สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพิษสุนัขบ้า(Rabies)

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่ยังไม่มียารักษา ผู้ป่วยทุกรายมักเสียชีวิตภายในไม่กี่วันหลังจากมีอาการแสดง ผู้ที่เสียชีวิตเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์คือ เมื่อสุนัขบ้ากัดแล้วไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบถ้วน ปัจจุบันพบว่ามีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้เป็นจำนวนมากจากการถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์อื่นที่สงสัยว่ามีเชื้อกัด หรือข่วน ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เมื่อถูกสัตว์ที่มีพิษสุนัขบ้ากัดใหม่ๆ ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้โรคพิษสุนัขบ้า

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้าที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว ค้างคาว วัว ควาย แพะ แกะ หมู ลา อูฐ กระรอก หนู เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลเมื่อถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลียรอยแผลถลอกเล็กๆ น้อยๆ ถ้าผิวหนังเป็นปกติดีไม่มีรอยถลอกเชื้อจะไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ เชื้อจะเพิ่มจำนวนด้วยการแบ่งตัวไปตามเส้นประสาทส่วนปลายเข้าไขสันหลังและสมองและแพร่กระจายมาตามระบบประสาทส่วนปลายไปยังอวัยวะต่างๆ รวมทั้งต่อมน้ำลาย บางครั้งเชื้ออาจเข้าสมองโดยไม่ต้องแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ระยะฟักตัวของโรคจะสั้นกว่า 7 วัน บางครั้งเชื้อเข้าไปอาศัยในเซลล์อื่น เช่น มาโครฟาจ เป็นเวลานานก่อนจะเข้าสู่เซลล์ประสาททำให้ระยะฟักตัวของโรคยาวขึ้น

ระยะฟักตัวระยะที่ถูกกัดจนมีอาการประมาณ 7 วันถึง 6 ปี ส่วนใหญ่หลังจากสัมผัสโรคมักมีอาการในช่วง 20-60 วัน ที่พบอาการหลังจาก 1 ปีมีเป็นจำนวนน้อย ระยะฟักตัวของโรคจะสั้นขึ้นหากถูกสัตว์ที่มีพิษนี้กัดที่หน้าหรือศีรษะอย่างรุนแรง

อาการ
ระยะอาการนำของโรค มีไข้ต่ำๆ ประมาณ 38-38.5 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน กระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน วิตกกังวล รู้สึกกลัว นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย

อาการสำคัญที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค คือ มีอาการปวดเสียวบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด คัน ชา ปวดแสบปวดร้อน และอาการจะลุกลามไปทั่วแขนหรือขา

ระยะปรากฏอาการทางระบบประสาท มักเกิดหลังอาการนำข้างต้นมา 2-10 วัน มีอยู่ 3 แบบ คือ

1. แบบคลุ้มคลั่ง พบได้บ่อยที่สุด มีอาการไข้ กระวนกระวาย สับสน ในระยะแรก จะเกิดขึ้นบ่อยเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น แสง เสียง เป็นต้น จะมีการแกว่งของระดับความรู้สึกตัวขณะรู้สึกตัวดี สามารถพูดคุยได้ปกติ แต่จะมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง เดินเพ่นพ่าน เอะอะอาละวาดในขณะความรู้สึกตัวไม่ดีในเวลาต่อมา

ต่อมาจะมีอาการกลัวลมแม้จะเป่าลมที่หน้าหรือคอก็ผวา กลัวน้ำ เวลาดื่มน้ำจะปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอหอยทำให้กลืนไม่ได้ แม้กระหายก็ไม่กล้าดื่มน้ำ หรือกล่าวถึงน้ำ พบได้ในผู้ป่วยระยะนี้เกือบทุกราย แต่ไม่จำเป็นต้องพบร่วมกันทั้งสองอาการ เมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระยะไม่รู้สึกตัวอาการเหล่านี้ก็จะหายไป

ในระยะหลังของโรคจะพบอาการถอนหายใจเป็นพักๆ มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น น้ำตาไหล น้ำลายไหล เหงื่อออกมาก ขนลุก อาจมีการแข็งตัวขององคชาตและหลั่งน้ำอสุจิบ่อยโดยไม่ตั้งใจในผู้ชาย ต่อมาผู้ป่วยจะซึม หมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิตภายใน 7 สัน หลังจากแสดงอาการ

2. แบบอัมพาต มีอาการไข้ร่วมกับการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขาและทั่วร่างกาย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยระยะนี้มีอาการกลัวลมและกลัวน้ำ และเสียชีวิตในเวลา 13 วัน โดยเฉลี่ย ซึ่งบางครั้งอาจแยกจากกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรได้ยาก

3. แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ มักพบในรายที่ถูกค้างคาวกัด ผู้ป่วยมีอาการปวดประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาซีกหนึ่งชาหรือเป็นอัมพาต ชัก เคลื่อนไหวผิดปกติ มักไม่เกิดอาการกลัวลม กลัวน้ำและอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ

ระยะไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการหมดสติและเสียชีวิตเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจากระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภายใน 1-3 วัน หลังมีอาการไม่รู้สึกตัว แพทย์อาจวินิจฉัยโรคได้ยากในระยะนี้ ซึ่งบางครั้งอาจเข้าใจว่าเกิดจากโรคสมองอักเสบจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้

สิ่งตรวจพบ
มักพบอาการสับสน กระวนกระวาย เอะอะอาละวาด มีไข้ ที่สำคัญคือ มีอาการกลัวน้ำกลัวลม อาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง อัมพาตครึ่งซีก ชัก หรือหมดสติในบางราย

การรักษา
ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วนหากมีอาการน่าสงสัยว่าจะเกิดจากโรคนี้

แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ชัด และติดตามดูอาการจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตในรายที่มีประวัติชัดเจนว่าถูกสุนัขกัด มีอาการกลัวลม กลัวน้ำ

อาจต้องตรวจพิเศษ เช่น การเจาะหลัง การตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า และการตรวจหาระดับสารภูมิต้านทานโรคด้วยวิธีต่างๆ การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น หากยังไม่สามารถวินิจฉัยให้ชัดเจนในเบื้องต้นได้ ควรใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่หยุดหายใจ ให้น้ำเกลือและปรับอิเล็กโทรไลต์จนกว่าจะพิสูจน์พบสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อให้การรักษาตามสาเหตุที่แท้จริง เช่น อาจพบว่าเป็นกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรในผู้ป่วนที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วร่างกาย ก็จะช่วยให้รักษาได้ตรงตามสาเหตุและอาจรอดชีวิตได้

การรักษาผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
ควรให้การดูแลรักษาผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้
1. ให้ฟอกล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ ไม่ควรเย็บแผลเพราะอาจติดเชื้ออักเสบเป็นหนองได้ หากจำเป็นต้องเย็บแผลควรทำแผลให้ดีก่อนและค่อยเย็บปิดแผลภายหลัง ควรฉีดยากันบาดทะยักและให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อีริโทรไมซิน ไซโพรฟล็อกซาซินหรือโคอะม็อกซิคลาฟ เป็นต้น

2. พิจารณาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและให้การดูแลรักษาเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้
ความเสี่ยงระดับที่ 1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลิน

ความเสี่ยงระดับที่ 2 หรือ 3 ให้พิจารณาสัตว์ที่ก่อเหตุ เช่น
ก. ถ้าเป็นสัตว์ป่า พวกค้างคาว หนู สัตว์ตายหรือสูญหาย หรือตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ควรฉีดยาป้องกันโรคนี้ทันที

ข. ควรฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคทันที และควรนำสัตว์ส่งตรวจหาเชื้อหากสุนัขหรือแมวมีอาการผิดปกติหรือมีอาการป่วยเกิดขึ้น
ค. ควรซักประวัติต่อไปนี้ หากสุนัขหรือแมวมีอาการปกติดี
-สัตว์เลี้ยงมีโอกาสสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ตัวอื่นน้อยด้วยการเลี้ยงดูในรั้วรอบขอบชิด
-ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง
-การกัดหรือข่วนเกิดจากการแหย่สัตว์ หรือเหยียบถูกสัตว์ เป็นต้น

ถ้าครบทั้ง 3 ข้อ และเมื่อครบ 10 วันแล้วสัตว์ยังเป็นปกติก็ไม่จำเป็นต้องฉีดยาป้องกัน แต่ถ้าสัตว์มีอาการผิดปกติให้ฉีดยาแก่ผู้สัมผัสทันที และควรนำสัตว์ส่งตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า

ถ้าไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ให้ฉีกยาป้องกันไว้ก่อน เฝ้าดูอาการสัตว์เมื่อครบ 10 วันแล้วสัตว์ยังไม่ตายก็หยุดฉีดยาได้ แต่ถ้าสัตว์หายไปหรือตายก่อนกำหนดผู้ป่วยต้องฉีดยาจนครบ

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักจะเสียชีวิตทุกรายเมื่อมีอาการแสดงแล้ว แม้จะมีบ้างที่รอดชีวิตก็มีเป็นส่วนน้อยมากซึ่งล้วนเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาป้องกันหลังสัมผัสโรคทั้งสิ้น และผู้ป่วยในบ้านเราส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการฉีดยาป้องกันเนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

2. ไม่ควรรักษาด้วยวิธีพื้นบ้าน หรือปล่อยปละละเลยถือว่าไม่เป็นไรเป็นอันขาดเมื่อถูกลูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน หากสงสัยว่าเกิดโรคหรือสัมผัสใกล้ชิดควรรีบฟอกล้างด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาป้องกันและการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป

3. อาจทำให้เกิดความประมาทว่าไม่เป็นอะไรเมื่อถูกสัตว์กัดหรือข่วนแม้จะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งความจริงแล้วผู้ที่ถูกสัตว์กัดหรือข่วนและไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าอาจเกิดจากสัตว์ที่กัดไม่มีเชื้อนี้ หรืออาจรับเชื้อจำนวนน้อย หรือบาดแผลมีความรุนแรงน้อยจนไม่ทำให้เกิดโรคก็เป็นได้

4. แม้ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ แต่มีรายงานผู้ป่วยที่ติดโรคจากการปลูกถ่ายกระจกตาหรืออวัยวะ ดังนั้นหากมีการสัมผัสโรคจากผู้ป่วย เช่น ถูกผู้ป่วยกัด เยื่อบุหรือบาดแผลสัมผัสถูกสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยก็ควรได้รับการฉีดยาป้องกันแบบเดียวกับสัมผัสโรคจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

การป้องกัน
1. ควรนำสัตว์เลี้ยงที่มีอายุครบ 12 สัปดาห์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกตัว และฉีดอีกครั้งเมื่ออายุได้ 24 สัปดาห์ และฉีดกระตุ้นอย่างต่อเนื่องปีละครั้ง ถ้าฉีดก่อนอายุครบ 12 สัปดาห์ก็ให้ฉีดซ้ำอีกเมื่อครบ 12 สัปดาห์

2. ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยฉีดวัคซีน HDCV หรือ PCECV 1 มล. หรือ PVRV 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 1 เข็ม หรือฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขนาด 0.1 มล.เข้าชั้นผิวหนัง 1 จุด บริเวณต้นแขน ในวันที่ 0.7 และ 21 หรือ 28 โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ แพทย์และพยาบาลที่ต้องพบเจอกับผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยๆ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า หรือเด็กๆ ที่ชอบเล่นกับสุนัข และหากสงสัยว่าเกิดโรคควรฉีดวัคซีนกระตุ้น 2 ครั้งในวันแรกและวันที่ 3

ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง หลังฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้าครบ 3 เข็มแล้วควรตรวจเลือดดูระดับภูมิต้านทานทุก 6 เดือน หรือทุก 1-2 ปี ถ้าพบต่ำกว่าเกณฑ์ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น

ผู้ที่ได้รับวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัดหรือข่วนมาแล้ว 3 ครั้ง เช่นได้รับการฉีดในวันแรก วันที่ 3 และวันที่ 7 และเฝ้าสังเกตสัตว์พบว่ามีอาการปกติดีเมื่อครบ 10 วันแล้วก็ควรหยุดฉีดยา ให้ถือว่าเป็นการฉีดป้องกันล่วงหน้าเช่นเดียวกัน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า