สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ(Ischemic heart disease)

โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ(Ischemic heart disease)
โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ(Angina pectoris)
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย(Myocardial infarction)โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี เป็นโรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดโคโรนารี ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นจะทำให้เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว โดยที่กล้ามเนื้อของหัวใจยังไม่ตาย เรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ

ถ้าเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วน จากหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันจากลิ่มเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้จึงทำให้ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกรุนแรง มักจะทำให้เกิดภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

มักพบโรคนี้มากขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น มักเป็นครั้งแรกในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอื่นใดอยู่ก่อน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

คนที่มีอาชีพใช้แรงงานและชาวชนบทมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้น้อยกว่าผู้ที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะหรือคนในเมือง หรือผู้ที่เป็นโรคนี้อาจพบประวัติการเป็นโรคนี้ของพ่อแม่พี่น้องมาก่อนด้วย

สาเหตุ
มักเกิดจากหลอดเลือดหัวใจมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ความอ้วน สูบบุหรี่จัด การไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

และพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งและโรคหัวใจขาดเลือดได้เช่นกัน คือ ภาวะโฮโมซิสตีนในเลือดสูง ภาวะขาดไทรอย เป็นต้น

ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งจะมีไขมันเกาะที่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ เรียกว่า ตะกรันท่อเลือดแดง ทำให้เกิดการตีบแคบของช่องทางเดินเลือดทำให้ไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงทำให้เกิดอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น เช่น เมื่อต้องออกแรงมากๆ ขณะร่วมเพศ การมีอารมณ์โกรธ หรือความเครียด ภาวะซีด หลอดเลือดหกตัวขณะสูบบุหรี่ เลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลงเมื่อกินอาหารอิ่ม

หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบหรือรั่ว หัวใจห้องล่างซ้ายโตจากโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจพิการ การหดเกร็งของหลอเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติมาแต่กำเนิด การติดเชื้อหรือการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ การบาดเจ็บ การฉายรังสีบริเวณทรวงอก เป็นต้น

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที มักเกิดกับผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งและตีบมาก่อนเป็นผลจากตะกรันท่อเลือดแดงที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจมีการฉีกขาดหรือแตก เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเลือดอุดตันช่องทางเดินเลือดอย่างสมบูรณ์ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายฉับพลัน

ที่เกิดจากสาเหตุอื่นพบได้เป็นส่วนน้อย เช่น ภาวะมีลิ่มเลือดในหัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจหดเกร็งรุนแรงจากยาเสพติด เป็นต้น

อาการ
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะปวดเหมือนมีอะไรกดทับและจุกแน่นที่ตรงกลางหน้าอกหรือยอดอก มักเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย อาจร้าวมาที่คอ ขากรรไกร หลัง หรือแขนขา ก็ได้

อาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่คล้ายอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อในบางราย เมื่อออกแรงมากๆ มีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ เคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ หลังกินอาหารอิ่มมากๆ ขณะสูบบุหรี่ หรือเมื่อถูกอากาศเย็นๆ มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้นได้ หรืออาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง เป็นไข้ หรือหัวใจเต้นเร็วหลังดื่มกาแฟ หรือเป็นโรคคอพอกเป็นพิษ เป็นต้น

จะมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่นาน 2-3 นาที แล้วหายไปเมื่อได้พักหรือหยุดทำสิ่งที่เป็นเหตุชักนำ หรือหลังจากอมยาขยายหลอดเลือด เช่น ไนโตรกลีเซอรีน ขณะเจ็บหน้าอกอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ร่วมด้วย

เมื่อหายใจลึกๆ ไอหรือจามผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ เวลาก้มหรือเอี้ยวตัวจะรู้สึกเจ็บ หรือกดถูกเจ็บ หรือเจ็บทั่วหน้าอกเรื่อยๆ โดยที่สุขภาพแข็งแรงดี เมื่อได้ออกกำลังกายหรือทำอะไรเพลินๆ จะหายเจ็บซึ่งมักไม่ใช่อาการแสดงของโรคหัวใจขาดเลือด

หากมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงขึ้นและกำเริบบ่อย ขณะออกแรงเล็กน้อยหรือพักก็มีอาการเจ็บหน้าอกในผู้ป่วยที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเป็นครั้งคราว ให้สงสัยว่าตะกรันท่อเลือดแดงอาจสะสมมากขึ้นจนหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันมากขึ้น หรือตะกรันเริ่มแตกหรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินอาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันตามมาได้

ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย มักมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่จะเจ็บรุนแรงและต่อเนื่องเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน อาการไม่ทุเลาลงแม้ได้นอนพักแล้ว หรืออาจมีอาการปวดแน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะหรือไม่มีอาการเจ็บหน้าอกก็ได้ในบางราย

ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย ถ้าเป็นรุนแรงจะหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อก ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติหรือตายในเวลาอันรวดเร็ว อาจมีประวัติเคยเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราวนำมาก่อนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ในบางราย หรืออาจไม่อาการเจ็บหน้าอกเลยก็ได้ในบางราย

สิ่งตรวจพบ
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ หรืออาจตรวจพบความดันโลหิตสูง เบาหวาน รูปร่างอ้วนในบางราย

ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจตรวจพบภาวะช็อก ภาวะหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วจากภาวะช็อก หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจห้องล่างแตก หลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย 10 วันถึง 2 เดือน หรือมีลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดทั่วร่างกายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ในบางราย หลังฟื้นตัวจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายในบางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า

การรักษา
1. ควรแนะนำผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลในผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แพทย์มักตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย จำเป็นต้องตรวจคลื่นหัวใจซ้ำ หรือทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกายโดยวิ่งบนลานสายพานหรือปั่นจักรยาน การถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ ในกรณีที่คลื่นหัวใจบอกผลได้ไม่ชัดเจน แพทย์มักให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจกลุ่มไนเทรต เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก เช่น ไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์ เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกให้อมใต้ลิ้นทันที ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้ปวดศีรษะแบบตุบๆที่ขมับคล้ายไมเกรน เนื่องจากหลอดเลือดที่ขมับขยายตัว อาจเป็นลมขณะลุกขึ้นยืนในบางราย เมื่อจะอมยากลุ่มนี้ควรนั่งเสียก่อนอย่าอยู่ในท่ายืน

เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการอาจให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดออกฤทธิ์นาน เช่น
ไอโซซอร์ไบด์ ชื่อการค้า เช่น ไอซอร์ดิล
ไดไพริดาโมล ชื่อการค้าคือ เพอร์แซนทิน
เพนตาอีริไทรทอล ชื่อการค้า คือ เพอริเทรต
ให้กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-4 ครั้ง

แพทย์จะให้ยาต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยทุกราย เพื่อไม่ให้เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเกาะที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ได้แก่ แอสไพริน ขนาด 75-325 มก. วันละครั้ง หรือให้ใช้ไทโคลพิดีน 250 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือให้โคลพิโดเกรล 75 มก. วันละครั้ง ถ้าแพ้แอสไพรินหรือมีข้อห้ามในการใช้ยาชนิดนี้

สามารถลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและป้องกันการเสียชีวิตได้ด้วยการให้ยาปิดกั้นบีตา เช่น โพรพราโนลอล กินวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 20-80 มก. ยาต้านแคลเซียม เช่น ไนเฟดิพีนชนิดออกฤทธิ์นาน 30-90 มก. วันละครั้งหรือยาต้านเอช เช่น รามิพริล เริ่มด้วยขนาด 2.5 มก./วัน แล้วค่อยๆ เพิ่มจนถึง 10 มก./วัน

ต้องให้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

แพทย์จะทำการถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่งก็จะทำการแก้ไขโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบัลลูนคาไว้ในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตันในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย หรือใช้ยาไม่ได้ผล

แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเปิดทางระบายของหลอดเลือดหัวใจ เรียกว่า การผ่าตัดบายพาส ซึ่งวิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกรุนแรง ใช้ยารักษาไม่ได้ผล ไม่สามารถทำบัลลูนหรือทำบัลลูนไม่ได้ผล

2. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด่วนถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวัน มีภาวะหัวใจวาย ช็อกหรือหมดสติ เจ็บหน้าอกรุนแรงและบ่อยขึ้นกว่าเดิม หรือเจ็บหน้าอกขณะพักหรือแม้แต่ออกแรงเพียงเล็กน้อย ควรให้อมไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์ ฉีดยาระงับปวด เช่น มอร์ฟีน และให้แอสไพรินขนาด 162-325 มก. เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนพร้อมน้ำ พร้อมทั้งให้น้ำเกลือและออกซิเจนระหว่างทางด้วยถ้าเป็นไปได้

ถ้าพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล หลังจากแพทย์ได้ทำการตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่นๆ และพบสาเหตุของโรคแล้ว

แพทย์จะให้แอสไพรินเคี้ยวก่อนกลืน ให้ยาปิดกั้นบีตา ให้ยาต้านเอช ฉีดมอร์ฟีนระงับปวด และให้ออกซิเจน ในการรักษารายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การรักษาขั้นต่อไปแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือสเตรปโตไคเนส ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือทำบัลลูน หรือพิจารณาผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน อาจให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม ได้แก่ เฮพารินชนิดน้ำหนักโมเลกุลต่ำ เสริมในรายที่ให้ทีพีเอ หรือทำบัลลูน

ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนพักอยู่บนเตียง งดบุหรี่ แพทย์จะให้ยาระบายเพื่อลดการเบ่งถ่ายอุจจาระจากอาการท้องผูกในผู้ป่วย ให้ยาจิตประสาทเพื่อควบคุมภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ใน 2-3 วันแรก

ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน 5-7 วันหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เมื่ออาการทุเลาดีแล้วจะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง และให้ยารักษาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะอย่างต่อเนื่องต่อไป

แพทย์จะรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ ให้ยาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดทั่วไป รวมทั้งให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม และยาต้านเกล็ดเลือด ให้ยาปิดกั้นบีตา และให้ไนโตรกลีเซอรีนชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อลดการทำงานของหัวใจ จะทำการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา

ความรุนแรงของโรค สภาพของผู้ป่วย โรคที่พบร่วม และวิธีรักษาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการรักษาโรคว่าจะได้ผลดีหรือไม่

มักได้ผลการรักษาที่ดีในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง สามารถป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และลดการตายลงได้จากการใช้แอสไพริน และช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้นด้วยการทำบัลลูนและการผ่าตัดบายพาส

ผู้ป่วยที่อายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน เป็นปัจจัยที่ทำให้การรักษาได้ผลไม่สู้ดีนัก

ผลการรักษามักจะไม่ดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่คงที่ ถ้าเริ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน หรือมีความล่าช้าในการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและการบำบัดที่เหมาะสม

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันถ้าเป็นรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายจำนวนมาก ก็มักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วทันที ในรายที่สามารถมีชีวิตรอดได้ 2-3 วันหลังเกิดอาการมักจะฟื้นตัวจนเป็นปกติได้ บางรายอาจกำเริบซ้ำและเสียชีวิตภายใน 3-4 เดือนถึง 1 ปีต่อมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่อง เช่น เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจวาย

ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัวร่วมด้วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงและอาจเสียชีวิตได้

ผู้ป่วยมักฟื้นสภาพได้ดีและมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้นในรายที่ได้รับการทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาส หรือบางรายอาจต้องทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสซ้ำจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซ้ำ

ข้อแนะนำ
1. ควรติดต่อรักษากับแพทย์ประจำและควรพกยาไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซวอร์ไบด์ชนิดอมใต้ลิ้น ติดตัวไว้ใช้เวลามีอาการ เพราะโรคนี้มักเป็นเรื้อรัง อาจมีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

2. เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้วควรพักฟื้นที่บ้านอีกสักระยะหนึ่ง อย่าทำงานหนัก งดการร่วมเพศเป็นเวลา 4-5 สัปดาห์ในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลังจากมีอาการ 8-12 สัปดาห์จึงเริ่มกลับไปทำงานได้แต่ห้ามทำงานที่ต้องใช้แรงมาก

ผู้ป่วยควรกินยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและจริงจังเพื่อป้องกันมิให้มีอาการกำเริบขึ้นอีก อาจมีโอกาสหายขาดและมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติได้ในรายที่มีอาการไม่มาก มักเกิดจากโรคอื่นแทรกซ้อนอยู่ก่อนหรือหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตันจำนวนมากจึงทำให้มีอาการกำเริบขึ้นมาใหม่ได้

3. ผู้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดบางรายอาจไม่มีอาการเจ็บจุกหน้าอกชัดเจน แต่อาจรู้สึกคล้ายปวดเมื่อยที่ขากรรไกร หัวไหล่ ท้ายทอย ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูก หรือในบางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกกำเริบเมื่ออยู่ในท่านอนหรือขณะพัก ถ้าผู้ป่วยมีอาการกำเริบบ่อย มีอายุมาก มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรค ก็ควรตรวจให้แน่ใจ

4. หลังกินอาหารเสร็จใหม่ๆ อาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่เหมือนอาหารไม่ย่อยในโรคนี้ จึงทำให้การวินิจฉัยโรคอาจผิดพลาดได้ ดังนั้น ควรตรวจร่างกายให้แน่ใจเสียก่อนที่จะตัดสินใจว่าเป็นโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อยเมื่อพบอาการจุกแน่นลิ้นปี่ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัติสูบบุหรี่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

5. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ควรตรวจเช็กหัวใจและให้การรักษาตามความเหมาะสมเพราะในบางรายอาจมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบโดยไม่ปรากฏอาการก็ได้

6. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อชีวิตที่ยืนยาวหรือเป็นปกติได้ เช่น เลิกสูบบุหรี่ ไม่ปล่อยให้อ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่หักโหม และเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น ไม่ทำงานหนักเกินไป ไม่กินอาหารจนอิ่มเกินไป ควรดื่มน้ำและกินผักผลไม้ให้มากๆ เพื่อป้องกันท้องผูก หรือหากท้องผูกก็ควรกินยาระบาย งดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เครียด ตื่นเต้นตกใจ สิ่งกระทบกระเทือนทางจิตใจ

การป้องกัน
การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ ไม่ให้อ้วนเกินไป ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง และกินยาป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า