สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ(Cardiac arrhythmia)

ชีพจรการเต้นของหัวใจในคนปกติจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที มีความแรงและจังหวะการเต้นที่สม่ำเสมอ ชีพจรอาจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้ง/นาทีได้ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติธรรมดา เช่น หลังจากออกกำลังกาย ตื่นเต้นตกใจ ดื่มชากาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน สูบบุหรี่ กินยากระตุ้น เช่น ยาแก้หือ ยาแก้หวัด หรือสูโดเอฟีดรีน แอมเฟตามีน ยาลดความอ้วน หรือเป็นไข้ ชีพจรมักเต้นเร็วและเบาในผู้ที่มีภาวะช็อกภาวะหัวใจเต้นช้า

ชีพจรอาจเต้นช้าน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาทีได้ ในผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งแสดงว่าร่างกายมีความแข็งแรงเต็มที่ แต่อาจมีชีพจรเต้นผิดปกติได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจ เช่น เต้นช้าหรือเร็วไป เต้นไม่สม่ำเสมอไม่เป็นจังหวะ เรียกว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาการแสดงจะแตกต่างกันออกไป

สาเหตุ
พบเป็นภาวะปกติในนักกีฬาหรือคนที่มีร่างกายฟิตที่หัวใจเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง/นาที เรียกว่า หัวใจเต้นช้า การที่ชีพจรเต้นช้าอาจเกิดจากภาวะกระตุ้นประสาทเวกัส เช่น อาการเจ็บปวด หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า การกลืน อาการอาเจียนหรือท้องเดิน เป็นต้น หรืออาจพบเป็นภาวะปกติในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด จากพิษของยา เช่น ไดจอกซิน ยาปิดกั้นบีตา ยาอนุพันธ์ฝิ่น ยานอนหลับ ยาฆ่าแมลงออร์แกโนฟอสเฟต หรือเกิดจากพิษปลาปักเป้า พิษคางคก ภาวะตัวเย็นเกิน เป็นต้น

พบได้ว่าในผู้ที่เป็นโรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน พิษยาไดจอกซิน จะมีการเต้นของชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้ง/นาที จังหวะอาจปกติหรืออาจไม่สม่ำเสมอและแรงไม่เท่ากัน

อาจพบเป็นภาวะปกติในบางคนที่หัวใจเต้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ 60-100 ครั้ง/นาที แต่มีบางจังหวะที่เต้นรัว หรือวูบหายไป แต่ก็อาจพบในคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก หรือการสูบบุหรี่ การดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ยากระตุ้น หรือจากพิษของยา ก็เป็นได้

อาการ
มักไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใดในรายที่เป็นไม่รุนแรง อาจเพียงรู้สึกว่าใจเต้นรัวหรือใจหายวูบไปบางจังหวะ โดยไม่มีอาการอื่นๆ สามารถทำงานหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจมีอาการอ่อนเพลีย สับสน เวียนศีรษะ เป็นลมได้ในรายที่มีชีพจรเต้นช้ามาก ส่วนในรายที่ชีพจรเต้นเร็วมากอาจมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ ศีรษะโหวงๆ เป็นลม ในบางรายอาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอกในโรคหัวใจขาดเลือด มือสั่น เหงื่อออก น้ำหนักลด ในภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

สิ่งตรวจพบ
อัตราการเต้นของชีพจรมักอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ 60-100 ครั้ง/นาทีในรายที่เป็นไม่รุนแรง อาจพบบางจังหวะเต้นรัวหรือวูบหายเพียง 1-2 ครั้ง ถ้ามีอาการรุนแรงจะพบได้ถี่กว่านี้

มักพบชีพจรเต้นน้อยกว่า 50 ครั้ง/นาทีในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า และพบชีพจรเต้นมากกว่า 120 ครั้ง/นาทีในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว จังหวะการเต้นอาจปกติ ไม่เป็นจังหวะ หรือไม่สม่ำเสมอ ฟังเสียงหัวใจพบเสียงดังไม่เท่ากันและไม่เป็นจังหวะ อาจพบอาการความดันโลหิตต่ำ หรือตรวจพบอาการของโรคที่เป็นสาเหตุแทรกซ้อน เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หัวใจมีเสียงฟู่ในโรคหัวใจรูมาติก เท้าบวม ฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบในภาวะหัวใจวาย ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองแทรกซ้อนมักพบอาการแขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่ง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่แข็งแรงและไม่มีโรคหัวใจร่วมด้วยมักไม่พบภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยที่มีชีพจรเต้นช้าหรือเร็วมากและต่อเนื่องนานๆ มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจวาย ความดันโลหิตตก เป็นลม เป็นต้น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายอาจขาดเลือดไปเลี้ยงสมองทำให้หมดสติและชักได้หากหัวใจเต้นช้ามาก ซึ่งมักเกิดจากทางเดินประจุไฟฟ้าหัวใจติดขัด

อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะลิ่มเลือดในหัวใจหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดสมองทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีกได้ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว ชีพจรจะเต้น 80-180 ครั้ง/นาที จังหวะไม่สม่ำเสมอ แรงบ้างเบาบ้าง ผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดสมองมากกว่าคนทั่วไปซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากให้การรักษาภาวะนี้จนการเต้นของหัวใจกลับเป็นปกติแล้ว

การรักษา
1. อาจเกิดจากภาวะหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นก่อนกำหนดในรายที่อัตราชีพจรอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ตรวจชีพจรพบว่าเต้นรัวหรือวูบหายเป็นบางจังหวะ ผู้ป่วยรู้สึกสบายดี ควรแนะนำให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ไม่ใช้ยาหรือสารกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดอาการ โดยไม่ต้องใช้ยาในการรักษา

ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ หากพบว่ามีอาการชีพจรเต้นรัวหรือวูบหายแบบถี่ๆ นาทีละหลายครั้ง ชีพจรเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ ความแรงของการเต้นไม่เท่ากัน หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ฟังหัวใจได้ยินเสียงฟู่ เป็นต้น

อาจพบว่ามีโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือลิ้นหัวใจพิการร่วมด้วยในผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วและอาจทำให้เสียชีวิตฉับพลันได้ในรายที่มีโรคลิ้นหัวใจพิการ แพทย์มักให้ยาปิดกั้นบีตา กินเพื่อควบคุมอาการ เช่น โพรพราโนลอล

2. ควรให้การรักษาขั้นต้นแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในรายที่ชีพจรเต้นน้อยกว่า 50 ครั้ง/นาที หรือมากกว่า 120 ครั้ง/นาที หรือชีพจรไม่สม่ำเสมอ แรงไม่เท่ากันตลอด ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกมาก หายใจหอบเหนื่อย แขนขาอ่อนแรงข้างหนึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน เป็นลมหมดสติ หรือชัก เป็นต้น แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญภายใน 24 ชั่วโมง ถึงแม้จะไม่มีอาการเหล่านี้แต่หากมีชีพจรเต้นน้อยกว่า 50 ครั้ง/นาที หรือมากกว่า 120 ครั้ง/นาที แพทย์มักทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่นๆ

แพทย์มักให้แก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นและรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก พิษจากยา และให้การรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับเป็นปกติ ดังนี้

-ในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า แพทย์จะให้ยากระตุ้น ได้แก่ อะโทรพีน หรืออาจต้องผ่าตัดใส่ตัวคุมจังหวะหัวใจซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตประจุไฟฟ้ากระตุ้นการเต้นของหัวใจถ้ามีอาการรุนแรงหรือใช้ยารักษาแล้วไม่ได้ผล

-ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว ถ้ามีภาวะฉุกเฉินรุนแรงแพทย์มักรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อรีบแก้ไขภาวะนั้น และให้การรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ อาจต้องใช้เครื่องช็อกหัวใจ หรือใช้ยาร่วมกับให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม เช่น เฮพาริน วาร์ฟาริน แพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาและให้ยาตามความรุนแรงของโรคและความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง และต่อจากนั้นจะให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะและสารกันเลือดเป็นลิ่มอย่างต่อเนื่อง แพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธีตัดปมประจุไฟฟ้าเอวีโดยการแยงสายอิเล็กโทรดเข้าไปสร้างความร้อนเพื่อทำลายเนื้อเยื่อในบางราย แต่บางรายอาจทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่เป็นต้นตอของโรคถ้าการรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วยังไม่ได้ผล

-ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดโรคกลับฉับพลัน แพทย์มักให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะเพื่อควบคุมอาการ เช่น ยาปิดกั้นบีตา อาจต้องทำการรักษาด้วยเครื่องช็อกหัวใจหรือตัดปมประจุไฟฟ้าเอวีด้วยการใส่สายอิเล็กโทรดหากให้ยารักษาแล้วยังไม่ได้ผล

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยที่มักมีอาการใจสั่น ใจหวิว อาจเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือสาเหตุอื่นๆ ได้ จึงควรซักถามอาการ ตรวจวัดชีพจร ตรวจฟังหัวใจ หากพบว่าชีพจรเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติหรือไม่สม่ำเสมอก็แสดงว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าชีพจร 60-100 ครั้ง/นาที และเต้นปกติ อาจเกิดจากโรควิตกกังวล หรือโรคแพนิก ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการใจสั่งหวิวที่เกิดขึ้นได้

2. ถ้าเคยเป็นโรคนี้ควรงดชา กาแฟ บุหรี่ และแอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้เกิดอาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า