สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหวัดและไข้หวัดใหญ่

หวัด

การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infection)

การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน คือ ตั้งแต่จมูกลงไปถึงกล่องเสียง (ตาม WHO International Classification of Disease 1978) เป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส

หวัด (Nasopharyngitis, Rhinitis, Coryza, Common cold)
เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เด็กปกติอาจเป็นหวัดได้ปีละ 4-5 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ rhinovirus, adenovirus, enterovirus, influ¬enza virus, parainfluenza virus และ respiratory syncytial virus การติดเชื้อแบคทีเรียพบน้อย และมักเป็นการติดเชื้อซ้เติมหลังการอักเสบจากไวรัสมาก กว่าจะเป็นสาเหตุโดยตรงของโรค ยกเว้นในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี อาจเกิดจาก group A streptococcus ซึ่งจะวินิจฉัยได้แน่นอนจากการเพาะเชื้จากจมูก และต้องให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

อาการและอาการแสดง
มีน้ำมูก ไอ จาม แน่นคัดจมูก หายใจไม่สะดวก บางรายอาจมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย เบื่ออาหาร อาเจียน และท้องเดินร่วมด้วยได้ ในเด็กต่ำกว่า 3 ปี มักมีไข้สูง อาจสูงถึง 39-40 ºซ ดูดนมลำบาก และร้องกวน ในเด็กโต มักมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้ ไข้จะเป็นในวันแรกๆ และมีอยู่ไม่เกิน 3 วัน ตรวจร่างกายพบน้ำมูกใสในระยะแรก ต่อมาจะข้นขาว ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมจะมีน้ำมูกข้นเขียว เหลือง (Pneumococci) หรือน้ำเหลืองเกาะเป็นสะเก็ดรอบจมูก (Streptococci) เยื่อจมูกบวมแดง คอแดงได้ แต่ไม่เป็นหนอง อาจพบตาแดง และต่อมน้ำเหลืองที่คอโตร่วมด้วย

การวินิจฉัยแยกโรค
1. จมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) มักมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว มักไม่มีไข้ และพบอาการคันตา ตาแดง น้ำตาไหลร่วมด้วยบ่อยกว่า อาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใดถ้าสัมผัสกับสิ่งที่แพ้ และดีขึ้นเร็วหลังได้ antihistamine แต่อาจจะกลับเป็นขึ้นมาได้อีก nasal smear พบอีโอสิโนฟิลในขณะที่โรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อจะเป็นนิวโตรฟิล
2. จมูกอักเสบจากสารเคมี
3. อาการระคายเคืองหรืออักเสบจากสิ่งแปลกปลอม มักมีน้ำมูกเขียวออกจากรูจมูกข้างเดียวกันกับที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่
4. ระยะเริ่มแรกของโรคหัด ไอกรน และโรคติดเชื้ออื่นๆ
5. Congenital syphilis

โรคแทรกซ้อน
โรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียมักเกิดในเด็กเล็กต่ำกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือในเด็กที่มีภาวะขาดอาหารเรื้อรัง โรคหัวใจและโรคเรื้อรังอื่นๆ อยู่ก่อน ผู้ป่วยที่มีไข้นานกว่า 3 วัน หรือกลับมีไข้ขึ้นใหม่หลังวันที่ 3 ของโรคหวัดต้องนึกถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ต่อไปนี้

1. หูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) พบได้บ่อย ดังนั้นผู้ป่วยเด็กที่เป็น หวัดทุกคนต้องตรวจหูด้วยเสมอ
2. ไซนัสอักเสบ (sinusitis)
3. ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ (suppurative cervical adenitis)
4. หลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ (bronchitis, pneumonia)

เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยคือ pneumococci, streptococci,
H. influenzae ที่พบได้น้อย ได้แก่ staphylococcus และ gram negative bacilli

การรักษา

ให้การรักษาตามอาการ รักษาร่างกายให้อบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ และให้น้ำมูกระบายออกได้ดีพอสมควร ยาที่ใช้ได้แก่

1. ยาลดไข้ แก้ปวด นิยมใช้ acetaminophen (5-10 มก./กก.ทุก 4-
6 ชม.) สำหรับ aspirin ไม่นิยม เนื่องจากมีรายงานว่าเพิ่มอุบัติการของ Reye’s syndrome ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ varicella และ influenza virus

2. Antihistamine decongestant ยาทั้งสองกลุ่มจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึก สบายขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้หวัดหายเร็วขึ้น จึงควรใช้ในกรณีจำเป็นและต้องคำนึงถึงผลข้างเคียง และพิจารพาจากการใช้ยาเกินขนาด ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก

Decongestant ชนิดหยอดหรือเช็ดจมูกได้แก่ ¼ , – 1% Phenylephrine จะช่วยลดอาการคัดจมูกได้ ข้อเสียคือ ถ้าใช้บ่อยกว่าวันละ 4 ครั้งและนานเกิน 3-4 วัน จะทำให้เกิด rebound effect เยื่อจมูกจะบวมมากขึ้น ชนิดรับประทานได้แก่ phenyl¬propanolamine, ephedrine, pseudoephedrine แม้จะไม่มี rebound effect แต่ก็ทำให้เกิดฤทธิ์ข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว ตื่นเต้น ร้องกวน ไม่ยอมนอน

ในเด็กเล็กต่ำกว่า 6 เดือน ถ้าน้ำมูกข้นเหนียวมากอาจใช้ saline nose drop (ทำเองได้โดยผสมเกลือแกง ¼  ช้อนชา กับน้ำ 1 ออนซ์ ต้มจนเดือดแล้วทิ้งให้เย็น) หยอดจมูก 2 ข้างๆ ละ 1 หยด จะทำให้น้ำมูกและเสมหะเหนียวน้อยลง ไหลลงคอเอง หรือไอและจามออกได้ง่ายขึ้น ทำให้จมูกโล่งขึ้น แต่อาจทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้ จึงควรหยอดก่อนให้นม

3. ยาแก้ไอ อาการไอจากหวัดส่วนใหญ่เกิดจาก postnasal drip ไป กระตุ้นที่คอทำให้ไอ ดังนั้นการลดน้ำมูกลงอาการไอควรจะหายไปด้วย นอกจากในกรณีที่ไอจากการอักเสบของทางเดินหายใจร่วมด้วย ยาแก้ไอจึงไม่จำเป็นต้องใช้ ในทางปฏิบัติอาจให้ expectorant ได้แก่ ammonium salt, glyceryl guiacolate สำหรับ mucolytic agent โดยทั่วไปไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ cough depressant เลย

4. ยาปฏิชีวนะ นอกจากในเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปีที่ acute febrile nasopharyngitis อาจเกิดจาก group A streptococcus แล้ว ยาปฏิชีวนะในโรคหวัดมีใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเท่านั้น เนื่องจากการให้ยาปฏิชีวนะในระยะแรกของการติดเชื้อไวรัสนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นแล้วยังจะเพิ่มอุบัติการและความรุนแรงของการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนภายหลังอีกด้วย สำหรับการเลือกยาปฏิชีวนะขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนที่เกิด โดยทั่วไปใช้ยากลุ่ม penicillin, ampicillin หรือ amoxicillin และ erythromycin

การป้องกัน
ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอเนื่องจากอากาศเย็นจะทำให้เป็นหวัดได้ง่ายขึ้น หลีกเลี่ยงการถูกละอองฝนโดยเฉพาะฝนที่ตกใหม่ๆ ซึ่งจะชะล้างเอาเชื้อไวรัสในอากาศลงมาด้วย ไม่ควรพาเด็กไปที่ชุมชนแออัดอันมีโอกาสจะได้รับเชื้อง่ายขึ้น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังเป็นหวัด เด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดพักการเรียนเพื่อให้เด็กได้พักผ่อนเต็มที่ จะหายเร็วขึ้นและไม่กระจายเชื้อโรคให้เด็กอื่นๆ ด้วย การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอจะลดอุบัติการการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ ลง เด็กขาดอาหารหรือเด็กอ้วนเกิน 95 percentile พบว่ามีการติดชื้อบ่อยกว่าปกติ

สำหรับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส และยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโดยตรง (เช่น ribavirin) กำลังมีการศึกษากันมาก และคงมีที่ใช้ในอนาคต

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กอาการน้อยกว่าในผู้ใหญ่ เกิดจาก influ¬enza virus พบมากในฤดูฝน ระยะฟักตัว 1-3 วัน ระยะติดต่อ 3 วันแรกเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยจะมีไข้หนาวสะท้าน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาแดง คอแดง ส่วนอาการไอมีน้ำมูก และคัดจมูกอาจพบร่วมด้วย แต่ไม่รุนแรง และบางคนไม่มีอาการเลย

ภาวะแทรกซ้อนได้แก่ viral pneumonia, encephalitis, myocarditis, Reye’s syndrome และ secondary bacterial pneumonia ซึ่งพบ
staphylococcal pneumonia สูงกว่าในกรณีทั่วๆ ไป

ให้การรักษาตามอาการ หลีกเลี่ยงการใช้ Aspirin เนื่องจากมีรายงานว่า ทำให้เกิด Reye’s syndrome ผู้ป่วยที่มี secondary bacterial pneumonia ให้ cloxacillin หรือ methicillin

ที่มา:พรพิมล  พฤกษ์ประเสริฐ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า