สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคเหน็บชา/โรคขาดวิตามินบี 1 (Beri-beri)

เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับวิตามินบี1 หรือไทอามีน ไม่เพียงพอ เนื่องจากการกินข้าวขาวที่ขัดสี กินเนื้อสัตว์น้อย หรืออาจเกิดจากการกินอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี1 เช่น ชา เมี่ยง หมากพลู สีเสียด ปลาร้า เป็นต้น และความต้องการวิตามินบี1 อาจสูงขึ้นด้วยจากภาวะที่ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กในวัยเจริญเติบโต ผู้ที่ทำงานหนัก มีไข้สูง เป็นโรคติดเชื้อ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เป็นต้นโรคเหน็บชา

อาจเป็นโรคนี้ได้เช่นกันในผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรังเพราะตับไม่สามารถนำวิตามินบี1 ไปใช้ประโยชน์ได้ หรืออาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายในผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง เนื่องจากกินวิตามินบี1 ไม่เพียงพอร่วมกับการดูดซึมของลำไส้ไม่ดี และเป็นตับแข็งทำให้ตับทำงานได้ไม่ดี

มักพบโรคนี้มากในผู้ที่นิยมกินอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี1 ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีลูกอ่อน ทารกที่มีมารดาเป็นโรคเหน็บชาและกินนมมารดาเพียงอย่างเดียว คนวัยฉกรรจ์ที่ทำงานหนักร่างกายบึกบึนที่กินอาหารพวกแป้งและน้ำตาลมากแต่กินอาหารที่มีวิตามินบี1 น้อย เป็นต้น

อาการ
ในทารก มักพบในทารกที่กินนมมารดา และมารดากินอาหารที่ขาดวิตามินบี1 หรืออดของแสลง หรือมารดาเป็นโรคเหน็บชา มักจะมีอาการในระหว่างอายุ 2-6 เดือน เด็กมักจะมีอาการร้องเสียงแหบหรือไม่มีเสียง หอบเหนื่อย ตัวเขียว ขาบวม และซึม อาจมีอาการตากระตุก หนังตากตก ชัก หรือหมดสติในบางราย อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหากได้รับการรักษา

ในเด็กโตและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องอืดเฟ้อ ความจำเสื่อม รู้สึกชา แต่ตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติในระยะเริ่มแรก หรือเมื่อมีอาการขนาดอ่อนๆ เมื่อเป็นมากขึ้นมักจะมีอาการชาตามมือและเท้า มีอาการปวดแสบและเสียวเหมือนถูกมดกัด มักเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยมักจะเป็นตะคริว รู้สึกปวดเจ็บที่กล้ามเนื้อน่อง แขนขาอ่อนแรง และอาจเป็นอัมพาตได้ถ้าเป็นมากๆ

ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหล่ ตาเข เดินเซ มีความผิดปกติทางจิต และอาจหมดสติถึงตายได้หากเกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง

สิ่งตรวจพบ
ในทารก อาจตรวจพบอาการหอบเหนื่อย ตัวเขียว ขาบวม ตากระตุก หนังตาตก รีเฟล็กซ์ของข้อน้อยกว่าปกติหรือไม่มีเลย และอาจพบภาวะหัวใจวาย

ในเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจตรวจพบอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาต รีเฟล็กซ์ของข้ออาจไวกว่าปกติในระยะแรก แต่อาจน้อยกว่าปกติหรือไม่มีเลยในระยะหลัง

จะมีภาวะหัวใจวายร่วมด้วย เช่น เท้าบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ชีพจรเต้นเร็ว ตับโต ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ ในรายที่เป็นรุนแรง

การรักษา
1. ให้กินหรือฉีดวิตามินบี 1 ขนาด 10-20 มก. วันละ 2-3 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในระยะต่อมาให้กินขนาด 10 มก./วัน เป็นเวลานานอีกหลายสัปดาห์ ถ้าเกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ควรใช้ชนิดฉีดในขนาด 100 มก. วันละครั้ง นาน 5-7 วัน

2. ให้ฉีดวิตามินบี1 ขนาด 25-50 มก. และให้ยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรซีไมด์ ½ -1 หลอด ในรายที่สงสัยว่ามีภาวะหัวใจวาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้าจำเป็นแพทย์อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจพิเศษอื่นๆ ให้วิตามินบี1 และให้การรักษาแบบภาวะหัวใจวาย

ข้อแนะนำ
ถ้าพบอาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นโรคเหน็บชาในชายฉกรรจ์ที่ร่างกายบึกบึน ซึ่งกินข้าวได้มากๆ แต่กินอาหารที่มีวิตามินบี1 น้อย ควรให้การรักษาด้วยวิตามินบี 1 ทันที

การป้องกัน
1. โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีลูกอ่อน คนที่ทำงานหนัก ควรกินอาหารที่มีวิตามินบี1 สูง เช่น เนื้อสัตว์ ถั่วต่างๆ ไข่แดง ตับ ไต เป็นต้น

2. ส่งเสริมให้กินข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง และหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำเพราะจะได้รับวิตามินบี1 สูง

3. ลดการกิน ชา เมี่ยง หมากพลู สีเสียด ปลาร้า เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้มีสารทำลายวิตามินบี1 หากเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้ไม่ได้ เช่น ควรทำปลาร้าให้สุกก่อนเพื่อทำลายสารที่ทำลายวิตามินบี1 หรือให้ดื่มน้ำชา เคี้ยวใบเมี่ยงหรือหมากพลูในระหว่างมืออาหาร อย่ากินหรือเสพหลังอาหารทันที

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า