สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคแอดดิสัน(Addison’s disease)

เป็นภาวะพร่องฮอร์โมนสตีรอยด์เรื้อรัง เป็นโรคที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง พบเป็นมากในคนอายุ 30-50 ปี เป็นภาวะที่พบได้น้อยมากโรคแอดดิสัน

สาเหตุ
เกิดจากการสร้างฮอร์โมนสตีรอยด์ของต่อมหมวกไตได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งตรงกันข้ามกับโรคคุชชิงที่สร้างฮอร์โมนสตีรอย์ได้มากกว่าปกติ

สาเหตุที่เกิดจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือกถูกทำลายหรือฝ่อเนื่องจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองซึ่งอาจพบร่วมกับต่อมไทรอยด์อักเสบ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ เบาหวาน ผมร่วงเป็นหย่อมโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น ซึ่งมักพบเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรค

ที่เกิดจากวัณโรคของต่อมหมวกไต หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น โรคติดเชื้อราของต่อมหมวกไต หรืออาจเกิดจากยา มักพบได้เป็นส่วนน้อย

อาการ
มักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาการจะค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ อาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ ท้องเดินบ่อย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนขาด อาจมีรอยด่างขาวร่วมด้วยในบางราย อาจทำให้มีอาการหน้ามืด วิงเวียนเวลาลุกขึ้นเร็วๆ จากภาวะความดันต่ำ ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์อ่อนไหว ซึมเศร้า หรือมีอาการของโรคจิต

สิ่งตรวจพบ
มักพบว่าบริเวณที่มีรอยถูไถผิวหนังจะมีสีดำคล้ำ เช่น ข้อเข่า ข้อพับ ข้อศอก ที่หน้า หัวนม ลายมือ รอยแผลผ่าตัด เป็นต้น และบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก เช่น เหงือก ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น อาจมีรอยตกกระดำๆ อาจมีภาวะซีด ความดันต่ำ ในผู้หญิงจะเห็นได้ชัดว่าขนรักแร้และในในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ร่วง

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำถ้าไม่ได้รับการรักษา หรืออาจเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลัน ภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติ ถ้าเป็นแบบรุนแรง อาจพบได้ในขณะเป็นโรคติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บ ขณะผ่าตัด ตั้งครรภ์ใกล้คลอด มีภาวะเครียด หรือขาดยาสตีรอยด์ทันที จนทำให้มีไข้สูง ซึม ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ความดันต่ำ ช็อก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากมีความสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าจะเกิดโรค แพทย์มักวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจเลือดและพบว่าระดับคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนสตีรอยด์ต่ำ ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเอกซเรย์ปอดเพื่อตรวจดูการติดเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา หรือมะเร็ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคนี้ หรือถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูลักษณะผิดปกติของต่อมหมวกไต และอาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าจำเป็น

แพทย์มักให้การรักษาด้วยการกินสตีรอยด์ทดแทน เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน วันละ 30 มก. โดยกินหลังตื่นนอนตอนเช้ากิน 20 มก. ตอน 18.00 น.ให้กิน 10 มก. หรือเพร็ดนิโซโลน วันละ 7.5 มก. หลังตื่นนอนตอนเช้าให้ 5 มก. และตอน 18.00 น.ให้ขนาด 2.5 มก.

ให้กินยาเพิ่มอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟลูโดรคอร์ติโน ขนาด 0.05-0.4 มก. วันละ 1 ครั้งหรือวันเว้นวันในรายที่มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำร่วมด้วย

เพื่อติดตามผลการรักษาแพทย์มักจะนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจเลือด และปรับขนาดยาตามความเหมาะสมเป็นระยะๆ อาจต้องเพิ่มขนาดยาให้สูงขึ้นตามความต้องการของร่างกายในช่วงที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บ หรือการผ่าตัด และจำเป็นต้องให้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุชัดเจนของการเกิดโรคนี้ร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยต้องการเกลือโซเดียมมากขึ้นจึงควรกินอาหารให้เค็มจัด กินพวกโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตให้มากๆ และกินบ่อยกว่ามื้อปกติ

2. โรคนี้ต้องกินยาทุกวันไม่ให้ขาดจึงมีทางรักษาให้มีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติได้

3. อาจทำให้อาการกำเริบมากขึ้นถ้าผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อ ตั้งครรภ์ หรือมีอาการไม่สบายอื่นๆ จึงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลันแพทย์อาจต้องปรับเพิ่มขนาดยาไฮโดรคอร์ติโซนขึ้น

4. เพื่อแพทย์และผู้พบเห็นจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้องหากเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลันในเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้ป่วยควรพกสมุดหรือบัตรติดตัวเป็นประจำเขียนบอกถึงโรคที่เป็น ยาที่ใช้รักษา ซึ่งมักจะให้น้ำเกลือและฉีดไฮโดรคอร์ติโซนเข้าทางหลอดเลือดดำขนาด 100 มก. ทันที

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า