สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

ไซนัส
ไซนัสอักเสบพบได้เสมอในเด็ก มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัด โดยเฉพาะหวัดเรื้อรัง หรือเกิดตามหลังทอนซิลอักเสบ คออักเสบ ฝีของรากฟัน หรือการอักเสบอื่นๆ ในช่องปาก คอ จมูก สาเหตุของโรคมีทั้งจากไวรัสและแบคทีเรีย ไซนัสอักเสบจากเชื้อไวรัสพบได้บ่อยมากคือ พบในคนไข้เกือบทุกคนที่เป็นหวัดแต่ไม่ค่อยมีความสำคัญเนื่องจากเป็นโรคที่หายได้เองพร้อมๆ กับหวัด นอกจากจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญได้แก่ pneumococci, H.influenzae (type b) รองลงมาคือ group A streptococci และ Staphylococcus aureus ในกรณีที่เป็นเรื้อรังพบว่าเชื้อ anaerobic เป็นสาเหตุได้

โรคแทรกซ้อน ที่พบได้คือ
1. Acute orbital และ periorbital cellulitis โดยเฉพาะมีการติดเชื้อที่ลุกลามจาก ethmoidal sinus ซึ่งอาจลุกลามเป็น orbital abscess ได้
2. Cavernous sinus thrombosis
3. Brain abscess
4. Optic neuritis ทำให้ตาบอด
5. Osteomyelitis

อาการและอาการแสดง
ในเด็กเล็กไม่มีอาการเฉพาะ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีไข้ (นอกจากในรายที่มีการอักเสบรุนแรง) มีน้ำมูกหรือเสมหะในคอ ไอมานานโดยหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด อาการแน่นจมูก คัดจมูก มีกลิ่นเหม็นในจมูก อาการปวดศีรษะหรือปวดบริเวณไซนัสที่อักเสบอาจพบได้ในเด็กโต ตรวจร่างกายจะพบว่ามี postnasal discharge หรือ posterior nasal drip ลักษณะใสหรือข้นจนเป็นหนองขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ส่องดู ในช่องจมูกจะพบ secretion ออกมาจากรูเปิดของไซนัส เคาะเจ็บหรือปวดบริเวณไซนัส

การถ่ายภาพรังสีของไซนัสจะช่วยในการวินิจฉัยได้ดีในเด็กโต และผู้ใหญ่ แต่ในเด็กเล็กกว่า 5 ปี ซึ่งไซนัสยังเจริญไม่เต็มที่การแปรผลภาพรังสีทำได้ยาก และผิดพลาดบ่อย จึงไม่มีประโยชน์นัก

การรักษา
1. ยาปฏิชีวนะ ampicillin หรือ Amoxicillin เป็นยาที่เหมาะสมเช่น เดียวกับโรคหูชั้นกลางอักเสบ

2. ยาลดไข้ แก้ปวด ได้แก่ acetaminophen การใช้ความร้อนประคบ บริเวณไซนัสจะช่วยลดความเจ็บปวดลงได้เช่นกัน

3. Antihistamine, decongestant ช่วยลดการบวมของเยื่อบุจมูก ทำให้รูเปิดของไซนัสเปิดระบายหนองออกได้สะดวกขึ้น

4. Antral lavage การเจาะระบายหนองจากไซนัสโดยทั่วไป ไม่จำเป็น ต้องทำ นอกจากให้การรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล หรือในกรณีที่มีอาการรุนแรงและกรณีต้องการหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค

5. หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีโอกาสเป็นโรคมากกว่าปกติ เนื่องจากมีการบวมของเยื่อจมูก ปิดรูเปิดของไซนัส ทำให้มีการคั่งของ secretion ในโพรงไซนัส และการติดเชื้อตามมาได้

ที่มา:พรพิมล  พฤกษ์ประเสริฐ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า