สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคลมจากความร้อน(Heat stroke)

เกิดจากร่างกายสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิจนไม่สามารถกำจัดความร้อนออกจากร่างกายเมื่อสะสมความร้อนในร่างกายสูงมากขึ้นจะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำหน้าที่ไม่ปกติ เช่น สมอง หัวใจ ตับและไต ซึ่งอาจทำให้อันตรายถึงชีวิตได้ ถือเป็นภาวการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินชนิดหนึ่งโรคลมจากความร้อน

พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย แต่ที่พบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ที่กินยาบางชนิดที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยา และคนอ้วน มักเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรค

สาเหตุ
1. มักเกิดจากการเผชิญกับอากาศร้อนที่มีมากกว่า 39.2 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปติดต่อกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคลมจากความร้อนในผู้สูงอายุ การอยู่ในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือการถ่ายเทอากาศไม่ดีของผู้ที่ร่างกายอ่อนแอจากภาวะการเจ็บป่วย หรืออาจได้รับอันตรายจากความร้อนร่วมกับภาวะขาดอากาศหายใจได้ในเด็กเล็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ที่ปิดประตูหน้าต่างอยู่กลางแดดเปรี้ยงๆ

2. การออกกำลังกายหรือใช้แรงงานอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนชื้นหรือในห้องที่ร้อนและปิดมิดชิดก็อาจทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้นได้ ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มคนที่อายุไม่มาก เช่น นักกีฬา นักวิ่งไกล คนงาน ทหาร ซึ่งร่างกายจะสร้างความร้อนมากเกินกว่าที่จะสามารถกำจัดออกไปได้

สาเหตุดังกล่าวทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิเกิน ขึ้นสูงมากกว่า 41 องศาเซลเซียส เนื่องจากไม่สามารถจำกัดออกไปได้ทำให้อวัยวะต่างๆ ถูกทำลายและทำหน้าที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงเนื่องจากปฏิกิริยาการอักเสบของร่างกาย

อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงจัด ร่วมกับอาการทางสมอง เช่น เดินเซ สับสน พฤติกรรมแปลกๆ ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ และมีประวัติเผชิญคลื่นความร้อน ออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถยนต์ที่จอดอยู่กลางแดดร้อนนานๆ

บางรายอาจมีอาการอื่นๆ นำมาก่อนที่จะมีอาการทางสมองเป็นนาทีๆ หรือชั่วโมงๆ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว กระสับกระส่าย เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
มักพบว่าผู้ป่วยมีไข้มากกว่า 41 องศาเซลเซียส แต่ก็อาจตรงไม่พบไข้หรือไข้ไม่สูงมากถ้ามีการปฐมพยาบาลด้วยการลดอุณหภูมิร่างกายมาก่อนแล้ว ผู้ป่วยมักมีชีพจรเต้นเร็ว หายใจหอบลึก ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ แรงชีพจรกว้าง ผิวหนังร้อน มีเหงื่อออก หรืออาจตรวจพบภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่างๆ เช่น ชัก หมดสติ เพ้อคลั่ง พฤติกรรมแปลกๆ เดินเซ รูม่านตาโตไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง มีจ้ำเขียวตามตัว ถ่ายเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย หรืออาจพบกล้ามเนื้อเป็นตะคริวหรืออ่อนปวกเปียก

ภาวะแทรกซ้อน
มักเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญต่ออวัยวะแทบทุกส่วน เช่น

-หัวใจ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกใต้เยื่อบุหัวใจ

-ปอด ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบจากการสำลัก ภาวะเลือดเป็นด่าง กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

-ไต ไตวายเฉียบพลัน

เลือด ทำให้เลือดออกง่าย ภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย

-กล้ามเนื้อ เซลล์กล้ามเนื้อถูกทำลาย

-สมอง อัมพาตครึ่งซีก หมดสติ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เดินเซ ชัก

-ตับ ดีซ่าน เซลล์ตับตาย ตับวาย

-อิเล็กโทรไลต์ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือต่ำ ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะโซเดียาในเลือดสูง ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแล็กติก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะยูริกในเลือดสูง

การรักษา
จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน เมื่อวินิจฉัยพบว่าเป็นโรคนี้ แพทย์มักจะรีบแก้ไขภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับการหายใจ ให้น้ำเกลือ และหาวิธีลดอุณหภูมิร่างกายให้เหลือ 40 องศาเซลเซียส เช่น การถอดเสื้อออก พ่นตัวด้วยน้ำธรรมดา เป่าด้วยพัดลมขนาดใหญ่ หรือวางน้ำแข็งตามซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ และเมื่ออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียสแล้ว ควรหยุดทำ

แพทย์อาจประเมินอาการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แล้วทำการแก้ไขภาวะผิดปกติตามที่พบ ด้วยการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น

ไม่ควรใช้ยาลดไข้เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและไม่เกิดประโยชน์ เช่น มักจะส่งเสริมให้เลือดออกเมื่อใช้แอสไพริน หรือ อาจมีพิษต่อตับเมื่อใช้พาราเซตามอล และยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น ยาที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก

ผลการรักษามักขึ้นอยู่กับความรุนแรงและเวลาก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจมีโอกาสรอดชีวิตสูงถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องได้เร็ว และอาจมีอัตราตายสูงถ้าปล่อยให้มีอาการนานเกิน 2 ชั่วโมงจึงได้รับการรักษา ในบางรายอาจมีอุณหภูมิแกว่งขึ้นลงอยู่นานเป็นสัปดาห์เมื่อรักษาจนฟื้นตัวดีแล้ว หรืออาการทางสมองอาจหายไม่สนิท มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ท่าทางงุ่มง่ามหรือกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดีในบางราย

ข้อแนะนำ
1. อากาศที่ร้อนอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้หลายลักษณะ เช่น

-อาจเกิดอาการเป็นลมชั่วขณะ เรียกว่า เป็นลมจากความร้อน ถ้ามีผลทำให้ร่างกายขาดน้ำเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ ควรให้ผู้ป่วยนอนพักในที่ร่มและทดแทนสารน้ำโดยการดื่มหรือให้ทางหลอดเลือดดำ

-อาจทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เรียกว่า ตะคริวจากความร้อน เกิดขึ้นได้ ถ้ามีการออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่อากาศร้อนนานๆ มีเหงื่อออกมาก เกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เมื่อดื่มน้ำเข้าไปมากๆ จะทำให้เกลือแร่ในเลือดจางลงจนทำให้กล้ามเนื้อเกิดตะคริวขึ้น

การรักษา ควรทดแทนน้ำกับเกลือแร่ด้วยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือกินของเค็มนอกเหนือจากการพาหลบเข้าที่ร่มแล้ว และอาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำถ้าเป็นมาก

-อาจทำให้เกิดภาวะหมดแรงจากความร้อนได้ในรายที่ได้รับอันตรายจากความร้อนรุนแรงปานกลางถึงมาก เนื่องจากการสูญเสียกลไกการปรับอุณหภูมิร่างกายขนาดเล็กน้อยถึงปานกลาง หรือมีการออกกำลังมากเกิน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติทางสมองหรือภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกับโรคลมจากความร้อน แต่จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้อเป็นตะคริวหรือปวดเมื่อย กระสับกระส่าย อาจตรวจพบว่าชีพจรเต้นเร็ว มีไข้ต่ำกว่า 41 องศาเซลเซียส ความดันตกในท่ายืน ขนลุก อาจมีเหงื่อออกที่ผิวหนังหรือไม่มีก็ได้ ควรให้การปฐมพยาบาลแบบเดียวกับโรคลมจากความร้อนและรีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน

ให้การรักษาโดยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำถ้ามีภาวะความดันตกในท่ายืน ภายใน 2-3 ชั่วโมงอาการควรจะดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น ควรค้นหาสาเหตุอื่นๆ ภาวะนี้อาจรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นโรคลมจากความร้อนและมีอันตรายได้ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ถูกต้อง

-อาจทำให้เกิดโรคลมจากความร้อน ซึ่งมีอันตรายถึงตายได้ในรายที่ได้รับอันตรายจากความร้อนรุนแรงมาก

2. ให้สงสัยว่าเป็นโรคลมจากความร้อนและรีบให้การปฐมพยาบาลและนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงร่วมกับอาการทางสมอง มีประวัติเผชิญคลื่นความร้อน ออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถที่จอดอยู่กลางแดดร้อนนานๆ เนื่องจากโรคนี้มีอันตรายสูง และจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดปลอดภัยได้ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การป้องกัน
ควรป้องกันอันตรายจากความร้อนดังนี้
1. ไม่ควรออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่อากาศร้อนและชื้น

2. ก่อนออกกำลังกายควรดื่มน้ำ 400-500 มล. และระหว่างออกกำลังกายควรดื่มน้ำ 200-300 มล. เป็นระยะๆ ควรสวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ บางๆ และสีอ่อนๆ

3. ควรอยู่ในห้องปรับอากาศหรือมีพัดลมเป่าให้อากาศถ่ายเทสะดวกในช่วงที่มีคลื่นความร้อน ควรอาบน้ำบ่อยๆ ดื่มน้ำมากๆ และสวมเสื้อผ้าหลวมๆ บางๆ สีอ่อน ตามความเหมาะสม

4. ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ในรถยนต์ตามลำพัง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า