สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไทฟอยด์/ไข้รากสาดน้อย(Typhoid fever/Enteric fever)

ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย พบได้บ่อยในสมัยโบราณ มีไข้อยู่เป็นแรมเดือนทำให้เกิดอาการผมร่วง เพราะไม่มียารักษา ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ไข้หัวโกร๋นไทฟอยด์

โรคนี้เป็นได้กับคนทุกวัย แต่พบบ่อยในคนอายุ 10-30 ปี พบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน อาจพบการระบาดในถิ่นที่การสุขาภิบาลไม่ดี ผู้ติดเชื้อสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่มีอาการแสดงใดๆ

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ ซัลโมเนลลาไทฟิ(Salmonella typhi) โรคนี้ติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระปัสสาวะของผู้ป่วยหรือเชื้อที่ปนเปื้อนจากการตอมของแมลงวัน เข้าจะเข้าไปในเยื่อบุลำไส้เล็กอาศัยอยู่ในกลุ่มเซลล์น้ำเหลืองทำให้ลำไส้อักเสบหรือเป็นแผล เข้าสู่ตับ ทางเดินน้ำดี เข้าสู่กระแสเลือดแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด หัวใจ ไต สมอง กระดูก ไขกระดูก เป็นต้น ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 14 วัน หรือ 7-21 วัน

อาการ
อาการที่เด่นชัดคือมีไข้สูงแบบเรื้อรัง
เริ่มแรกจะมีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเวียนศีรษะ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ไม่มีน้ำมูก อาจมีเลือดกำเดาออก อาจมีไอแห้งๆ เจ็บคอบ้างเล็กน้อย มักพบอาการท้องผูกในผู้ใหญ่ หรือถ่ายเหลวในเด็กร่วมด้วย อาจมีอาการปวดแน่นท้อง ท้องอืดกดเจ็บเล็กน้อย มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไข้จะค่อยๆ สูงขึ้นทุกวันและจับไข้ตลอดเวลาแม้จะได้รับยาลดไข้แล้วก็ตาม เมื่อจับไข้จะปวดศีรษะมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจมีไข้สูงเรื้อรังนานถึง 3 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 6 สัปดาห์ แล้วอาการไข้จะค่อยๆ ลดลงเป็นปกติเมื่อพ้น 4 สัปดาห์ไปแล้ว

อาจมีอาการหนาวสะท้านเป็นพักๆ เพ้อ ปวดท้องรุนแรงคล้ายไส้ติ่งอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ

อาจมีอาการซึมเบื่ออาหารมาก หากมีอาการเกินกว่า 5 วัน ผู้ป่วยจะดูซีด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค

สิ่งตรวจพบ
อาจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในระยะแรกนอกจากมีไข้ประมาณ 38.5-40 องศาเซลเซียส หน้าซีดแต่เปลือกตาไม่ซีด ริมฝีปากแห้ง ฝ่ามือซีด
ในบางรายชีพจรเต้นไม่สัมพันธ์กับไข้ที่ขึ้นสูง มีอาการท้องอืด กดเจ็บบริเวณท้องน้อยข้างขวาหรือใต้ชายโครงขวา

อาจพบจุดแดงคล้ายยุงกัด ที่เรียกว่า โรสสปอต(rose spots) บริเวณหน้าอกหรือหน้าท้องหลังจากมีไข้ได้ 5 วัน และอยู่ได้นาน 3-4 วัน

อาจพบม้ามโต ตับโต ในระยะต่อมา และอาจมีอาการดีซ่านหรือโลหิตจางในรายที่เป็นเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อน
อาจพบอาการแทรกซ้อนถ้าไม่ได้รับการรักษา ที่เป็นอันตรายและพบบ่อยได้แก่ เลือดออกในลำไส้หรือถ่ายเป็นเลือดสดๆ อาจถึงช็อกได้ ลำไส้ทะลุหรือท้องอืดท้องแข็งมักเกิดหลังมีอาการของโรคได้ 2-3 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น โลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไตอักเสบ กระดูกอักเสบเป็นหนอง ข้ออักเสบชนิดต่อเชื้อเฉียบพลัน และโรคทางจิตประสาท

การรักษา
หากมีไข้เกิน 7 วัน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือเกิดการสงสัยควรตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยวิธีตรวจเลือด ทอสอบไวดาล(Widal test) ตรวจเม็ดเลือดขาว หรือเพาะหาเชื้อจากเลือด อุจจาระและปัสสาวะ

การรักษาในผู้ที่เป็นโรคนี้ คือ
1. กินอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เช็ดตัวหรือใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลเมื่อมีไข้สูง ให้วิตามินบำรุงหากกินอาหารไม่ได้นานๆ

2. ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น โคไตรม็อกซาโซลครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ในเด็กในให้ 6 มก./กก/วันของไตรเมโทพริม หรือให้คลอแรมเฟนิคอลวันละ 2 กรัม ในเด็กให้ 50-75 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หรือให้อะม็อกซีซิลลิน วันละ 2 กรัม ในเด็กให้ 50 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ให้ยาต่อจนครบ 14 วัน แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว หากอาการไม่ดีขึ้นใน 4-7 วัน หรือสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนควรนำส่งโรงพยาบาล ในรายที่ดื้อยาอาจให้ยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น ไซโพรฟล็อกซาซิน 500 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน หรือเซฟทริอะโซน(ceftriaxone) 2 กรัม/วัน ฉีดเข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ นาน 7 วัน

ข้อแนะนำ
1. ไข้จะค่อยๆ ลดลงเมื่อได้รับการรักษาติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถ้าใช้คลอแรมเฟนิคอลอาจใช้เวลาอย่างน้อย 4 วัน ถ้าใช้โคไตรม็อกซาโซลอาจใช้เวลา 6-10 วันกว่าไข้จะลด ส่วนอะม็อกซีซิลลินอาจต้องใช้นานกว่า 10 วัน

2. การกลับมาเป็นซ้ำ บางรายแม้ไข้จะหายแล้วอาจกำเริบขึ้นใหม่ได้หลังจากหยุดยาไปประมาณ 2 สัปดาห์ซึ่งอาการไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก ควรให้ยาซ้ำอีกเป็นเวลา 1 สัปดาห์

3. ในบางรายเมื่อหายแล้วอาจมีเชื้อหลบซ่อนอยู่ในถุงน้ำดีโดยไม่มีอาการใดๆ เรียกว่า พาหะของไทฟอยด์ แพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นจากเชื้อที่ออกมาจากอุจจาระ เมื่อตรวจพบเชื้อควรให้ยารักษาโดยใช้โคไตรม็อกซาโซล หรืออะม็อกซีซิลลิน หรือไซโพรฟล็อกซาซิน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากตรวจและยังพบเชื้อในอุจจาระอีกต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาอุงน้ำดีออก

4. ผู้ป่วยที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะคลอแรมเฟนิคอล หากให้ยา 4-7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาบ

5. หากมีไข้สูงนานเกิน 7 วันควรคำนึงถึงโรคอื่นที่นอกเหนือจากไทฟอยด์ด้วย เช่น ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไข้เลือดออก สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส เมลิออยโดซิส บรูเซลโลซิส เป็นต้น แพทย์จึงควรตรวจร่างกายและซักประวัติโดยละเอียดถี่ถ้วน

การป้องกัน
1. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำที่สะอาดเสมอ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอมก่อนเตรียมอาหาร ก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง ถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

2. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย

3. ควรตรวจเชื้อในอุจจาระจากผู้ที่ประกอบอาหารในสถานที่ต่างๆ เป็นครั้งคราวเพื่อค้นหาผู้ที่เป็นพาหะของโรค และควรงดประกอบอาหารจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว

4. การป้องกันด้วยวัคซีน ควรใช้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรค เช่น ผู้ที่ต้องไปยังถิ่นที่มีการระบาดของโรค หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไทฟอยด์

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ทั้งชนิดกินและฉีดซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย
วัคซีนที่ใช้กินชนิดแคปซูลใช้สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และแบบน้ำใช้สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป กินครั้งละ 1 แคปซูลหรือ 1 ซอง วันเว้นวัน 3 ครั้ง กินกับน้ำเย็นห้ามใช้น้ำร้อน กินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง

เนื่องจากวัคซีนชนิดกินเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อ เพียงแต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง(live-attenuated) อาจถูกทำลายได้หากใช้ยาต้านจุลชีพ ควรงดยานี้อย่างน้อยก่อนกินวัคซีนครั้งแรก และ 7 วันหลังกินวัคซีนครั้งสุดท้าย สามารถใช้วัคซีนชนิดกินกระตุ้นได้ทุก 5 ปี หากจำเป็น ส่วนวัคซีนชนิดฉีดให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปี ขนาด 0.5 มล. ครั้งเดียว สามารถกระตุ้นได้ทุก 2 ปี หากมีความจำเป็น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า