สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคเชื้อราในช่องปาก มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา(Oral candidiasis/thrush/moniliasis)

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก และยังพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาเม็ดคุมกำเนิดนานๆ ผู้ที่สูบบุหรี่ ใส่ฟันปลอม เหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้เชื้อราในช่องปากเกิดการแบ่งตัวเจริญเติบโตจนกลายเป็นโรคเชื้อราได้เชื้อราในช่องปาก

มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา พบในผู้ที่มีอายุ 40-50 ขึ้นไปซึ่งมีปัญหาทางด้านสุขภาพช่องปากและฟัน มีน้ำลายสอตรงมุมปากจากปัญหาการสบฟัน ทำให้เกิดการติดเชื้อราได้ และสามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยเอดส์

สาเหตุ
เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในช่องปาก ทำให้เชื้อราแคนดิดาอัลบิแคนส์(Candida albicans/monilia) ในช่องปากแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้น

ในทารกแรกเกิดอาจติดเชื้อนี้จากมารดาขณะคลอด ทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องปากภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด

อาการ
โรคเชื้อราในช่องปาก จะมีผ้าขาวคล้ายน้ำนมที่ลิ้น ในบางรายอาจมีที่เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ผนังคอหอย พบอาการอักเสบหรือมีเลือดซึมเมื่อเขี่ยคราบนี้ออกมา และมีอาการเจ็บในช่องปากหรือแสบลิ้นร่วมด้วย ในทารกอาจมีอาการร้องงอแง ไม่ยอมดูดนม

มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา พบมีอาการมุมปากทั้งสองข้างเป็นแผลเปื่อยและเจ็บ

ภาวะแทรกซ้อน
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้หากมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี

ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำโดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ มักเป็นเชื้อราที่ช่องปากรุนแรง เจ็บปากจนกินไม่ได้ ขาดอาหาร หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อที่ลุกลามลงไป เจ็บหน้าอกเวลากลืน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจติดเชื้อร้ายแรงจากการกระจายของเชื้อราเข้าสูงกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ปอดอักเสบ ไตอักเสบ หัวใจอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น

เต้านมมารดาอาจอักเสบได้หากให้ทารกที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปากดูดนมจากมารดา

การรักษา
1. การรักษาในกรณีผู้ป่วยมีสุขภาพทั่วไปดี
มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา ป้ายด้วยยารักษาเชื้อรา เช่น เจลป้ายปากไมโคนาโซลไนเทรต(miconazole nitrate oral gel) ชนิด 2% วันละ 3-4 ครั้งนาน 7-14 วัน

โรคเชื้อราในช่องปาก ใช้เจนเชียนไวโอเลตป้ายปากและลิ้น ผู้ใหญ่ใช้ชนิด 2% เด็กใช้ชนิด 1% ป้ายวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย หรือใช้ นิสแตติน(nystatin)ชนิดน้ำ 100,000 ยูนิต/มล. ป้ายครั้งละ 1 มล. วันละ 4 ครั้งจนกว่าจะหาย แล้วให้ต่อไปอีก 48 ชั่วโมง

ส่วนในผู้ใหญ่และเด็กโต อาจใช้ยาชนิดอม เช่น โคลไตรมาโซล(clotrimazole troche) 10 มก./เม็ด อมครั้งละ 1 เม็ดในปากจนละลายหมดแล้วกลืน วันละ 5 ครั้ง นาน 14 วัน

มารดาที่ให้นมบุตร เพื่อป้องกันไม่ให้มารดาติดเชื้อจากเชื้อราในช่องปากของลูกควรให้ยารักษาโรคเชื้อราในช่องปากป้ายหัวนมมารดาพร้อมๆ กันไปด้วย

2. ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมหากมีอาการเป็นๆ หายๆ ให้ยารักษาแล้วไม่ได้ผล หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคเอดส์

ถ้าพบว่าเป็นโรคเอดส์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา จำเป็นต้องให้ยารักษาโรคเชื้อราให้ได้ผล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า