สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคเริม

โรคเริม (Genital herpes) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อ ไวรัสเฮอร์ปีส ซิมเพลิกช์ โดยมากมักเป็นชนิด 2 (มีอยู่ 2 ชนิดคือ 1 และ 2) เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นทุกปี ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีโรคเริมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจากหนองในเทียม

โรคเริมติดต่อจากการที่ไวรัสชนิดนี้ผ่านเข้าสู่เยื่อบุ เช่นที่อวัยวะเพศ ช่องปาก หรือเยื่อบุตาโดยตรงหรือผ่านเข้าทางรอยถลอกของผิวหนัง ระยะฟักตัว ประมาณ 3-7 วัน

ลักษณะของโรค

โรคเริมมีอาการแสดงได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับความต้านทานของผู้ป่วย และระยะของโรค

1. เป็นครั้งแรก ในผู้ที่ไม่เคยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อนเลย อาการ มักจะรุนแรงและเป็นยาวนานกว่า โดยเริ่มจากอาการระคายแสบที่ผิวหนัง เกิดเป็นปื้นแดง ซึ่งจะมีตุ่มแดงเกิดขึ้น ตุ่มเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มนํ้าใสอยู่เป็น กระจุกอย่างรวดเร็ว ตุ่มนํ้าใสจะกลายเป็นตุ่มหนอง ซึ่งแตกออกเป็นแผลตื้นๆ มีอาการเจ็บแสบมาก  ต่อมนํ้าเหลืองที่ขาหนีบอาจจะโตเล็กน้อยและเจ็บ ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกไม่สบาย มีไข้ต่ำ  ในบางคนจะมีอาการของระบบประสาทด้วย เช่น ปวดร้าวตามขา ปัสสาวะไม่ออก หรือชาบริเวณก้นกบ แผลจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์จึงเริ่มหายโดยอาจไม่มีแผลเป็นหรือมีแผลเป็นเล็กน้อยเท่านั้น ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเชื้อไวรัสจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท บริเวณสันหลัง และแสดงอาการออกมาได้เป็นครั้งคราว มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่หายแล้วจะไม่เป็นอีกเลย

2. เป็นซ้ำได้แก่ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้และมีไวรัสหลบซ่อนอยู่ในปม ประสาทบริเวณสันหลัง ไวรัสดังกล่าวจะถูกกระตุ้นให้เจริญและแสดงอาการ ออกมาเป็นครั้งคราว สาเหตุสำคัญที่พบว่าสามารถกระตุ้นไวรัสออกมาได้แก่

ความเครียด ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น อดนอน ใกล้รอบเดือน เดินทางไกล ใกล้สอบ ฯลฯ จะกระตุ้นโรคเริมให้เป็นซ้ำได้บ่อยที่สุด

การเสียดสีผิวหนังบริเวณที่เคยเป็น ในบางรายพบว่าการเสียดสีบริเวณที่เคยเป็น เช่น การร่วมเพศ อาจกระตุ้นการเกิดโรคเริมซ้ำได้อีก

อาการแสดงของการเป็นซ้ำได้แก่ “อาการเตือน” ซึ่งมักจะเกิดก่อนการมี รอยโรค 1-2 วัน โดยผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเสียวร้าวบริเวณสันหลัง ขา หรืออวัยวะเพศ ตามมาด้วยความรู้สึกระคาย คัน หรือเจ็บแสบบริเวณที่ขึ้น คนที่เคยเป็นบ่อย ๆ มักจะบอกได้แม่นยำว่ากำลังจะเป็นอีกแล้ว หลังจากนั้นจะเกิดตุ่มนํ้าใสอยู่เป็นกลุ่ม  แต่มีจำนวนน้อยกว่าการเป็นครั้งแรกมาก อาการเจ็บ แสบจะน้อยกว่า และต่อมน้ำเหลืองอาจจะโตเล็กน้อย แต่ไม่เจ็บ แผลมักจะหายเร็วกว่า กล่าวคือ มักจะหายไปใน 10 วัน อัตราความถี่ในการเป็นซํ้านี้แตกต่างกันไป ในบางรายอาจเป็นบ่อยมาก เช่น ทุก 2 สัปดาห์ หรือบางรายอาจจะเป็นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น

3. ติดเชื้อไวรัสชนิดแพร่กระจาย พบได้ในทารกแรกเกิด ซึ่งอาจติดมาจาก มารดาที่มีเชื้อ เชื้อจะกระจายไปทั่วร่างกายเด็กจะมีไข้ซึม ตัวเหลือง ตับโต ม้ามโต สมองอาจจะเล็ก อาจมีปอดอักเสบ มีตุ่มใสกระจายตามตัว ทารกที่เป็นโรคชนิดนี้ 60 เปอร์เซ็นพ์จะตาย ที่เหลืออยู่มักจะมีความพิการทางสมอง นอกจากนี้ยังพบได้ ในผู้ป่วยที่มีความต้านทานโรคตํ่า เช่น เป็นมะเร็งของเม็ดเลือดขาว หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน หรือในโรคเอดส์ เชื้อไวรัสจะกระจายไปทั่วร่างกาย เช่น เข้าสมอง ปอด ฯลฯ ผู้ป่วยส่วนมากจะเสียชีวิต หากไม่ได้ยาเฉพาะโรค หรือได้ยาช้าไป

การวินิจฉัยโรคเริม

ในกรณีที่ประวัติและอาการแสดงชัดเจนเป็นขั้นตอนตามลำดับที่กล่าวมาแล้ว มักจะเพียงพอที่จะให้การวินิจฉัย แต่ถ้าอาการไม่ชัดเจน หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคชนิดแพร่กระจายแล้ว การยืนยันการวินิจฉัยทางห้องปฎิบัติการมีความสำคัญมาก ได้แก่

1. การตรวจย้อมดูเซลล์ซึ่งมีเชื้อ โดยการย้อมพิเศษ เช่น Giemsa

2. การตรวจดูเซลล์วิธี Papanicolaou ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการตรวจเซลล์ มะเร็งที่คอมดลูก มีความแม่นยำประมาณ 60 เปอร์เช็นต์

3. การย้อมอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์จากแผล เป็นวิธีการใหม่ซึ่งได้ผลเร็ว และมีความแม่นยำสูง แต่ทำยากต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษซึ่งแพงและค่าตรวจแพง พอสมควร แต่วิธีนี้อาจจะมีประโยชน์และความสำคัญสูงสุดในการวินิจฉัยโรคเริม ในหญิงมีครรภ์ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

4.  การตรวจเลือดสำหรับวัดแอนติบอดี มีความแม่นยำน้อยเพราะในคนที่ เคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะให้ผลบวกได้ตลอดชีวิต แม้จะเคยเป็นโรคเริมที่ปากก็ตาม

5. การเพาะเชื้อ สำหรับไวรัสเฮอร์ปีสต้องอาศัยวิธีการพิเศษ ซึ่งยุ่งยากและแพงมาก แต่เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงมาก ในปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการเพียง 2-3 แห่งเท่านั้นที่สามารถเพาะเลี้ยงไวรัสชนิดนี้ได้ และทำเป็นงานวิจัยเท่านั้น

ปัญหาของโรคเริม

การเกิดเป็นซ้ำบ่อย ๆ ทำให้ไม่อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ เกิดความ กังวล ในบางคนอาการมากจนถึงขั้นเป็นโรคประสาทชนิดกังวล หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปเลย

ในหญิงมีครรภ์อาจจะแพร่โรคไปยังทารก ซึ่งมีผลเสียมากดังได้กล่าว มาแล้ว การแพร่โรคนี้ 9 ใน 10 รายเกิดขณะทารกคลอดผ่านบริเวณที่เป็นโรค อาจเป็นคอมดลูก ช่องคลอด หรือปากช่องคลอด อีก 1 ใน 10 รายเกิดจากเชื้อ ขณะอยู่ในครรภ์ ในกรณีแรกนั้นอาจป้องกันได้โดย

ผู้ที่เคยเป็นโรคเริมของอวัยวะสืบพันธุ์ หรือผิวหนังตํ่ากว่าสะดือลงมา ต้องแจ้งให้สูติแพทย์ที่ฝากท้องทราบ

ผู้ที่สามีเคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคเริมของอวัยวะเพศ จะต้องแจ้งให้สูติแพทย์ที่ฝากท้องทราบ

สูติแพทย์จะมีการตรวจตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วเป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงใกล้คลอด หากพบว่า ตรวจพบเชื้อในการตรวจครั้งสุดท้ายก่อนคลอด การผ่าตัดให้คลอดทางหน้าท้องจะช่วยป้องกันโรคในเด็กได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์

 

อนึ่งการตรวจหาเชื้อจากคอมดลูกในหญิงมีครรภ์นั้นไมใช่เรื่องง่าย เพราะ แผลจะไม่เห็นชัดเจน การตรวจโดยวิธี Pap smear อาจได้ผลประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การตรวจควรจะต้องรวดเร็วและมีความแม่นยำสูงเพื่อตัดสินใจในการคลอด วิธีย้อมอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์ดูจะเป็นวิธีที่อาจดีที่สุดเพราะทำได้เร็ว และแม่นยำสูงพอควร แต่วิธีนี้ติดขัดที่ค่าใช้จ่าย อุปกรณ์และความชำนาญในการตรวจ ดังนั้นจึงคงจะต้องอาศัยการพัฒนาอีกนานกว่าวิธีนี้จะเป็นที่ยอมรับและ ปฏิบัติกันแพร่หลาย

ความสัมพันธ์กับมะเร็งของคอมดลูก จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคเริมของอวัยวะสืบพันธุ์จะมีโอกาสเกิดมะเร็งของคอมดลูก มากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า จึงสมควรที่ผู้หญิงที่เคยเป็นโรคเริมจะได้รับการตรวจ หามะเร็งที่คอมดลูกอย่างสมํ่าเสมอปีละ 1-2 ครั้ง การวินิจฉัยมะเร็งที่คอมดลูก ระยะเริ่มแรกสามารถจะรักษาให้หายขาดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

การรักษาโรคเริม

ก. เป็นครั้งแรก

ถ้าอาการรุนแรงและเป็นมาน้อยกว่า 5 วัน ในปัจจุบันมียากิน Acyclovir ซึ่งได้ผลสูงในการทำให้โรคหายเร็วขึ้นมาก โดยจะลดจาก 3 สัปดาห์เหลือเพียง 1 สัปดาห์ โอกาสแพร่โรคจะลดลงมากและอาการต่าง ๆ จะลดลงอย่างรวดเร็ว ยากินชนิดนี้ต้องกินบ่อยวันละ 5 ครั้ง และนานอย่างน้อย 5 วัน ถึงแม้ยานี้จะเป็นยาที่ปลอดภัยมาก แต่ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะเป็นยาเฉพาะโรคเริม ซึ่งราคาแพงมาก (5 วันประมาณพันกว่าบาท) การวินิจฉัยที่แน่นอนจึงจำเป็นมาก และจะได้ผลเฉพาะเมี่อได้ยาแต่เนิ่น ๆ อนึ่งยานี้มิได้ป้องกันการที่ไวรัสจะไปซ่อนตัว และเกิดโรคซ้ำๆ คนไข้ที่ได้ยานี้ส่วนหนึ่งยังคงเป็นซ้ำๆ ได้อีก การได้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสมอาจเกิดเชื้อดื้อยาได้

ในกรณีเป็นไม่มาก หรือเป็นมากกว่า 5 วัน อาจใช้ยาทาได้แก่

1. ยาทา Acyclovir ทาบ่อยๆ วันละ 3-4 ครั้ง ราคาแพงมาก ประมาณ 600 กว่าบาทต่อขนาดบรรจุ 10 กรัม หรือ

2. ยาทา Idoxuridine ทาวันละ 3-4 ครั้ง หรือ

3. ยาทา Organic Iodine (Betadine) วันละ 3-4 ครั้ง หรือ

4. ประคบด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อวันละ 3-4 ครั้ง

ข. เป็นซ้ำ

ถ้าเป็นซ้ำบ่อยมากจนมีปัญหาต่อสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ทางกามโรค ซึ่งอาจจะช่วยได้โดยการให้ยา Acyclovir กินเป็นครั้งคราวขณะเกิดอาการเตือน ก่อนจะเป็นโรค จะทำให้ความรุนแรงของการเกิดโรคนี้น้อยลงมาก อาจเป็นเพียง 1-2 วันเท่านั้น แต่ต้องตระหนักว่าวิธีการนี้มิได้รักษาโรคให้หายขาด ยังอาจเป็นได้อีกและบ่อยเท่าเดิม ค่าใช้จ่ายซึ่งสูงและผลระยะยาวเช่นการเกิดเชื้อดื้อยา หรือการเกิดผลต่อร่างกาย ยังไม่กระจ่าง การจะเลือกใช้วิธีนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ทางกามโรค หรืออายุรแพทย์โรคติดเชื้อเท่านั้น

ถ้าการเป็นซ้ำไม่รุนแรงหรือบ่อยมาก ใช้ยาทาเช่นเดียวกับในข้อ ก. การเกิดโรคชนิดแพร่กระจาย จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาลและได้รับยาต้านไวรัสทางหลอดเลือดดำ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของอายุรแพทย์โรคติดเชื้อเท่านั้น

ข้อควรระวัง

1. ระวังการแพร่โรคไปสู่ผู้อื่นโดยการงดการร่วมเพศและทำความสะอาด มือทุกครั้งหลังเข้าห้องนํ้า

2. ระวังการแพร่โรคเข้าสู่เยื่อบุตาของตนเอง โดยการทำความสะอาดมือ ด้วยนํ้าและสบู่ทุกครั้งที่สัมผัสอวัยวะเพศในขณะที่กำลังเป็นโรค

3. โอกาสเกิดอันตรายจนถึงชีวิตจากโรคเริมมีน้อยมาก จึงไม่ควรกังวลจนเกินเหตุ หรือพยายามรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ จนมีอันตรายต่อสุขภาพ

4. ถ้าเคยเป็นหรือคู่สมรสเคยเป็นจะต้องแจ้งให้สูติแพทย์ที่จะทำคลอด ทราบเสมอ

5. หญิงที่เคยเป็นโรคเริมจะต้องตรวจะมะเร็งคอมดลูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเสมอ

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า