สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคมือ-เท้า-ปาก(Hand-foot-and-mouth disease)

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งติดต่อได้ง่าย มักทำให้เด็กเป็นไข้ออกผื่น ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการรุนแรง และสามารถหายได้เอง มักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และตามสถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาลมักพบมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นโรคมือ-เท้า-ปาก

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ค็อกแซกกีเอและบี ไวรัสเอนเทอโตชนิด 71 ซึ่งมักติดต่อได้จากการกินอาหาร ดื่มน้ำ หรือดูดเลียนิ้วมือหรือสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ น้ำเหลือง จากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย และจากการสูดเอาฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด

การติดเชื้อไวรัสค็อกแซกกีเอชนิด 16 มักพบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายไปได้เอง ส่วนที่มีอาการรุนแรงแต่พบได้น้อย คือการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-7 วัน

อาการ
มักพบว่าผู้ป่วยมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ในระยะเริ่มแรก ต่อมาอีก 1-2 วัน จะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่อยากกินอาหาร เด็กอาจร้องงอแง ในช่องปากจะมีจุดนูนแดงๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ตามเยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือก และจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-8 มม. ซึ่งเจ็บมากในเวลาต่อมา และบางรายจะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า หรืออาจขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วมือ หรือแก้มก้น ซึ่งมักจะเป็นจุดแดงราบก่อนในระยะแรกที่เริ่มขึ้น และต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนอง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-7 มม.

ผู้ป่วยมักมีไข้อยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วจะทุเลาไปเอง และภายใน 7 วันแผลในปากมักจะหายได้เอง และภายใน 10 วัน ตุ่มที่มือและเท้าจะหายไปเองและไม่เป็นแผลเป็น แต่มักมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบในรายที่เป็นรุนแรง

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้ประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส ที่เยื่อบุปาก ลิ้น เหงือก มักมีจุดนูนแดง ตุ่มน้ำใส หรือแผลเกิดขึ้น ที่มือ เท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แก้มก้น มักพบจุดแดงราบ ตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำเกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจนกลายเป็นตุ่มหนอง พุพอง ได้ในรายที่เกาเมื่อมีอาการคันเกิดขึ้น หรือจากการเจ็บแผลในปากจนดื่มน้ำได้น้อยจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำขึ้น หรืออาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดขึ้นได้ในบางราย แต่มักไม่รุนแรงและภายใน 10 วันมักจะหายได้เอง

ส่วนอาการสมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ หรือเลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักพบได้น้อยแต่มีความรุนแรงจนถึงขึ้นเสียชีวิตได้

ในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 มักมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้

การรักษา
1. ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนควรให้การรักษาตามอาการดังนี้
-ลดไข้ด้วยการให้พาราเซตามอล

-เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ จนสังเกตเห็นว่ามีปัสสาวะออกมากและใส

-ให้ผู้ป่วยกินอาหารเหลว หรือของน้ำๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู น้ำหวาน ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก โดยใช้ช้อนป้อน หรือในทารกอาจใช้กระบอกฉีดยาค่อยๆ หยอดเข้าปากแทนการดูดจากขวด และเพื่อลดอาการเจ็บแผล ควรให้ผู้ป่วยอมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็นๆ กินไอศกรีม บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ บ่อยๆ

2. ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน เป็นต้น ในกรณีที่แผลกลายเป็นตุ่มหนอง หรือพุพองจากการเกา

3. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำในรายที่เจ็บแผลในปากมากจนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ และเพื่อลดความเจ็บปวดแพทย์อาจใช้ยาชาทาบริเวณแผลในปากที่เกิดขึ้น

4. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนหากมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบ

ข้อแนะนำ
1. ต้องแยกโรคนี้ออกจากโรคเริม อีสุกอีใส แผลแอฟทัส พุพอง เป็นต้น โดยมักจะวินิจฉัยจากลักษณะอาการเป็นสำคัญ หรือแพทย์อาจตรวจเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่งที่คอหอย อุจจาระ หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบนผิวหนัง ถ้าจำเป็น

2. ควรป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยการล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หลังถ่ายอุจจาระและก่อนเตรียมอาหารทุกครั้ง เพราะในบางรายอาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการแสดง แต่สามารถแพร่เชื้อออกมาทางอุจจาระไปสู่ผู้อื่นได้

3. ควรแนะนำให้สังเกตภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ปอด และหัวใจอย่างใกล้ชิด หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที แม้ว่าโรคนี้มักจะหายได้เองภายใน 7-10 วันก็ตาม

4. โรคนี้เป็นคนละชนิดกับโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยที่เกิดในสัตว์ และไม่มีการติดเชื้อจากสัตว์ที่ป่วย

การป้องกัน
1. ผู้ป่วยไม่ควรคลุกคลีกับผู้อื่นนานประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าตุ่มแผลต่างๆ จะหายดี และควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเมื่อเวลาไอหรือจาม

2. หลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนเตรียมอาการ และก่อนเปิบอาหารควรล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง

3. ผู้ป่วยไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกันผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรค เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ขวดนม ช้อน ชาม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เป็นต้น

4. ไม่ควรให้เด็กนำนิ้วมือหรือของเล่นเข้าปาก และควรฝึกเด็กให้มีสุขนิสัยที่ดี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า