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องบริเวณนั้นเกิดขึ้น อาจรู้สึกเจ็บปวดที่ท้องน้อยข้างขวาเมื่อใช้มือกดตรงท้องน้อยข้างซ้าย จะมีอาการเจ็บปวดทั่วท้องน้อย ท้องแข็ง คลำได้ก้อน และมีไข้สูงถ้าเกิดอาการของไส้ติ่งแตก

ภาวะแทรกซ้อน
หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะไส้ติ่งเน่าแล้วแตกอาจเกิดภายใน 24-36 ชั่วโมงหลังการอักเสบจนไส้ติ่งกลายเป็นเนื้อเน่าแตกลุกลามไปทั่วท้อง กลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โลหิตเป็นพิษ หรือเป็นก้อนฝีของไส้ติ่งได้

มักพบภาวะแทรกซ้อนในเด็กเล็ก คนชรา ผู้ป่วยเบาหวาน มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 15 ของคนชราที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ

การรักษา
หากสงสัยเกิดโรคนี้ควรงดอาหารและน้ำเพื่อเตรียมผ่าตัดฉุกเฉิน ถ้ามีอาการขาดน้ำ ระหว่างทางควรให้น้ำเกลือด้วย

แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย ตรวจอาการเจ็บบริเวณไส้ติ่งทางทวารหนัก

หากสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่นอาจต้องตรวจเลือดหาจำนวนเม็ดเลือดขาวว่าสูงกว่าปกติหรือไม่ ตรวจปัสสาวะหาจำนวนเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวที่มากกว่าปกติ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ อาจพบไส้ติ่งอักเสบบวม หรือก้อนฝีรอบไส้ติ่ง

ต้องผ่าตัดไส้ติ่งออกทันทีหากพบเป็นโรคนี้ แพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัดก่อนลงมือผ่าตัด ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวประมาณ 3-5 วันมักจะหายได้ดีโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ

ข้อแนะนำ
1. ไส้ติ่งอักเสบ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดฉุกเฉิน การรักษาด้วยยากินหรือยาฉีดอาจระงับอาการได้ชั่วคราว หากไส้ติ่งแตกอาจทำให้การรักษามีความยุ่งยากมากขึ้น อาจเกิดการติดเชื้อของแผลผ่าตัดเสี่ยงอันตรายมากยิ่งขึ้น

2. อาจมีสาเหตุอย่างอื่นนอกจากไส้ติ่งอักเสบ เช่น นิ่วท่อไต ปีกมดลูกอักเสบ ปวดประจำเดือน ครรภ์นอกมดลูก หากมีอาการปวดท้องน้อยข้างขวา ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดท้องนานเกิน 6 ชั่วโมง ขยับตัวหรือเอามือกดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่ก็ตาม ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือภาวะร้ายแรงอื่นๆ ได้

3. โรคนี้อาจมีอาการได้หลายแบบ ในบางรายอาจไม่มีอาการปวดท้องรอบๆ สะดือนำมาก่อน ปวดท้องร่วมกับท้องผูกหรือเดิน หรืออาการเจ็บปวดท้องอาจไม่ได้อยู่ในตำแหน่งท้องน้อยข้างขวาเนื่องจากไส้ติ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ

ถ้าปวดท้องอยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออกบ่อยๆ ห้ามใช้ยาระบายหรือสวนอุจจาระเพราะไส้ติ่งอาจแตกได้

ผู้ป่วยบางรายในระยะแรกจะมีอาการปวดใต้ลิ้นปี่หรือรอบๆ สะดือคล้ายโรคกระเพาะ หากกินยาแล้วอาการไม่ทุเลาและปวดรุนแรงขึ้นหรือย้ายมาตรงท้องน้อยข้างขวา และมีอาการปวดต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง ก็ควรนึกถึงโรคไส้ติ่งอักเสบ

4. โรคนี้มักไม่มีไข้ หรือมีเพียงไข้ต่ำๆ หากมีไข้สูงมักเกิดจากไส้ติ่งแตก หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ ปีกมดลูกอักเสบ กรวนไตอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

5. ตรวจไส้ติ่งอักเสบแบบง่ายด้วยวิธี ใช้นิ้วกดเบาๆ ตรงท้องน้อยข้างขวา หากมีอาการเจ็บปวดตรงบริเวณนั้นมากก็ให้สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ควรใช้วิธีนี้ตรวจในผู้ท้องเดินหรือมีอาการปวดท้องทุกราย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า