สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพิษเอทิลีนออกไซด์กับการป้องกัน

ตามที่องค์การอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของหลายประเทศได้ประกาศให้ เอทิลินออกไซด์ เป็นสารก่อมะเร็ง และเนื่องจากสารดังกล่าวมีใช้ในโรงพยาบาล และหน่ายงานทางการแพทย์ และการสาธารณสุขอื่นๆ ด้วย จึงควรที่จะรู้จักสารนี้ด้วย

เอทิลีนออกไซด์ (Ethylene oxide) หรือ ETO มีสูตรดังนี้ C2H4O เรียกอีกข้อหนึ่งว่า Dimethylene oxide หรือ 1,2 Epoxy ethane และ oxitrane มีจุดเดือดที่ 51 องศา F เป็นกาซไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายอีเทอร์ บางครั้งพบในสภาพของเหลว เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 51 องศา F

การใช้นอกวงการแพทย์และวงการสาธารณสุข
เป็นสารในการผลิต ehylene glycol (antifreeze) ผลิตโพลีเอสเตอร์ไฟเบอร์และฟิล์ม ใช้เป็นสารกำจัดเชื้อราในทางการเกษตร กำจัดแมลง ใช้เป็นสารรมควันผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ

การใช้ในโรงพยาบาล
เนื่องจาก เอทิลีนออกไซด์มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่แบคทีเรีย เชื้อรา ฆ่าสปอร์ได้ และฆ่าไวรัสด้วย จึงมีการนำเอทิลีนออกไซด์มาใช้อย่างกว้างขวางดังนี้

-ใช้ในงานปราศจากเชื้อทางเภสัชกรรม ทันตกรรม และอื่นๆ
-ใช้ทำให้ปราศจากเชื้อ ของเครื่องมือพลาสติก เครื่องมือที่เป็นยาง
-งานทางห้องปฏิบัติการหรืองานอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่มีการใช้เครื่อง ETO sterilizers หรือเครื่องทำให้ปลอดเชื้อโดยใช้เอทิลีนออกไซด์ เช่น งานห้องผ่าตัด เป็นต้น

วัสดุที่เป็นยาง และที่เป็นพลาสติกที่ได้ผ่านการทำให้ปราศจากเชื้อด้วยเอทิลีนออกไซด์นั้น สามารถดูดซับเอทิลีนออกไซด์ตกค้างได้ และปล่อยเอทิลีนออกไซด์จากวัสดุที่นึ่งแล้วได้เป็นหลายชั่วโมงถึง เป็นวันๆ ทำให้บรรยากาศบริเวณนั้น เป็นอันตรายต่อผู้สัมผัสได้

พิษเอทิลีนออกไซด์แบบเฉียบพลัน
เอทิลีนออกไซด์ทำให้ระคายเคืองเยื่อบุตา ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หายใจลำบาก เขียว ปอดบวมนํ้า งุนงง อ่อนเพลีย สูญ เสียการประสานงาน ความจำเสื่อม และระบบนำกระแสประสาทช้าลง ผิวหนังอาจมีลักษณะแบบฟรอทไบ้ท์ โดยรวมแล้วเอทิลีนออกไซด์มีผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ คือ ตา ระบบเลือด ระบบหายใจ ตับ สมอง และไต ในผู้ที่ทำงานผลิตเอทิลีนออกไซด์ ที่ได้รับอุบัติเหตุในการทำงาน และสัมผัสกับเอทิลีนออกไซด์ เป็นเวลานาน 2 ชั่วโมง จำนวน 7 คน พบมีจำนวนโครโมโซมที่ผิดปกติแบบ Chromosoma aberation สูงมากกว่ากลุ่ม เปรียบเทียบอย่างชัด เจน

พิษเอทีลีนแบบเรื้อรัง
เป็นสารก่อมะเร็งและทำให้เกิดการกลายพันธุ์

ในรายงานของประเทศสวีเดน พบว่า ในคลังเก็บสินค้าที่มีการใช้เอทิลีนออกไซด์ที่มีระดับ เท่ากับ 20 ppm (range= 2-70 ppm) ในจำนวนคนทำงานสัมผัส 70 คน ในระยะเวลา 5 ปี มีผู้ป่วยด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Chronic myeloid leukemia acute myelogenetic leukemia และ primary macroglobulinemia (WaI kenstrom) รวม 3 ราย ซึ่งสูงกว่าค่าที่คาดประมาณการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในประชากรปีเดียวกันมาก

พิษในสัตว์ทดลอง
จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง 14 ชนิดพบว่า 13 ชนิดมีอัตราเพิ่มของการกลายพันธุ์ มีรายงานว่าทำให้มีความผิดปกติของโครโมโซมในหนูแรท และมีรายงานการทำงานอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต และอื่นๆ อีกมาก

ทางเข้าสู่ร่างกาย
เอทีลีนออกไซด์เข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ การกิน และการซึมผ่านผิวหนัง และเยื่อบุตา

ระดับเอทิลีนที่แนะนำไม่ให้เกินในบรรยากาศการทำงาน
สถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกากำหนดที่ < 0.1 ppm และระดับที่อันตรายต่อชีวิตทันที เท่ากับ 800 ppm

องค์การอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกา กำหนดที่ 1 ppm

ในประเทศสหราชอาณาจักร กำหนดที่แบบระยะยาวที่    5 ppm

โดยที่ระดับสูงสุดที่ยอมให้มีได้ ไม่เกินที่    50 ppm

การป้องกันพิษ เอทิลีนออกไซด์
เริ่มจากการหาสารทดแทน หรือใช้วิธีอื่น หลีกเลี่ยงการใช้ เอทิลีนออกไซด์ในการทำให้ปราศจากเชื้อหรืองานที่ต้องการอื่นๆ ถ้าใช้ต้องเริ่มที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทราบว่าได้ทำงานหรือสัมผัสกับกระบวนการทำงานที่มีการใช้เอทิลีนออกไซด์ และมีแผนการไม่ใช้ถ้าทำได้ หากจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังสูง และมีการเฝ้าคุมอย่างดี หรือมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันสุขภาพส่วนบุคคล เช่น เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ระดับ เอทิลีนออกไซด์อยู่ในระดับที่อันตราย แต่เนื่องจากสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดเอทิลีนออกไซด์เป็นสารก่อมะร็ง และให้ผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด โดย เฉพาะในการใช้เครื่องช่วยหายใจต้องเป็นชนิดที่มีอากาศให้ด้วย และแนะนำให้ระดับของสารก่อมะเร็งทุกชนิดในบรรยากาศการทำงานควรจะทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในที่ทำงานควรมี ป้ายเตือน “สารก่อมะเร็ง” โปรดระวัง และผู้ที่เข้าไปทำงานควรได้ป้องกันตน และไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เข้าในบริเวณที่มี เครื่องมือซึ่งใช้ เอทิลีนออกไซด์หรือบริเวณที่มีสิ่งของที่เพิ่งนำออกจากเครื่องมือนี้ใหม่ๆ ห้ามเด็กเข้าใกล้บริเวณนี้ ถ้าใช้การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยกว่าได้เป็นสิ่งที่ควรทำ

ที่มา:แพทย์หญิงอรพรรณ์  เมธาดิลกกุล
โรงพยาบาลราชวิถี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า