สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน(Menopausal syndrome)

เป็นภาวะที่มักพบในช่วงอายุระหว่าง 40-59 ปี หรือที่เรียกว่า วัยทอง ซึ่งมักเป็นในช่วงใกล้และหลังวัยหมดประจำเดือน

วัยหมดประจำเดือน(menopause) จะนับตั้งแต่ระยะเวลา 12 เดือนหลังมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงอายุ 51-55 ปี หรืออาจเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 40 ปีในบางราย แต่จะเรียกว่า วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด(premature menopause) ถ้าเกิดขึ้นก่อนอายุ 40 ปีวัยทอง

สาเหตุ
เกิดจากภาวะที่รังไข่ค่อยๆ ลดจนกระทั่งหยุดทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนอย่างถาวร ทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนที่เคยเกิดขึ้นเป็นวงจรในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผู้หญิงในวัยนี้

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจต่างๆ จะค่อยๆ เป็นมากขึ้น เนื่องจากความแปรปรวนของระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนวัยหมดประจำเดือนและการลดลงของเอสโทรเจนอย่างมากในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน มักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะพร่องเอสโทรเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต่อมาอีกหลายปีจนเข้าสู่วัยสูงอายุ

อาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง หรืออาจไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ในรายที่หมดประจำเดือนก่อนกำหนด

อาการ
ช่วงอายุระหว่าง 40-50 ปี เป็นระยะใกล้ถึงวัยหมดประจำเดือน ที่เรียกว่า วัยใกล้หมดประจำเดือน(perimenopause) อาการผิดปกติของผู้ป่วยจะรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป บางรายอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นเด่นชัดก็ได้ก่อนที่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนประมาณ 2-8 ปี

มักเกี่ยวเนื่องกับความแกว่งขึ้นลงของระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน รวมทั้งภาวะพร่องเอสโทรเจนที่ทำให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการประจำเดือนมากไม่สม่ำเสมอ มาก่อนหรือช้ากว่าปกติ อาจมาน้อยหรือมากไม่แน่นอน หรือประจำเดือนอาจหายไปหลายเดือนแล้วกลับมามีประจำเดือนเป็นปกติใหม่ในบางราย หรือบางรายอาจมีประจำเดือนสม่ำเสมอทุกเดือนจนเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเลยก็เป็นได้

ผู้ป่วยมักมีอาการร้อนซู่ซ่าตามผิวกาย เช่น ตามใบหน้า ต้นคอ หัวไหล่ แผ่นหลังในช่วงสั้นๆ ประมาณ 30 วินาที หรือ 5 นาที อาจเป็นทุกชั่วโมงหรือทุก 2-3 วัน มักจะเป็นช่วงกลางคืน อาจทำให้รู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด นอนไม่หลับในรายที่เป็นมาก ก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน 1-2 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการซู่ซ่านำมาก่อน และหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว 1-2 ปี อาการนี้จะหายไป และมักไม่เกิน 5 ปี หรืออาจเกิน 5 ปีในบางราย จะมีความแตกต่างกันไปในหญิงแต่ละคนที่มีความถี่และความรุนแรงของอาการร้อนซู่ซ่า อาการอาจถี่ขึ้นจากการกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น การกินอาหารเผ็ด การดื่มกาแฟหรือแอลกอฮอล์ อากาศร้อน ความเครียด ปัญหาครอบครัว เป็นต้น

ผู้ป่วยอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า จิตใจห่อเหี่ยว ความจำเสื่อม หลงๆ ลืมๆ ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ อาจมีเหงื่อออกโดยเฉพาะเวลากลางคืน หรืออาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตามข้อ เป็นต้น

เมื่อเกิดภาวะพร่องเอสโทรเจน ในระยะต่อมาก็อาจมีอาการเยื่อบุช่องคลอดแห้ง อาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ ผิวหนังแห้ง ผมแห้ง ริมฝีปากแห้ง ผมร่วง เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน อาจพบผู้ป่วยบางรายมีไขมันที่หน้าท้อง เต้านมลดความเต่งตึง ผมบาง อาจพบอาการที่เกิดขึ้นตามวัยโดยไม่เกี่ยวข้องกับภาวะพร่องเอสโทรเจน เช่น ความดันโลหิตสูง หรือน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าเดิม

ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญมักเป็นผลมาจากภาวะพร่องเอสโทรเจน คือ
-เยื่อบุช่องคลอดบาง แห้ง ขาดความยืดหยุ่น มักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน ขณะร่วมเพศอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดเกิดการอักเสบของช่องคลอดได้

-กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานหย่อนยาน ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน ทำให้เกิดอาการกั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดเวลาหัวเราะ ไอหรือยกของหนัก

-เยื่อบุท่อปัสสาวะบาง ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน ทำให้มีอาการแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่าย

-ผิวหนังบาง แห้ง ขาดความยืดหยุ่น ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

-ภาวะกระดูกพรุน ช่วงหลังวัยหมดประจำเดือนมักจะเกิดภาวะนี้

-ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โดยพบว่าแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง และเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน

-โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยมักมีอายุมากกว่า 60-65 ปี ทำให้เกิดภาวะโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

-โรคสมองเสื่อม หลงๆ ลืมๆ ช่วงย่างเข้าวัยสูงอายุมักจะเกิดภาวะนี้ขึ้น

การรักษา
1. ไม่ต้องให้ยารักษาแต่อย่างใดถ้าผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย ควรให้ความรู้และความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ และจะหายไปได้เอง

2. ควรให้ยารักษาตามอาการหากมีอาการไม่สุขสบายมาก เช่น ให้ยาแก้ปวดถ้าผู้ป่วยปวดศีรษะหรือปวดข้อ หรือให้ยาทางจิตประสาทหากมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เป็นต้น

3. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการมากขึ้น เช่น มีอาการร้อนซู่ซ่ามาก เจ็บปวดขณะร่วมเพศ ปัสสาวะเล็ด หรือไม่เคยได้รับการตรวจสุขภาพมาก่อนหรืออาจสงสัยว่าจะเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือโพรงมดลูกเมื่อมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก

หญิงวัยหมดประจำเดือนแพทย์มักวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดพบว่าระดับฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ และฮอร์โมนแอลเอชสูง และระดับเอสโทรเจนต่ำ อาจตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดด้วยการตรวจพิเศษเพิ่มเติมอาจพบไขมันในเลือดผิดปกติ ถ่ายภาพรังสีเต้านมเพื่อตรวจกรองมะเร็งเต้านม ตรวจแพ็ปสเมียร์เพื่อหามะเร็งปากมดลูก ในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุมดลูก หรือตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก เป็นต้น

แพทย์จะให้กินฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทนในรายที่มีอาการมากเพื่อลดอาการต่างๆ เช่น ร้อนซู่ซ่า ปัสสาวะเล็ด ภาวะเยื่อบุช่องคลอดและผิวหนังบางและแห้ง อาการทางจิตประสาท เป็นต้น ด้วยวิธีดังนี้
-ให้เอสโทรเจน ร่วมกับโพรเจสเทอโรน ต่อเนื่องกันทุกวัน นิยมใช้ยาเม็ดที่มีฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดในเม็ดเดียวกัน เหมาะสำหรับในรายที่หมดประจำเดือนมานานแล้ว หรือไม่อยากมีประจำเดือนอีก อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอยในช่วง 2-3 เดือนแรก และจะหายไปได้เองในที่สุด

-ให้เอสโทรเจน ในวันที่ 1 ถึง 25 และให้โพรเจสเทอโรน ในวันที่ 16 ถึง 25 ของรอบเดือน วิธีนี้เหมาะสำหรับในรายที่ยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน หรือเพิ่งหมดประจำเดือนไม่เกิน 2 ปี และจะทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกแบบประจำเดือนทุกเดือน

เพื่อประสิทธิผลในการรักษาแพทย์จะเลือกใช้ขนาดยาที่ต่ำที่สุด นัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลเป็นระยะ ปรับเปลี่ยนขนาดและชนิดของยาเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง ระยะเวลาที่ให้ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ที่ให้และการตอบสนองต่อการรักษา อาจให้นานประมาณ 1-2 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ในรายที่เพื่อลดอาการร้อนซู่ซ่า อาการทางจิตประสาท หรือปวดข้อและกล้ามเนื้อ

แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการที่พบในกรณีที่ไม่ได้ให้ฮอร์โมนทดแทน เช่น ให้ใช้ครีมเอสโทรเจน ทาช่องคลอดทุกคืนหรือทาทุกคืนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วเว้น 1 สัปดาห์สลับไปเรื่อยๆ ในรายที่มีช่องคลอดอักเสบจากเยื่อบุช่องคลอดบางและแห้ง หรือให้ใช้เจลลีหล่อลื่น เช่น เจลลีเค-วาย ใส่ในช่องคลอดในรายที่มีอาการเจ็บปวดขณะร่วมเพศ แพทย์อาจให้ยาฟลูออกซีทีน กาบาเพนทิน หรือโคลนิดีน ในรายที่มีอาการร้อนซู่ซ่า และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบจากภาวะอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดผิดปกติ กระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. เพื่อบรรเทาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะหมดประจำเดือน ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
-ออกกำลังกายเป็นประจำ
-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
-ผ่อนคลายความเครียด เช่น ทำสมาธิ ฝึกโยคะ เป็นต้น
-ควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำหนัก
-ไม่สูบบุหรี่
-ควรกินน้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ถั่วเหลืองเป็นประจำ
-หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด กาแฟ แอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบขึ้น

2. ผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือนที่มีการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง จะมีอาการแบบโรคของวัยหมดประจำเดือนได้จากภาวะพร่องฮอร์โมนเอสโทรเจน ผู้ป่วยอาจต้องกินเอสโทรเจนอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยหมดประจำเดือนเพื่อเป็นการทดแทน

3. ผู้หญิงอายุ 40-50 ปีที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว หากมีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอยหรือออกนานกว่าปกติ หรือกลับมีประจำเดือนครั้งใหม่หลังจากหมดไปนานกว่า 6 เดือนแล้ว อย่าคิดว่าเป็นเพียงอาการของภาวะใกล้หมดประจำเดือนเพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุมดลูกก็ได้

4. อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วน้ำดี โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งเต้านม ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด จากการใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนร่วมกับโพรเจสเทอโรนติดต่อกันนานๆ ดังนั้นแพทย์จึงมักใช้ฮอร์โมนนี้ในรายที่จำเป็น เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และในรายที่มีภาวะข้อห้ามใช้ก็จะหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนชนิดนี้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า