สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพิษเบนซินและการป้องกัน

โรคพิษเบนซีนคือโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับเบนซีนเข้าไปแล้วทำอันตรายแก่อวัยวะและระบบการทำงานของร่างกาย ได้แก่ พิษเบนซีนแบบเฉียบพลันและพิษเบนซีนเรื้อรัง ในพิษแบบเฉียบพลันนี้จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มึนงง เดินเซ แน่นหน้าอก หายใจช้าลง หมดสติ และตายได้ โดยทำลายระบบประสาท และระบบเลือด พูดไม่ค่อยชัด หน้าแดง คลื่นไส้ ชาปลายมือปลายเท้า ไม่มีแรง สำหรับพิษเบนซีนเรื้อรัง จะทำให้ระบบการสร้างเลือดถูกกดด้วย เกิดโรคโลหิตจางอะพลาสติก และยังทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

เบนซีนคืออะไร
เบนซีนคือ Bencene มีสูตร เคมีคือ C6H6 เป็นของเหลวใสไม่มีสี กลิ่นหอม ระเหยได้ ไวไฟมาก มีคุณสมบัติ เป็นตัวทำละลายที่ดี

เบนซีนมีที่ใช้อย่างไร
เบนซีน เป็นสารที่มีการใช้อย่างกว้างขวาง ใช้ผสมในน้ำมันรถยนต์ ใช้ในอุตสาหกรรมทำยาง กาวยาง หนังเทียม พรมน้ำมัน น้ำมันล้างสี น้ำมันผสมกับแซลแลค นํ้ามันชักเงา นํ้ายาล้างโลหะให้สะอาดก่อนชุบ นอกจากนั้นยังมีใช้เป็นสารทำละลายไขมัน หมึก สี พลาสติกและยาง

กลุ่มเสี่ยงต่อโรคพิษเบนซีน
ได้แก่ช่างสี ช่างทำรองเท้า ช่างทำกระเป๋า ผู้ผลิตกาว ผลิตวัสดุที่ผสมใยหิน ถ่านไฟฉาย งานขัดเงา ทำกรดคาร์บอลิค ผลิตสี งานปิโตรเคมี งานตกแต่งพื้นเพื่อพ่นสี และงานอื่นๆ

เบนซีนเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
เบนซีน เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเอาไอระเหยของเบนซีน เข้าไปและการซึมผ่านทางผิวหนังบ้าง

การป้องกันและควบคุมโรคพิษเบนซีน
1. การใช้สารอื่นทดแทนเบนซีน

2. การให้ความรู้แก่ผู้ทำงานหรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเบนซีนควรมีความรู้เกี่ยวกับพิษของเบนซีน และการป้องกัน

3. แหล่งเก็บเบนซีนควรเป็นที่ปลอดภัย มีป้ายบอกชื่อและเตือนภัยชัด เจน

4. มีระบบกำจัดเบนซีนแบบเฉพาะที่หรือที่ถูกต้อง

5. มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่นหน้ากากที่รับรองแล้ว หรือชุดปฏิบัติงานที่เหมาะสม

6. มีอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ได้แก่การเปลี่ยนชุดปฏิบัติงาน ล้างมือ อาบน้ำ สระผม กรณีทำงานหรือสัมผัสกับเบนซีน

7. การตรวจสุขภาพ เพื่อค้นพบโรคพิษเบนซีนในผู้ทำงานที่สัมผัสกับ เบนซีนเป็นประจำ

ที่มา:อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า