สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคเมเนียส์ (Endolymphatic hydrops)

เกิดจากหูชั้นในมีความผิดปกติ เป็นเหตุให้ความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว และการได้ยินเสียไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพียงข้างเดียว ที่เป็นทั้งสองข้างมักพบได้น้อย มักพบโรคนี้ในผู้ชายอายุ 40-60 ปีโรคเมเนียส์

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าผลกระทบต่อประสาทการทรงตัวและประสาทการได้ยินเกิดจากปริมาณของเหลวในหูชั้นในส่วนที่ควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวหรือลาบิรินท์มีจำนวนมากขึ้น หรือเชื่อว่าอาจเกี่ยวกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง การติดเชื้อไวรัส หรือความผิดปกติของหลอดเลือด

ในบางรายหลังจากได้รับบาดเจ็บหรือติดเชื้อ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาบางชนิด ร่างกายเหนื่อยล้า หรือมีภาวะเครียดทางจิตใจ อาจทำให้มีอาการกำเริบขึ้นได้

อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง จนอาจทำให้ล้มลง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง และอาจมีอาการตากระตุก เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

อาจมีอาการบ้านหมุนครั้งละไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมง แล้วจะหายไปได้เอง อาจจะทิ้งช่วงไปเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นปีๆ จึงจะกำเริบขึ้นมาได้อีก

ผู้ป่วยมักมีอาการหูตึงและแว่วเสียงดังในหูซึ่งเป็นพร้อมกับอาการบ้านหมุน และแม้ไม่มีอาการบ้านหมุนหูก็จะตึงและได้ยินเสียงแว่วอยู่ตลอดเวลา เสียงต่ำ เช่น เสียงนาฬิกา เสียงกริ่งโทรศัพท์ ผู้ป่วยมักจะไม่ได้ยิน

เวลาร่างกายเหนื่อยล้าหรือมีภาวะเครียดทางจิตใจอาการบ้านหมุนมักจะเป็นมากขึ้น เมื่อสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีและจิตใจไม่เครียดก็จะเป็นห่างออกไป

ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง พบเป็นส่วนน้อยที่อาจหูตึงขึ้นเรื่อยๆ จนหูหนวกสนิทที่เป็นกับหูข้างเดียวหรืออาจทั้งสองข้าง อาการที่รุนแรงในโรคนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่ชอบวิตกกังวลและเป็นไมเกรนร่วมด้วย หรือผู้ป่วยอาจประสบอุบัติเหตุขณะที่เกิดอาการบ้านหมุนรุนแรง

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมือตรวจสมรรถภาพของการได้ยิน เอกซเรย์ ตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจคลื่นสมอง ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการฉีดไดเฟนไฮดรามีน หรือไดเมนไฮดริเจต หรือ อะโทรพีน ถ้ามีอาการบ้านหมุนมาก ยานี้จะช่วยบรรเทาอาการลงได้ และอาจให้ยาแก้อาเจียน เช่น ไดเมนไฮดริเนต 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง

ให้ยาขับปัสสาวะ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ 50-100 มก. วันละครั้ง หลังกินยาไปแล้วประมาณ 1 เดือนจะช่วยให้อาการดีขึ้น

ให้ไดอะซีแพม ถ้าผู้ป่วยมีความวิตกกังวล

ให้การรักษาแบบซิฟิลิสถ้าตรวจแล้วพบว่าเกิดจากซิฟิลิส

ในรายที่หูตึงไม่มากและใช้ยารักษาไม่ได้ผล อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค หรือช่วยให้หายขาดจากโรคได้

ข้อแนะนำ
เพื่อช่วยให้อาการกำเริบห่างออกไป ผู้ป่วยจึงควรงดอาหารเค็มจัด และดื่มน้ำให้น้อยลงเพื่อลดปริมาณของเหลวในชั้นหู

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ที่เป็นหูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน และควรงดแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า