สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไขมันในเลือดผิดปกติ

ไขมันในเลือดสูง(Hyperlipidemias)
ไขมันในเลือดผิดปกติ(Dyslipidemias)ไขมันในเลือดสูง

ภาวะผิดปกติของไขมันในเลือดมีหลายแบบและมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ดังนี้

ไขมันในเลือดสูง(hyperlipidemias) เป็นภาวะคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หรือสูงทั้งสองอย่าง

คอเลสเตอรอลในเลือดสูง(hypercholesterolemia) เป็นภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเพียงอย่างเดียว

ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (hypertriglyceridemia) เป็นภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเพียงอย่างเดียว

ไลโพโปรตีนในเลือดผิดปกติ (dyslipoproteinemia) เป็นภาวะที่มีไลโพโปรตีนชนิดต่างๆ ในเลือดอาจจะสูงหรือต่ำกว่าปกติก็ได้ เช่น hyperbetalipoproteinemia หมายถึง ภาวะแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง hypoalphalipoproteinemia หมายถึง ภาวะเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ

พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งในภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง และภาวะเอชดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ ซึ่งมักจะทำให้เกิดโรคได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ หากพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วยก็จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากยิ่งขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ พบได้มากในผู้ที่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ คนอ้วน ชอบกินอาหารที่มีไขมันมาก ผู้ที่ทำงานเบาๆ ไม่ออกกำลังกาย โรคนี้พบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

เกณฑ์การตัดสินภาวะไขมันผิดปกติในเลือดตามเกณฑ์ NCEP III

ระดับไขมันในเลือด(มก./ดล.) ความหมาย
แอลดีแอลคอเลสเตอรอล(LDL-C หรือ LDL)
น้อยกว่า 100 ปกติ
100-129 ใกล้เคียงปกติ
130-159 ก้ำกึ่ง(เริ่มสูง)
160-189 สูง
มากกว่าหรือเท่ากับ 190 สูงมาก
คอเลสเตอรอลรวม(TC)
น้อยกว่า 200 ปกติ
200-239 ก้ำกึ่ง(เริ่มสูง)
มากกว่าหรือเท่ากับ 240 สูง
เอชดีแอลคอเลสเตอรอล(HDL-C หรือ HDL)
น้อยกว่า 40 ต่ำ
มากกว่าหรือเท่ากับ 60 สูง
ไตรกลีเซอไรด์ (TG)
น้อยกว่า 150 ปกติ
150-199 ก้ำกึ่ง(เริ่มสูง)
200-499 สูง
มากกว่าหรือเท่ากับ 500 สูงมาก

หมายเหตุ
NCEP III = รายงานข้อเสนอแนะของ National Cholesterol Education Program (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ครั้งที่ 3
HDL-C = High-density lipoprotein cholesterol
LDL-C = Low-density lipoprotein cholesterol
TC = Total cholesterol
TG = Triglyceride

สาเหตุ
1. ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติชนิดปฐมภูมิ (primary dyslipidemia)
มักไม่มีสาเหตุชัดเจนจากความผิดปกติที่เกิดขึ้น มักมีความเกี่ยวข้องทางกรรมพันธุ์ ไม่สามารถทำให้ระดับไขมันในเลือดเป็นปกติได้แม้ผู้ป่วยจะมีรูปร่างสมส่วนหรือผอมและควบคุมอาหารอย่างเต็มที่แล้วซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยมีความผิดปกติของไขมันในเลือดหลายแบบร่วมกัน

2. ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติชนิดทุติยภูมิ (secondary dyslipidemia) มีสาเหตุดังนี้
-คอเลสเตอรอลในเลือดสูงและ/หรือแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำดีในโรคตับ โรคไตเนโฟรติก ภาวะขาดไทรอยด์ โรคคุชชิง การใช้ยาขับปัสสาวะ การใช้ยาโพรเจสเทอโรน หรือไซโคลสปอรีน

-ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง สาเหตุอาจเกิดได้จากความอ้วน ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย การตั้งครรภ์ เบาหวาน โรคคุชชิง ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคตับอักเสบเฉียบพลัน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เอสแอลอี โลหิตเป็นพิษ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด การใช้ยาเอสโทรเจน สตีรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาปิดกั้นบีตา ยาต้านไวรัสเอชไอวีกลุ่ม protease inhibitors เป็นต้น

-เอชดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ อาจเกิดจากสาเหตุความอ้วน การสูบบุหรี่ ใช้ยาปิดกั้นบีตา ใช้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน โพรเจสเทอโรน หรืออะนาบอลิกสตีรอยด์ ภาวะขาดอาหาร ขาดการออกกำลังกาย

3. ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติจากอาหาร อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงหรือมีไขมันชนิดอิ่มตัวมาก เช่น ไขมันสัตว์ เนย เนื้อติดมัน หนังสัตว์ เครื่องในสัตว์ หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง อาหารทะเล เหล่านี้เป็นอาหารที่ทำให้แอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง

ส่วนอาหารที่ให้พลังงานเกินความต้องการของร่างกาย อาหารพวกแป้ง น้ำตาล ของหวาน ผลไม้รสหวาน น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของทอดด้วยน้ำมันพืชซ้ำหลายๆ ครั้ง ขนมเบเกอรี่ เนยเทียม เหล่านี้เป็นอาหารที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง

อาการ
ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเช็กสุขภาพหรือจากภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก ปวดน่องเมื่อเดินมากๆ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือองคชาตไม่แข็งตัว อัมพาต เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใดเมื่อตรวจร่างกาย แต่ตอาจพบตุ่มหรือแผ่นเนื้อเยื่อไขมันลักษณะสีเหลืองบนผิวหนังบริเวณหนังตา คอ หลัง สะโพก เรียกว่า กระเหลือง ในรายที่มีภาวะไขมันสูงมากๆ อาจทำให้เส้นเอ็นมีลักษณะหนาตัวได้ถ้าพบที่บริเวณเส้นเอ็น เช่น เอ็นร้อยหวาย เอ็นบริเวณหลังมือ เป็นต้น และอาจพบลักษณะวงแหวนสีขาวๆ ตรงขอบกระจกตาดำ ที่เรียกว่า เส้นขอบกระจกตาวัยชรา แต่การตรวจเลือดพบว่ามีไขมันสูงหรือผิดปกติคือสิ่งที่สำคัญ

ภาวะแทรกซ้อน
ทุกส่วนของร่างกายอาจเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และหลอดเลือดตีบตัน อาจทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดถ้าเกิดที่หลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อมถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมอง ทำให้ปวดน่องเมื่อเดินมากๆ เป็นตะคริว ปลายเท้าเย็น เป็นแผลเรื้อรังที่เท้า หรือปวดขาหรือปลายเท้าถ้าเกิดที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา หรือในผู้ชายอาจทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวถ้าเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้น อาจทำให้เกิดภาวะไขมันสะสมในตับ และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันในผู้ที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก

การรักษา
จำเป็นต้องตรวจดูระดับไขมันในเลือดในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติทางกรรมพันธุ์ของโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตหรือภาวะไขมันในเลือดสูง อ้วน ขาดการออกกำลังกาย ชอบกินอาหารมันๆ ดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่ มีอาการผิดปกติ เช่น พบกระเหลือง หรือเป็นโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด อัมพาต เป็นต้น

สำหรับคนทั่วไปเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ควรตรวจดูระดับไขมันในเลือดอย่างน้อยทุกๆ 5 ปี

แพทย์จะทำการตรวจประเมินหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มอาการเมตาบอลิก รวมทั้งภาวะแทรกซ้อน ให้การดูแลรักษา ปรับพฤติกรรม ให้ยารักษาตามสภาพร่วมกับภาวะเสี่ยงที่พบ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น

อาจจะยังไม่ต้องให้ยาลดไขมันในรายที่ระดับไขมันสูง เพียงแต่ให้ผู้ป่วยลองปรับพฤติกรรมนาน 3-6 เดือน หากยังควบคุมไม่ได้จึงค่อยใช้ยารักษา ดังนี้

-เลือกใช้ยาลดไขมันตามชนิดของความผิดปกติ เช่น ในรายที่มีแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูงหรือคอเลสเตอรอลรวมสูง โดยไตรกลีเซอไรด์ปกติ มักจะใช้ยากลุ่มสแตติน กลุ่มเรซิน หรือกรดนิโคตินิก ชนิดใดชนิดหนึ่งก่อน หากมีค่าสูงมากๆ หรือคุมไม่ได้ก็ให้สแตตินร่วมกับยากลุ่มเรซินหรือโพรบูคอล แต่ถ้ามีไตรกลีเซอไรด์สูงร่วมด้วยก็ให้สแตตินร่วมกับยากลุ่มไฟเบรต หรือกรดนิโคตินิก

ส่วนในรายที่มีแอลดีแอลปกติ คอเลสเตอรอลรวมปกติแต่มีไตรกลีเซอไรด์สูงเพียงอย่างเดียว ก็มักจะให้ยากลุ่มไฟเบรตหรือกรดนิโคตินิก

-ควรตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไตก่อนให้ยากลุ่มสแตตินและไฟเบรต ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ถ้าพบว่าเอนไซม์ตับมีค่ามากกว่า 3 เท่าของค่าปกติ ควรลดขนาดของยากลุ่มไฟเบรตถ้าพบว่าครีอะตินีนมีค่ามากกว่า 2 มก./ดล.แต่ควรให้ยากลุ่มนี้หากครีอะตินีนมีค่ามากกว่า 4 มก./ดล.

-ควรติดตามตรวจหาระดับไขมันในเลือดหลังให้ยาลดไขมันแล้ว 6-12 สัปดาห์ และทุก 3-6 เดือนควรได้รับการตรวจซ้ำ

-ควรตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์ตับหลังจากให้ยากลุ่มสแตตินหรือไฟเบรตไปแล้ว 6-12 สัปดาห์ และควรตรวจซ้ำปีละ 1-2 ครั้ง แต่ควรตรวจซ้ำทุก 3-6 เดือนหากใช้ยาขนาดสูงหรือใช้ยาลดไขมันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป และให้หยุดยาหากพบว่าค่าเอนไซม์ตับสูงมากกว่า 3 เท่าของค่าปกติ

ควรตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์ CPK หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังใช้ยาลดไขมัน ถ้ามีค่ามากกว่าปกติ 10 เท่า แสดงว่ากล้ามเนื้อมีการอักเสบอย่างรุนแรง

-ควรติดตามตรวจเอนไซม์ตับทุก 1-2 เดือน ในระยะ 6 เดือนแรกที่ให้ยากลุ่มสแตตินร่วมกับไฟเบรต เนื่องจากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบและภาวะกล้ามเนื้อถูกทำลายได้มากกว่าปกติ

ข้อแนะนำ
1. เนื่องจากภาวะไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ มักไม่มีอาการแสดง จึงควรตรวจเช็กไขมันในเลือดเป็นระยะ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงแม้ว่าจะมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี

การตรวจเช็กไขมันในเลือด ควรอดอาหาร 12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย และระยะก่อนตรวจ 3 สัปดาห์ น้ำหนักตัวต้องคงที่ บริโภคอาหารและเครื่องดื่มและทำกิจวัตรประจำวันอย่างปกติเพื่อดูว่าพฤติกรรมเหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดหรือยัง ถ้าผลเลือดปกติในผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจทุก 5 ปี ส่วนกลุ่มเสี่ยงควรตรวจซ้ำทุก 1-3 ปี

2. แม้ว่าคนอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินจะมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะไขมันในเลือดผิดปกติก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ หรือผอมจะไม่เป็นโรคนี้ หากมีปัจจัยเสี่ยงก็ทำให้เกิดโรคได้ ถ้าไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคก็อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์โดยเฉพาะในผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงมาก

3. เพื่อควบคุมระดับไขมันให้ได้ตามเป้าหมายควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมกันไปด้วย

4. การปรับพฤติกรรมพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาโรคนี้ หากยังไม่ได้ผลให้ใช้ยาลดไขมันควบคู่กันไปด้วย ผู้ป่วยจึงควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องโดยแพทย์จะทำการเลือกใช้ยาและปรับขนาดยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย

การป้องกัน
ระวังอย่าให้อ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดอาหารพวกไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอล กินผักผลไม้และเมล็ดธัญพืชให้มาก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จัด ไม่กินน้ำตาลหรือของหวานมากเกินไป

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า