สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ(Aplastic anemia)

ในโพรงกระดูกจะมีไขกระดูกอยู่ทั่วร่างกายมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ

หากเกิดความผิดปกติของไขกระดูกจะทำให้สร้างเม็ดเลือดได้น้อยลง หรือสร้างไม่ได้เลย ถ้าร่างกายขาดเม็ดเลือดแดงจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ถ้าขาดเม็ดเลือดขาวจะทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย ถ้าขาดเกล็ดเลือดจะทำให้มีเลือดออกง่าย เรียกว่า โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือโรคโลหิตจางอะพลาสติก

สามารถพบโรคนี้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้

สาเหตุ
บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ส่วนที่มีสาเหตุแน่ชัดอาจเกิดจากพิษของยาหรือสารเคมี ยาที่สำคัญได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล เฟนิลบิวตาโซน ซัลฟา เฟนิโทอิน คาร์บามาซีพีน เอซีที เป็นต้น หรืออาจเกิดจากยาฆ่าแมลง สารเคมีที่มีสูตรเบนซิน เช่น สีทาบ้าน น้ำยาลบสี น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด จากทินเนอร์ รังสีต่างๆ รังสีบำบัด หรือเคมีบำบัด เหล่านี้เป็นต้น

อาการ
ส่วนใหญ่จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีจุดพรายย้ำตามตัว มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา เลือดออกออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกในตา เลือดออกในสมองเป็นต้น

อาจทำให้มีไข้เรื้อรังร่วมกับการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ จากโรคติดเชื้อร่วมด้วย ตับ ม้าม หรือต่อมน้ำเหลืองจะไม่โตในผู้ป่วยโรคนี้ ถ้าโตอาจเป็นอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย

การตกเลือด หรือการติดเชื้อรุนแรงจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษอาจทำให้ผู้ป่วยถึงตายได้

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่ามีอาการไข้ ซีด มีจุดแดงพรายย้ำขึ้นตามตัว มีเลือดออกจากที่ต่างๆ

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตกเลือด หรือติดเชื้อรุนแรงจนทำให้โลหิตเป็นพิษถึงตายได้

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง หากเกิดความสงสัย แพทย์มักวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด ซึ่งมักจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อย เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจต่ำกว่า 2,000 ตัว/ลบ.มม. ซึ่งโดยปกติจะมีอยู่ถึง 5,000-10,000 ตัว) และเกล็ดเลือดต่ำกว่า 30,000 ตัว/ลบ.มม. ปกติจะมีอยู่ 200,000-400,000 ตัว ตรวจไขกระดูกพบว่าจำนวนเซลล์อ่อนของเม็ดเลือดทุกชนิดลดลงมาก จะพบเป็นไขมันและเยื่อพังผืดกระจายอยู่แทน

รักษาโดยการให้เลือดและเกล็ดเลือดถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนควรให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

ในรายที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 500 ตัว/ลบ.มม. เกล็ดเลือดต่ำกว่า 20,000 ตัว/ลบ.มม.หรือเป็นรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 3 เดือน หรืออาจถึง 1 ปี

ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีที่เกิดภาวะนี้ การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีการรักษาที่มักได้ผลดี แต่ในรายที่อายุเกิน 50 ปี หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้จะให้แอนติไทโมไซต์โกลบูลิน ขนาดวันละ 40 มก./กก. นาน 4 วัน ร่วมกับเพร็ดนิโซโลนขนาดวันละ 1-2 มก./กก. แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงเพื่อป้องกันการแพ้ ในบางรายอาจให้ ไซโคลสปอรีน ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย โดยให้ขนาด 6 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง นาน 6 เดือน และให้การรักษาตามอาการที่เกิด เช่น ถ้ามีโรคติดเชื้อก็ให้ยาปฏิชีวนะ ถ้ามีเลือดออกมากหรือซีดก็ให้เลือด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสารเคมีหรือยาที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของโรค

ข้อแนะนำ
1. ควรหลีกเลี่ยงยาและสารเคมีที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ และไม่ควรใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ
2. ควรให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยให้มีความอดทนในการติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้มีทางรักษาให้หายขาดได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า