สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคในประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการจัดบริการทางการสาธารณสุข

ความเกี่ยวข้องของสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ กับการเกิดปัญหาสาธารณสุข

สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เป็นสังคมที่มีการผลิตเป็นแบบอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ที่มีการจัดองค์กรผลิตที่กระชับ และขยายวง ใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และมีการใช้สารเคมีกันมาก โดยในส่วนของสังคมที่มีการผลิตในภาคเกษตรกรรมก็เป็นแบบเกษตรกรรมยุคใหมที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง และมีการใช้สารเคมีและเครื่องจักรมากกว่าการผลิตแบบเดิม

ในสังคมอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาเอเซียทุกประเทศจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตร เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เป็นสังคมการผลิตในรูปโรงงานอุตสาหกรรม มีการหนาตัวของประชากร เป็นแบบชุมชนเมือง โครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณูปโภค และระบบบริการทางสาธารณสุขมักไม่ได้ เตรียมการรองรับการขยายตัวที่ไร้แบบแผนของชุมชน และการเกิดเมืองอย่างไร้ผัง ทำให้ปัจจัยจำเป็นในการดำเนินชีวิตขาดแคลน และมีปัญหาการกระจายบริการที่สำคัญ เช่นบริการสาธารณสุข ถึงแม้จะเป็นสังคมที่
มีเครื่องใช้ และมีเทคโนโลยีในการดำเนินชีวิตอย่างที่เรียกว่า Civilization ก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากความขาดแคลน ภาวะแก่งแย่ง ส่ง เสริมให้เกิดช่องว่างในด้านต่างๆ ขาดพื้นที่ใช้สอย ขาดบริการจำเป็น เกิดชุมชนแออัด ปัญหาสังคมได้แก่ปัญหาเด็ก เยาวชน ปัญหาโจรกรรม อาชญากรรม และปัญหาขยะ การกำจัดนํ้าเสีย การกำจัดสิ่งปฏิกูล การกำจัดสารพิษ และกากรังสีเหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนต่างๆ ได้แก่ มลพิษทางนํ้า มลพิษทางอากาศ (ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และการจราจร) มลพิษทางดิน มลพิษทางเสียง และหลายท่านเรียก ”มลพิษทางอารมณ์” นอกจากนั้นการมีสารเสพติด สารระเหย สุรา ยาม้า และสิ่งเสพติดต่างๆ ที่มากขึ้น ตลอดจนพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่เปลี่ยนไป ความเชื่อที่เปลี่ยนไป มีพฤติกรรมทางเพศที่ส่งเสริมปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา เป็นปัจจัยก่อโรคที่สำคัญในสังคมอุตสาหกรรมแบบใหม่ ซึ่งถ้าพิจารณาจากประเทศไทย ก็จะเห็นว่ารูปแบบของการเกิดโรคเปลี่ยนไป อัตราตายด้วยอุบัติเหตุ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
และหลอดเลือด โรคจากสารพิษ โรคจากการทำงาน โรคจากมลพิษและโรคไม่ติดต่ออื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญที่เป็นโรคของพฤติกรรมสุขภาพ เช่น เอดส์ กามโรค และโรคติดต่อที่เคยควบคุมได้บางโรคก็กลับระบาดซ้ำมีรายงานโรคเดิมกันใหม่ โดยเป็นรายงานที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวน และอัตรา เช่นโรคใหลตาย
เเละการขยายตัวของปัญหาสุขภาพจิต

โรคที่พบบ่อยในประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่
1. กลุ่มโรคจากสารพิษ ได้แก่
-โรคพิษตะกั่ว
-โรคพิษแคดเมียม (อิไต อิไต itai Itai)
-โรคพิษปรอท (มินามะตะ Minamata)
-โรคพิษคาร์บอนมอนนอกไซด์
-โรคพิษสารตัวทำละลาย
-โรคพิษเบนซีน
-โรคพิษอาร์เซนิค
-โรคพิษเมธิลโบรไมด์
-โรคพิษฟอร์มาลดีไฮด์
-โรคพิษอื่นๆ รวมถึงพิษสารกำจัดแมลง และเคมีในบ้าน

2. กลุ่มโรคปอดอักเสบจากฝุ่น และโรคปอดอักเสบจากการทำงาน
-นิวโมโคนิโอซิส (Pneumoconiosis)
– Hard metal lung
-ซิลิโคซิส (SiIicosis)
-บิสสิโนซิส (Byssinosis)
-ซิเดอโรซิส (Siderosis)
-แอสเบสโทซิส (Asbestosis)
-บาแกสโซซิส (Bagassosis)
-โรคปอดอื่นๆ

3. กลุ่มโรคประสาทเสื่อมจากเสียงดัง ( Noise induced hearing loss)
4. กลุ่มการบาดเจ็บและตายจากเครื่องจักร รวมถึงการถูกสิ่งของตกใส่ กระแทก ตกจากที่สูง
5. กลุ่มโรค และการบาดเจ็บจากการระเบิดต่างๆ  ที่มีรายงานในประเทศไทย เช่นกรณีท่าเรือคลองเตย กาซชีวภาพระเบิดในโรงงานทำไก่ส่งออกนอก ระเบิดที่พังงา ถังแก๊สระเบิด และอื่นๆ
6. กลุ่มโรค และปัญหาสุขภาพจิต พบได้ต่างๆ กัน รวมถึงภาวะเครียดจากการทำงาน การฆ่าตัวตาย
7. กลุ่มโรคติดต่อสำคัญ ได้แก่ เอดส์ และกามโรค
8. กลุ่มโรคทางสังคม ได้แก่ ปัญหาจากการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การติดยา และสารเสพติด และการถูกฆ่า การจัดบริการทางสาธารณสุข

ต้องมีทั้งบริการทุกระยะตั้งแต่ยังไม่ป่วย ป่วยเล็กน้อย ป่วยมาก และทั้งทางกาย และจิตใจ

1.บริการด้านการรักษาทางเวชศาสตร์อาชีวะและสิ่งแวดล้อม โดยการจัดให้มีฝ่ายเวชศาสตร์อาชีวะ และสิ่งแวดล้อม มีการเปิดบริการคลีนิคอาชีวเวชศาสตร์ และคลีนิคโรคสารพิษ มีศูนย์ข้อมูลพิษวิทยาคลีนิค มีการเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน สิ่งแวดล้อม และสารพิษให้สอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ ทั้งนี้ดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์ รพท. และรพช. โดยมีการเตรียมบุคคลากรทุกด้าน ทั้งแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักพิษวิทยา และนักวิชาการ และการเตรียมพัสดุที่จำเป็น และเป็นการดำเนินงาน preventive medicine มีบริการทั้งนอกและในที่ตั้ง มีลักษณะรุกต่อปัญหา นอกจากนั้นยังมีบริการ preplacement periodic และ post-illness medical examination

2. บริการด้านการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ และการพื้นฟูสภาพ โดยการจัดให้มีงานอาชีวอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีการประสานงานกับหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวง สาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชน มีกิจกรรมสอบสวนโรคเพื่อการควบคุมโรคจากการทำงาน สารพิษ และมลพิษ มีกิจกรรมเผยแพร่การส่งเสริมชุมชนจัดตั้งองค์กรท้องถิ่น เช่น ชมรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือสมาคมต่างๆ

ที่มา:แพทย์หญิงอรพรรณ์  เมธาดิลกกุล
ส.อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า