สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคลำไส้แปรปรวน(Irritable bowel syndrome/IBS)

โรคลำไส้แปรปรวนหรือไอบีเอส เป็นภาวะที่ลำไส้ทำหน้าที่ผิดปกติโดยไม่มีพยาธิสภาพหรือความผิดปกติของโครงสร้างลำไส้ และโรคทางกายใดๆ จะมีอาการปวดท้อง มีลมในท้องมากร่วมกับท้องเดินหรือท้องผูกแบบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย อาจพบมีอาการครั้งแรกช่วงอายุ 20 ปี แต่ที่พบมากคือในช่วงอายุ 30-50 ปี และจะพบน้อยลงหลังอายุ 60 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โรคนี้แม้จะเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาที่ยาวนานแต่ก็ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือกลายเป็นโรคร้ายแรงใดๆ ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโรคลำไส้แปรปรวน

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม สภาพจิตใจ ทำให้ระบบประสาท ระบบฮอร์โมน สารเคมีต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง ลำไส้ใหญ่จึงทำหน้าที่ผิดปกติไป สารเหล่านี้เช่น พรอสตาแกลนดิน ซีโรโทนิน แบรดิไคนิน เป็นต้น ลำไส้ใหญ่จะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นจากความเครียดหรืออาหารบางชนิด การเคลื่อนตัวเร็วกว่าปกติจึงทำให้ท้องเดิน ถ้าเคลื่อนตัวช้ากว่าปกติก็ทำให้ท้องผูก และถ้ามีการบีบตัวมากกว่าปกติก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ หรือที่เรียกว่า โรคลำไส้แปรปรวนหลังติดเชื้อ(post-infectious IBS)

อาการ
มีอาการปวดท้อง มีลมในท้องร่วมกับท้องเดิน ท้องผูก หรือท้องเดินกับท้องผูกสลับกัน เป็นๆ หายๆ แรมปี อาจจะมีอาการทุกวัน บางวัน หรือบางช่วง ซึ่งนับรวมกันใน 1 ปีเป็นเวลามากกว่า 12 สัปดาห์ ลักษณะอาการและความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลหรือช่วงเวลา

ลักษณะอาการปวดท้องไม่แน่นอน อาจปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ปวดตื้อๆ ปวดแปลบๆ แน่นอึดอัดไม่สบายท้อง ส่วนใหญ่มักปวดบริเวณท้องน้อยด้านซ้ายอาการจะทุเลาลงทันทีเมื่อได้ผายลมหรือถ่ายอุจจาระ ซึ่งผู้ป่วยมักมีลมในท้องมาก ท้องอืด จะมีลมออกมาด้วยเมื่อถ่ายอุจจาระ

ในรายที่ท้องเดินจะถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยมากกว่า 3 ครั้ง จะปวดท้องอยากถ่ายทันทีหลังจากกินอาหารเข้าไปโดยเฉพาะถ้าปล่อยให้ท้องว่างมานานแล้วรับประทานอาหารเข้าไป หรือจากกินมาก กินเร็วๆ หรือกินอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยจะปวดท้องถ่ายทันทีเพราะกลั้นไม่อยู่ อยากถ่ายบ่อยๆ เพราะรู้สึกว่าถ่ายยังไม่สุด โดยทั่วไปมักถ่าย 1-3 ครั้งหลังอาหารบางมื้อแล้วจึงหายเป็นปกติ อาการไม่รุนแรง ไม่คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีภาวะขาดน้ำ มักไม่ต้องลุกมาถ่ายตอนกลางคืนจนกว่าจะถึงรุ่งเช้า

ในรายที่มีอาการท้องผูก จะถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ อุจจาระเป็นก้อนแข็งเล็กๆ ถ่ายลำบากมีอาการปวดบิดร่วมด้วย
บางรายมีท้องเดินสลับกับท้องผูกเป็นช่วงๆ ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด บางรายมีลมในท้อง ปวดท้องโดยไม่มีอาการท้องเดินหรือท้องผูกคล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร หรืออาการอาหารไม่ย่อย

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการกำเริบรุนแรง ได้แก่
-ความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
-อาหารประเภทนม อาหารรสจัด แอลกอฮอล์ กะทิ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต แยม ผลไม้ น้ำหวาน น้ำผึ้ง หมากฝรั่ง โคล่า น้ำโซดา น้ำอัดลม เป็นต้น
-กินอาหารในปริมาณมากๆ กินเร็วๆ กินอาหารเมื่อปล่อยให้ท้องว่างมานาน
-ยาบางชนิดอาจทำให้ท้องผูกหรือท้องเดินได้
-ขณะที่มีประจำเดือน
-การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้

ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กังวล ซึมเศร้า อาหารไม่ย่อย ปวดศีรษะ ไมเกรน ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดประจำเดือน ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ นอนไม่หลับ เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
บางครั้งอาจพบมีอาการท้องอืดมีลมในท้องมาก แต่มักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อน
ไม่พบภาวะแทรกซ้อน นอกจากทำให้วิตกกังวลว่าจะเป็นมะเร็งหรือโรคร้ายแรงต่างๆ ในบางรายมีอาการมากจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจทำให้โรคริดสีดวงทวารกำเริบได้ในกรณีที่ถ่ายบ่อยหรือต้องเบ่งมากๆ

การรักษา
1. หากการวินิจฉัยแน่ชัดแล้วว่าเป็นลำไส้แปรปรวนให้สังเกตสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบและให้ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
-ออกกำลังกายเป็นประจำ ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฝึกสมาธิ สวดมนต์
-หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นเหตุกำเริบ กินช้าๆ กินพออิ่ม รับประทานมื้อละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น
-หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ท้องผูกหรือท้องเดิน
-ดื่มน้ำวันละ 8-12 แก้ว กินอาหารที่มีกากใยให้เพียงพอ หากท้องผูกควรเพิ่มอาหารกากใยให้มากขึ้น หรือกินสารเพิ่มกากใย แต่ถ้าเกิดอาการท้องเดินระวังอย่ากินอาหารที่มีกากใยมาก

2. หากอาการไม่ดีขึ้นหรือกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันควรใช้ยาช่วยบรรเทาเป็นครั้งคราว เช่น แอนติสปาสโมดิก เมื่อปวดบิดท้อง โลเพอราไมด์เมื่อท้องเดิน ยาระบายเมื่อท้องผูก ยาทางจิตประสาทเมื่อวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

3. ถ้าอาการรุนแรงเช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ ซีด มีไข้ ท้องเดินต่อเนื่องนานเกิน 1 สัปดาห์ ท้องผูกรุนแรง ลุกถ่ายตอนกลางคืน มีประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัวหรือมีอาการครั้งแรกเมื่อ 50 ปีขึ้นไป หรือสงสัยจะเกิดจากสาเหตุอื่น หรือให้ยาบรรเทาไม่ได้ผล ควรส่งให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงด้วยการตรวจอุจจาระ ตรวจเลือด เอกซเรย์ ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อหาสาเหตุที่ร้ายแรงเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ หากไม่พบสิ่งผิดปกติก็จะได้รักษาตามอาการของโรคลำไส้แปรปรวน

หากยาที่ใช้ขั้นพื้นฐานไม่ได้ผลหรือมีอาการรุนแรงขึ้น อาจเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดใหม่ได้ เช่น อะโลซีทรอน(alosetron)สำหรับอาการท้องเดิน หรือเทกาซีรอด(tegaserod) สำหรับอาการท้องผูก ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ควรระมัดระวังในการใช้กับหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่ให้นมบุตร ยานี้ใช้ได้ดีในผู้หญิงไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ชาย อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้ยาทางจิตประสาทและทำจิตบำบัดในรายที่มีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าร่วมด้วย

ข้อแนะนำ
1. ให้คำแนะนำและอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าโรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง และไม่ทำให้กลายเป็นโรคร้ายแรงใดๆ เพียงแต่จะสร้างความรำคาญหรือมีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น สามารถใช้ยาบรรเทาอาการเป็นครั้งคราวได้หากมีความจำเป็น

2. แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้มีอาการกำเริบขึ้น

3. หากมีอาการผิดไปจากเกณฑ์การวินิจฉัยหรือสงสัยจะเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า