สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไซนัสอักเสบ(Sinusitis)

ไซนัสเป็นโพรงอากาศเล็กๆ ในกะโหลกศีรษะ อยู่รอบๆ จมูก มีทางเชื่อมมายังโพรงจมูกหลายจุด จะมีการระบายเมือกที่สร้างในโพรงไซนัสมาที่รูเปิดโพรงจมูกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูกในภาวะปกติ แต่ถ้ารูเปิดโพรงจมูกถูกอุดกั้นจากการเป็นหวัด การติดเชื้อหรือภูมิแพ้ ผนังกั้นจมูกคด มีเนื้องอกในรูจมูก ทำให้เมือกในโพรงไซนัสระบายออกมาไม่ได้จะหมักหมมกลายเป็นอาหารของเชื้อที่ลุกลามจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงไซนัส ทำให้เยื่อบุไซนัสอักเสบบวม ขนอ่อนในโพรงไซนัสสูญเสียหน้าที่ในการขับเมือก มีการสะสมและสร้างเมือกมากขึ้นจนกลายเป็นหนองในโพรงไซนัสทำให้เป็นโรคไซนัสอักเสบไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบแบ่งออกเป็นระยะคือ
-มีอาการน้อยกว่า 30 วัน เป็นชนิดเฉียบพลัน
-มีอาการระหว่าง 30-90 วัน เป็นชนิดกึ่งเฉียบพลัน
-มีอาการมากกว่า 90 วัน เป็นชนิดเรื้อรัง

ไซนัสอักเสบ มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด โรคหวัดภูมิแพ้ เยื่อจมูกอักเสบ ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด รากฟันเป็นหนอง เป็นต้น ไซนัสอักเสบเป็นได้ในคนทุกวัยโดยเฉพาะในเด็ก หรือผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว

สาเหตุ
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน(acute sinusitis) มักเป็นโรคแทรกซ้อนจากหวัดภูมิแพ้ การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น เชื้อที่ทำให้เกิดโรคอาจเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับไข้หวัด เชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ ที่เกิดจากเชื้อรามีเป็นส่วนน้อยมักมีอันตรายร้ายแรงหากเกิดในผู้ป่วยเบาหวาน หรือเอดส์

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง(chronic sinusitis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่พึ่งออกซิเจน สแตฟีโลค็อกคัส แบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน มีส่วนน้อยที่เกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอจิลลัส(aspergillus) ทำให้เกิดไซนัสเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อเชื้อราซึ่งพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ

ไซนัสอักเสบเรื้อรังมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่รักษาไม่ถูกวิธี และจากปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นซ้ำซาก การสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ โรคกรดไหลย้อน โรคเรื้อรังของเหงือกและฟัน ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส เป็นต้น

อาการ
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน  
มักมีอาการปวดใบหน้าบริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบๆ หรือหลังกระบอกตา ปวดฟันตรงบริเวณที่อักเสบ อาการปวดมักเป็นมากในเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มศีรษะเปลี่ยนอิริยาบถ อาจจะปวดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้

ผู้ป่วยมักจะคัดจมูก พูดเสียงขึ้นจมูก น้ำมูกเป็นหนองข้นเหลืองหรือเขียว มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลลงในคอ ต้องคอยขากออกไปซึ่งสร้างความรำคาญให้ผู้ป่วยมาก

อาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู ไอ หายใจมีกลิ่นเหม็น รับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง

ในเด็กมักมีอาการไม่เด่นชัด อาจเป็นหวัดนานกว่าปกติ มีน้ำมูกใสหรือข้นเป็นหนองก็ได้ ไอนานกว่า 10 วันทั้งกลางคืนกลางวัน มีไข้ต่ำๆ หายใจมีกลิ่นเหม็น หรืออาจแสดงอาการของหวัดรุนแรง เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส น้ำมูกข้นเป็นหนอง ปวดบริเวณใบหน้า มีอาการบวมรอบๆ ตาหลังตื่นนอน

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
มีอาการต่อเนื่องนานเกิน 90 วัน คัดแน่นจมูก มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลลงคอ หายใจมีกลิ่นเหม็น รับรู้กลิ่นลดลง มักไม่มีไข้และอาการปวดไซนัส

ในเด็กมักมีอาการไอ น้ำมูกไหล จาม หายใจมีกลิ่นเหม็น เกิดโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือหูชั้นกลางอักเสบซ้ำซาก บางรายมีไซนัสอักเสบเฉียบพลันกำเริบมากกว่า 6 ครั้งในหนึ่งปี ในแต่ละครั้งใช้เวลานานกว่า 10 วัน

สิ่งตรวจพบ
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน  เยื่อบุจมูกบวมแดง เคาะหรือกดแรงๆ บริเวณไซนัสอักเสบจะรู้สึกเจ็บ อาจมีไข้ร่วมด้วยในบางราย ส่วนใหญ่มักพบเพียงข้างเดียว

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง  เยื่อบุจมูกบวมแดง คอหอยแดง เสมหะข้นเหลืองหรือเขียว เคาะหรือกดเจ็บบริเวณไซนัสอักเสบ ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เนื้อเยื่อรอบตาอักเสบ ฝีรอบกระบอกตา กระดูกอักเสบเป็นหนอง

ภาวะแทรกซ้อนที่พบน้อยแต่ร้ายแรง เช่น ประสาทตาอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีสมอง ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

รายที่เป็นเรื้อรัง อาจมีการกำเริบรุนแรงของโรคหืด เป็นถุงน้ำเมือกในไซนัสไปกดทำลายกระดูกที่เป็นผนังของโพรงไซนัสให้บางลง หรือกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น ตา ทำให้มองเห็นเป็นภาพซ้อน มักเกิดกับไซนัสที่บริเวณหน้าผาก

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่างๆ มักเกิดในเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

การรักษา
1. ให้การรักษาตามอาการ อาจช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อที่อักเสบและช่วยระบายหนองออกจากไซนัส ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้เพราะอาจทำให้เมือกในโพรงไซนัสเหนียว ระบายออกยาก เว้นแต่ในรายที่มีอาการมาก อาจให้เพื่อบรรเทาอาการเพียง 2-3 วัน ให้ดื่มน้ำมากๆ สูดดมไอน้ำอุ่น ช่วยระบายหนองด้วยการล้างจมูกกับน้ำเกลือนอร์มัลบ่อยๆ

2. ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ร็อกซิโทรไมซิน หรือโคไตรม็อกซาโซล อาการจะค่อยทุเลาลงหลังได้รับยาไปประมาณ 48-72 ชั่วโมง ควรให้กินยาติดต่อนาน 10-14 วันในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน ควรให้นานอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง ซึ่งบางรายอาจให้นานถึง 12 สัปดาห์

ควรนำส่งแพทย์จากให้ยาปฏิชีวนะ 72 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ดีขึ้น กำเริบ มีภาวะแทรกซ้อน ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นเรื้อรัง อาจต้องเอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้กล้องส่องตรวจ เจาะไซนัสนำหนองไปตรวจหาชนิดของเชื้อ เป็นต้น

ถ้าพบปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวะพื้นฐานก็ให้เปลี่ยนไปใช้กลุ่มใหม่ เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ ดอกซีไซคลีน ไซโพรฟล็อกซาซิน อะซิโทรไมซิน เซฟูร็อกไซม์ เป็นต้น

แพทย์อาจเจาะล้างโพรงไซนัสหากมีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อยา

จำเป็นต้องตรวจหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุและให้การรักษาในรายที่เป็นเรื้อรัง เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด โรคทางทันตกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดด้วยวิธีที่เหมาะสมในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยาหรือเกิดจากเชื้อรา มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือสมอง การผ่าตัดมักได้ผลดีในการบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

ในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน ผลการรักษามักได้ผลดีหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก

ในรายที่เป็นเรื้อรัง ผลการรักษาขึ้นกับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรกและการแก้ไขสาเหตุอื่นๆ ที่พบ

ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่เป็นหวัด มีน้ำมูก เสมหะข้นเหลืองสีเขียว เป็นหวัดนานเกิด 10 วัน เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง อาจเป็นอาการของไซนัสอักเสบควรรีบปรึกษาแพทย์

2. ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ บ่อย ควรแยกจากโรคหวัดภูมิแพ้ มะเร็งในโพรงไซนัส ซึ่งผู้ป่วยมักมีสาเหตุอื่นร่วมด้วยควรส่งตรวจเพื่อสาเหตุที่แท้จริง

3. ผู้เป็นไซนัสอักเสบ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
-ดื่มน้ำมากๆ สูดดมไอน้ำอุ่น ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลบ่อยๆ
-หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ และมลพิษ
-ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เยื่อบุจมูกและโพรงไซนัสบวม
-ในขณะที่เป็นหวัด หวัดภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน หากเลี่ยงไม่ได้ควรกินยาแก้คัดจมูก เช่น สูโดเอฟีดรีน ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนเดินทาง และซ้ำทุก 6 ชั่วโมงระหว่างเดินทางเพื่อป้องกันภาวะอุดกั้นของช่องระบายและรูเปิดไซนัส
-หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระน้ำนานๆ เนื่องจากสารคลอรีนอาจทำให้เยื่อบุจมูกและโพรงไซนัสเกิดการระคายเคืองได้
-เมื่อเป็นหวัดให้ดื่มน้ำมากๆ และสั่งน้ำมูกออกทีละข้างบ่อยๆ
-ควรระวังไม่ให้เป็นหวัด
-กินยาตามแพทย์สั่งและรับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง
-ไม่ควรรักษากันเองด้วยวิธีเก่าๆ เช่น ใช้สารกรดบางอย่างหยอดจมูกเพื่อให้น้ำมูกไหลออกมามากๆ อาจทำให้เยื่อบุจมูกเกิดการระคายเคือง อักเสบ และอาจทำให้จมูกพิการได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า