สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคไตเนโฟรติก(Nephrotic syndrome)

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคไตเรื้อรังชนิดหนึ่ง ในบางครั้งแพทย์อาจเรียกว่า โรคไตเรื้อรัง มักมีอาการแบบเรื้อรัง มีโอกาสเป็นๆ หายๆ บ่อย พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย แต่จะพบเป็นมากในเด็กอายุ 1 ½ -5 ปีโรคไตเนโฟรติก

สาเหตุ
เพราะมีความผิดปกติของหน่วยไตซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ที่ทำหน้าที่กรองปัสสาวะ ทำให้ร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางปัสสาวะจนระดับโปรตีนในเลือดต่ำลงจึงเกิดอาการตัวบวมขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติอย่างแน่ชัด อาจมีประวัติเป็นโรคหน่วยไตอักเสบมาก่อนในบางราย หรืออาจพบร่วมกับโรคเบาหวาน เอสแอลอี โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงรุนแรง โรคเรื้อน ซิฟิลิส มาลาเรีย ตับอักเสบจากไวรัสบีหรือซี ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว แพ้พิษงูหรือผึ้งต่อย แพ้สารหรือยาบางชนิด หรือเกิดจากสารพิษโลหะหนัก

อาการ
มักจะมีอาการเพิ่มขึ้นทีละน้อยจากอาการตัวบวม ทั้งที่หน้า หนังตา ท้อง และเท้า ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นได้ชัดว่าเวลาตื่นนอนมีหนังตาบวม ปัสสาวะมีสีปกติแต่ออกมาน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยอาจทำงานหรือเดินเหินได้ปกติแต่มักจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แต่ไม่มีไข้ นอนราบได้

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการหน้าบวม หนังตาบวม เท้าบวมกดบุ๋ม ท้องบวม ภาวะปอดบวมน้ำ ฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด มักตรวจพบสารไข่ขาวขนาด 3+ ถึง 4+ในปัสสาวะ อาจมีอาการซีดร่วมด้วยถ้าเป็นนานๆ

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร เช่น ภาวะขาดโปรตีน ผมและเล็บเปราะ ผมร่วง ภาวะโพแทสเซียมต่ำ ภาวะแคลเซียมต่ำ เป็นต้น ในรายที่เป็นเรื้อรัง

เนื่องจากการสูญเสีย อิมมูโนโกลบูลิน ออกทางปัสสาวะร่างกายอาจมีภูมิคุ้มกันลดลง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นฝี พุพอง ปอดอักเสบ เยื่อบุท้องอักเสบ กรวยไตอักเสบ และอาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้ถ้าเป็นรุนแรง

เนื่องจากร่างกายมีสารกระตุ้นการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้นจึงอาจเกิดภาวะเลือดแข็งตัวง่าย และอาจทำให้เกิดภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงเนื่องจากสูญเสียสารในการละลายลิ่มเลือดไป

อาจมีภาวะไตวายแทรกซ้อนจนกลายเป็นไตวายระยะท้ายภายใน 5-20 ปีในรายที่เป็นรุนแรง

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากมีความสงสัยว่าจะเกิดโรค มักตรวจพบระดับสารไข่ขาวในเลือดต่ำ ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และมีสารไข่ขาวในปัสสาวะมาก เมื่อแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุที่พบร่วมด้วยแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม

ให้รักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย งดยาที่แพ้ เป็นต้น

แต่แพทย์มักจะให้สตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน วันละ 16-24 เม็ด หรือขนาดวันละ 1-2 มก./กก. สำหรับเด็ก และนัดไปตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นประจำในรายที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

เมื่ออาการดีขึ้นจากการตรวจพบว่าสารไข่ขาวในเลือดมีระดับสูงขึ้น และสารไข่ขาวในปัสสาวะลดน้อยลง อาการบวมลดลง ให้ค่อยๆ ลดยาลงทีละน้อย ผู้ป่วยอาจต้องกินยาอยู่นานเป็นเวลา 2-3 เดือน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องให้ยาขับปัสสาวะเพิ่มอีกชนิดหนึ่ง เช่น ฟูโรซีไมด์ วันละ 1-2 เม็ด ถ้ายังไม่ได้ผลอาจต้องหาสาเหตุและชนิดของโรคด้วยการเจาะเนื้อไตออกพิสูจน์ และให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ ไซโคลสปอริน แต่ควรให้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ผลการรักษามักขึ้นอยู่กับสาเหตุและชนิดของโรค หากพบว่าเป็นชนิดเล็กน้อยจากการตรวจชิ้นเนื้อซึ่งมักพบมากในเด็กก็อาจจะหายขาดได้ แต่บางรายเมื่ออาการดีขึ้นและหยุดยาก็อาจกำเริบขึ้นมาใหม่ได้ในภายหลังอาจต้องกินยานาน 6 เดือน ถึง 1 ปีจึงจะหายขาดได้ มีเพียงส่วนน้อยที่จะกลายเป็นไตวายตามมา แต่หากเป็นชนิดร้ายแรงอาจจะรักษาไม่ได้ผลและเกิดภาวะไตวายแทรกซ้อนถึงเสียชีวิตได้

ข้อแนะนำ
1. ในรายที่เป็นโรคนี้แบบเรื้อรังอาจต้องใช้เวลารักษานานเป็นปี ผู้ป่วยควรติดต่อรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด

2. ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้มากๆ งดอาหารเค็มเพื่อลดอาการบวม กินอาหารพวกโปรตีนให้มากๆ ในระหว่างการรักษา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า