สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคเกาต์(Gout)

เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ในผู้หญิงหากพบว่าเป็นโรคนี้มักเป็นหญิงวัยหลังหมดประจำเดือนแล้วโรคเกาต์

สาเหตุ
ส่วนใหญ่เนื่องจากร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไปด้วยสาเหตุความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ที่มีสาเหตุจากร่างกายมีการสลายตัวของเซลล์มากเกินไป เช่น โรคทาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว การใช้ยารักษามะเร็งหรือฉายรังสี มักพบได้เป็นส่วนน้อย หรืออาจเกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง เช่น ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ เป็นต้น

สิ่งที่อาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบได้ เช่น ความอ้วน/ภาวะน้ำหนักเกิน การดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารที่มีกรดยูริกสูง การได้รับบาดเจ็บที่ข้อกระดูก การใช้ยา เช่น ไทอาไซด์ แอสไพริน ไซโคลสปอริน เลโวโดพา เป็นต้น

อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดข้อรุนแรงเกิดขึ้นฉับพลันทันที มักจะเป็นเพียงข้อเดียวถ้าเป็นการปวดครั้งแรก ข้อที่พบว่าปวดส่วนมาก ได้แก่ นิ้วหัวแม่เท้า ข้อจะบวมมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง ขณะที่อาการเริ่มทุเลาผิวหนังบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคันซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้

อาการปวดมักจะเริ่มเป็นในตอนกลางคืน หรือหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากกินเลี้ยง กินอาหารมากเกินไป หรือเดินสะดุด หรืออาจมีอาการขณะมีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น ผู้ป่วยอาจมีไข้ หนาวสั่น ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

อาการปวดมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันและจะค่อยๆ หายไปได้เองแม้จะไม่ได้รับการรักษาถ้าเป็นการปวดข้อครั้งแรก

ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีอาการกำเริบทุก 1-2 ปี โดยเป็นที่ข้อเดิมในระยะแรกๆ และจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในระยะต่อมา เช่น ทุก 4-6 เดือน และ 2-3 เดือน จนกระทั่งเป็นทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้งตามลำดับ ระยะเวลาที่ปวดก็จะนานขึ้นเป็น 7-14 วัน จนกระทั่งหลายสัปดาห์หรือปวดอยู่ตลอดเวลา และจากที่ปวดเพียงข้อเดียวก็จะปวดเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ข้อ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ

เมื่อข้ออักเสบหลายข้อในระยะหลังๆ บริเวณที่เคยอักเสบบ่อยๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า จะมีปุ่มก้อนขึ้น รวมทั้งที่หู เรียกว่า ตุ่มโทฟัส(tophus/tophi) ก้อนนี้จะเป็นแหล่งสะสมของสารยูริกและจะโตขึ้นเรื่อยๆ อาจแตกออกมีสารขาวๆ คล้ายชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมาในบางครั้ง ทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า และข้อต่างๆ จะค่อยๆ พิการจนใช้งานไม่ได้ในที่สุด

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดที่ข้อและข้อจะมีลักษณะบวมแดงร้อน อาจมีไข้ร่วมด้วย หรืออาจพบตุ่มโทฟัสในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะข้อพิการ นิ่วในทางเดินปัสสาวะจนทำให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนตามมาได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง

โรคที่มักมีโอกาสเป็นได้ในผู้ป่วยโรคเกาต์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากว่าคนปกติ และในที่สุดอาจกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบและไตวายได้หากไม่ได้มีการรักษาควบคุมโรคไว้

การรักษา
1. ถ้าผู้ป่วยมีอาการของโรคชัดเจน ก็ให้ยาลดข้ออักเสบ เช่น คอลชิซีน(colchicine) ขนาด 0.5 มก. 1-2 เม็ดในครั้งแรก และทุก 1 ชั่วโมงให้ซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ด เป็นเวลา 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นทุก 2 ชั่วโมงให้ยาอีกครั้งละ 1 เม็ดจนกว่าจะหายปวดข้อ แต่ควรจะหยุดยาเสียหากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ซึ่งเกิดจากพิษของยา

โดยทั่วไปอาการปวดข้อจะหายภายใน 24-72 ชั่วโมงเมื่อให้ยาได้ประมาณ 8-20 เม็ด ควรให้กินยาแก้ท้องเดิน-โลเพอราไมด์หากมีอาการท้องเดิน

ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลันหรือถ้าไม่มียาคอลชิซีน ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ แทน เช่น อินโดเมทาซิน หรือ ไอบูโพรเฟน ขนาด 2 เม็ดในครั้งแรก และทุก 6 ชั่วโมงให้อีก 1 เม็ดจนกว่าอาการปวดจะหาย แต่ไม่ควรให้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ผู้ป่วยควรลดอาหารที่มีกรดยูริกสูง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ประคบข้อที่ปวดด้วยน้ำอุ่นจัด ควรแนะนำผู้ป่วยให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไปเมื่ออาการทุเลาลงแล้ว

2. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในรายที่อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการไม่ชัดเจนหรือให้ยาลดข้ออักเสบแล้วดีขึ้น แพทย์มักตรวจวินิจฉัยด้วยการเจาะเลือดหาระดับของกรดยูริกในเลือด ซึ่งค่าปกติจะเท่ากับ 3-7 มก./ดล. และอาจต้องทำการเจาะดูดน้ำจากข้อที่อักเสบไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ถ้าผลการตรวจไม่ชัดเจน ถ้าจำเป็นอาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม มักจะพบผลึกของยูเรตในผู้ป่วยที่เป็นเกาต์

แพทย์มักจะให้ยาลดข้ออักเสบในรายที่มีข้ออักเสบ หรืออาจให้สตีรอยด์ถ้าการรักษายังไม่ได้ผล และมักจะให้กิน คอลชิซีน เป็นประจำวันละ 1-2 เม็ด เพื่อป้องกันมิให้ข้ออักเสบกำเริบในรายที่เป็นเกาต์เรื้อรัง

เพื่อควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ ซึ่งยาลดกรดยูริกมีอยู่ 2 ชนิดได้แก่

-ยาลดการสร้างกรดยูริก เช่น ยาเม็ดอัลโลพูรินอล 200-300 มก./วัน ถ้ากินแล้วมีอาการคันตามตัว ควรหยุดยาทันที หรืออาจทำให้ตับอักเสบได้ เพราะอาจเป็นอาการแพ้ยาที่รุนแรง

-ยาขับกรดยูริก เช่น ยาเม็ดโพรเบเนซิด(probenecid) 1-2 เม็ด/วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วไตเนื่องจากการตกตะกอนของกรดยูริก ผู้ป่วยควรดื่มน้ำประมาณวันละ 3 ลิตร ผู้ที่มีนิ่วไตหรือภาวะไตวายห้ามใช้ยานี้ และไม่ควรกินแอสไพรินในผู้ที่กินยานี้อยู่เพราะจะทำให้การขับกรดยูริกลดน้อยลง

การจะเลือกใช้ยาลดกรดยูริกชนิดใดมักขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้สารยูริกที่สะสมตามข้อและอวัยวะต่างๆ ละลายหายไปได้ และตุ่มโทฟัสก็จะยุบไปในที่สุด ซึ่งผู้ป่วยต้องกินยาเป็นประจำทุกวันไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ทุกชนิดในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดของยาที่ใช้โดยไม่จำเป็นต้องงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์อย่างเคร่งครัด

แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติแล้วก็ตามแต่ก็ยังต้องไปรับการตรวจหาระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะๆ เพื่อจะได้ควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้แม้จะเป็นเรื้อรัง หากได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็สามารถป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและสามารถมีชีวิตปกติสุขได้ ผู้ป่วยจึงควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ หมั่นตรวจเลือดเป็นระยะๆ และกินยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำไปตลอดชีวิต

2. ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษาในรายที่มีเพียงกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่มีอาการปวดข้อหรืออาการอื่นๆ แต่ผู้ป่วยควรกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำในรายที่มีระดับของกรดยูริกสูงเกิน 12 มก./ดล.

3. ควรตรวจระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะๆ ในรายที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคเกาต์

4. หากตรวจพบระดับกรดยูริกในเลือดปกติในอาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเกาต์ ควรเจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นเกาต์จะพบผลึกของยูเรต แต่ถ้าเป็นภาวะที่เรียกว่า เกาต์เทียม(pseudogout) จะพบว่าเป็นผลึกของแคลเซียม ไพโรฟอสเฟต(calcium pyrophosphate)

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า