สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไข้ผื่นกุหลาบในทารก/ส่าไข้(Roseola infantum)

ไข้ผื่นกุหลาบหรือหัดดอกกุหลาบ เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษได้หลายชื่อ คือ roseola, roseola infantum, exanthema subitum และ sixth disease) พบในเด็กเล็กอายุ 3 เดือน ถึง 3 ปี พบบ่อยในช่วงอายุ 6-12 เดือน พบน้อยมากในอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะเป็นไข้ร่วมกับมีผื่นขึ้น ที่โบราณเรียกว่า ส่าไข้ เพราะเด็กเล็กที่เป็นส่าไข้มักมีสาเหตุจากไข้ผื่นกุหลาบ ไข้ผื่นกุหลาบ

สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ human herpesvirus type 6(HHV6) เป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า human herpesvirus type 7 (HHV7) แบบเดียวกับไข้หวัด ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 5-15 วัน

อาการ
มีไข้สูงเฉียบพลัน ตัวร้อนตลอดเวลา อาจมีอาการชักจากไข้สูง ในเด็กบางรายจะมีอาการหงุดหงิด งอแง เบื่ออาหารเล็กน้อย เจ็บคอ น้ำมูกใส ไอ ท้องเดินเล็กน้อย แต่ในเด็กส่วนใหญ่มักจะยังร่าเริง ดื่มนม ดื่มน้ำ และกินอาหารได้ดี ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย

จะมีไข้อยู่ประมาณ 3-5 วัน แล้วก็ลดเป็นปกติ หลังจากไข้ลดไม่กี่ชั่วโมงจะมีผื่นเล็กๆ สีแดงคล้ายกุหลาบขึ้น เริ่มที่หน้าอก หลัง ท้อง คอ และแขน อาจขึ้นที่ใบหน้าหรือขาก็ได้ ไม่มีอาการคันจากผื่น เด็กจะแข็งแรงเป็นปกติทุกอย่าง ผื่นจะเป็นอยู่ไม่กี่ชั่วโมง-2 วัน แล้วจะจางหายไปอย่างรวดเร็ว

บางรายจะยากต่อการวินิจฉัย เพราะจะมีอาการไข้สูงเพียงอย่างเดียว
ไม่มีผื่นขึ้นหรือมีผื่นแบบจางๆ เท่านั้น

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ประมาณ 39.5-40 องศาเซลเซียสในระยะก่อนมีผื่นขึ้น ตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู ท้ายทอย เยื่อบุตาแดง หนังตาบวมเล็กน้อย พบผื่นราบสีแดงขนาด 2-5 มม. ที่ลำตัวและแขน ผื่นอาจมีลักษณะนูนเล็กน้อย หรือมีวงสีแดงจางๆ รอบๆ ผื่นแดง ในระยะไข้ลดลงแล้ว

ภาวะแทรกซ้อน
ร้อยละ 6-15 ของผู้ป่วยพบเกิดอาการชักจากไข้นานประมาณ 2-3 นาที นับเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในทารก ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ตับอักเสบแทรกซ้อน เป็นต้น ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไขกระดูกไม่ทำงาน มักเกิดกับเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

การรักษา
1. ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เมื่อมีไข้สูง กินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพรินเพราะเสี่ยงการเกิดโรคเรย์ซินโดรม ให้เช็ดตัวระบายความร้อนบ่อยๆ ให้ดูแลแบบชักจากไข้ถ้ามีอาการชักร่วมด้วย
2. เมื่อไข้ลดลงและมีผื่นขึ้น ไม่ต้องให้ยาอะไรถ้าเด็กมีท่าทางสบายดี
3. การทดสอบทางน้ำเหลืองจะทำเมื่อจำเป็นต้องหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไวรัสก่อโรค แต่การวินิจฉัยทั่วไปจะดูจากลักษณะและอาการแสดงเป็นสำคัญ

ข้อแนะนำ
1. พบโรคนี้ได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก หากพบว่ามีไข้สูงตัวร้อนตลอดเวลา แต่ยังร่าเริงดีควรคำนึงถึงโรคนี้ โดยเฉพาะเมื่อเด็กกลับเป็นปกติดีหลังไข้ลดและมีผื่นขึ้น
2. พ่อแม่มักจะพาลูกไปพบแพทย์หลังจากไข้ลดและมีผื่นขึ้นแล้ว เพราะกลัวจะเป็นหัด ซึ่งโรคนี้หลังผื่นขึ้นเด็กจะหายตัวร้อนและสบายดี ผิดกับโรคหัดที่ขณะผื่นขึ้นจะมีไข้สูงต่อไปอีกหลายวัน ผื่นของโรคนี้ขึ้นที่ลำตัวก่อน ขึ้นเป็นผื่นเล็กๆ แยกกัน ในขณะที่หัดจะขึ้นตามใบหน้าก่อนแล้วค่อยขึ้นตามส่วนล่างลงมาและผื่นมักแผ่รวมกันเป็นแผ่นใหญ่
3. โรคนี้มักหายได้เองใน 3-5 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ ไม่มีอันตราย นอกจากเกิดภาวะแทรกซ้อนในเด็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออาการชักจากไข้สูง
4. เมื่อเป็นโรคนี้แล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีก เว้นแต่บางรายที่อาจมีเชื้อแฝงอยู่หลังจากหายแล้ว ในระยะต่อมาอาจกำเริบซ้ำได้

การป้องกัน
เมื่อเด็กเป็นโรคควรปฏิบัติดังนี้
1. แยกผู้ป่วยจนพ้นระยะติดต่อตั้งแต่ 2 วันก่อนมีไข้ ถึง 2 วันหลังจากไข้ลด
2. อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย
3. หมั่นล้างมือด้วยสบู่เพื่อขจัดเชื้อบ่อยๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า