สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพิษสารทำละลาย

ในการดำเนินชีวิตปัจจุบัน สารทำละลายชนิดต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทกับเรามาก ทั้งในชีวิตการทำงานและการดำเนินชีวิตปกติ ใช้เป็นสารทำละลายในนํ้ายาเคมีที่เราใช้ตามบ้านเรือน นํ้ายาทำความสะอาด กาว และมีใช้มากในสารผลิตอุตสาหกรรม เพื่อเป็นสารตัวทำละลายสารอื่น เจือจางสารอื่น และทำความสะอาดชิ้นงานและเครื่องจักร โดยสารดังกล่าวไม่เป็นสารจำเป็นต่อร่างกาย ส่วนใหญ่ทำให้เกิดพิษต่อ ร่างกายผู้สัมผัสได้แก่โรคพิษเบนซีน พิษโทลูอีน พิษไซลีน พิษสไตรีน พิษไตรคลอเอทธีลีน พิษคาร์บอนไดซัลไฟด์ หรือพิษอื่นๆ

โรคพิษสารทำละลายคืออะไร
โรคพิษสารทำละลาย เป็นโรคที่เกิดจากสารทำละลาย (Solvents) เข้าไปทำอันตรายหรือทำให้เกิดพิษต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะมีอวัยวะเป้าหมายสำคัญคือระบบประสาท มีพิษกดระบบประสาท นอกจากนั้นยังมีพิษต่อระบบอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของตัวทำละลาย ได้แก่ เบนซีนมีพิษกดการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูก และอื่นๆ เป็นต้น

สารทำละลายคืออะไร
สารทำละลาย หรือ Solvents เป็นสารที่มีคุณสมบัติละลายสารอื่น หรือทำให้สารอื่นเจือจางได้ เช่นละลายไขมัน หมึก น้ำมัน สี พลาสติก ยาง และอื่นๆ เป็นของเหลว ส่วนใหญ่เป็นสารระเหย ที่ระเหยงาย มีกลิ่นหอม หรือกลิ่นชัด และไวไฟ ได้แก่เบนซีน โทลูอีน สไตรีน ไตรคลอเอทธีลีน คาร์บอนไดซัลไฟด์ และอื่นๆ เป็นสารในกลุ่มอะโรมาติค ฮัยโดรคาร์บอน อโรมาติค-เอมีน อลิฟาติค คลอริเนเต็ด- ฮัยโดรคาร์บอน และอื่นๆ

กลุ่มผู้เสี่ยงต่อโรคพิษสารทำละลายและที่ใช้สารทำละลาย
มีผู้เสี่ยงคือผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมและงานที่ใช้สารทำละลายชนิดต่างๆ ต่อไปนี้
-กาว และวัสดุใช้ยึดอื่นๆ
-วัตถุระเบิด
-ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์
-พิมพ์ภาพโดยวิธีขูดรูป
-พลาสติก
-กาวแอสเบสตอส หรือกาวใยหิน
-สกัดนํ้ามันออกจากเมล็ดพืช
-ทาสี พ่นสี
-ถ่านไฟฉาย
-ทำรองเท้า
-เป็นนักเคมีและงานปฏิบัติการทางเคมีอื่น ๆ
-งานปิโตรเคมี
-งานขัดเงา
-งานตกแต่งพื้นก่อนพ่นสี
-หนังเทียม
-ทำพรมน้ำมัน
-ผสมกับแชลแลค
-นํ้ายาล้างโลหะให้สะอาดก่อนชุบ
-ผสมในนํ้ามันรถยนต์
-ทำนํ้ายาฆ่าเชื้อโรค
-ทำหมึก
-ทำหัวนํ้าหอม
-นํ้ายาทำความเย็น
-สารเคมีดับเพลิง
-การอบเมล็ดพืช เพื่อฆ่าแมลง
-ผลิตฟลูออโรคาร์บอน
-นํ้ายาซักแห้ง
-น้ำยาฉีดสเปรย์
-ทินเนอร์ผสมสีเงิน
-น้ำยาลบคำผิด เช่น ลิควิดเปเปอร์

ทางเข้าสู่ร่างกายของสารทำละลาย
เข้าสู่ร่างกายโดยการซึมผ่านเข้าทางผิวหนัง และการหายใจเอาไอระเหยเข้าไป

พิษของสารทำละลาย
พิษของสารทำละลายส่วนใหญ่จะมีผลกระทบประสาทส่วนกลาง มีอาการเฉียบพลัน ได้แก่ ปวดศีรษะ วิงเวียน บ้านหมุน ง่วง สับสน ถ้า เรื้อรังจะทำให้เกิดการเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางได้ เซ และมีอาการผิดปกติทางด้านจิตและประสาทได้ สารทำละลายบางตัวจะมีผลเสียต่อระบบสร้างเลือด เกิดภาวะโลหิตจางอย่างถาวร ซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกง่าย มีจํ้าเลือด และบางชนิดทำให้เกิดมะเร็งของเม็ดเลือดขาว เช่น เบนซีน สารทำละลายเกือบทุกชนิดจะมีผลระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ และระคายเคืองต่อเยื่อบุตา และทางเดินหายใจด้วย นอกจากนั้นยังเป็นพิษต่อตับ และไตในบางรายด้วย

การป้องกันและควบคุม
1. มีการให้ความรู้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรรู้เรื่องเกี่ยวกับพิษของสารทำละลายและวิธีป้องกัน

2. แหล่งเก็บสารทำละลายควรเป็นที่ปลอดภัย มีป้ายบอกชื่อและ เตือนภัยชัดเจน

3. มีระบบกำจัดไอระเหยของสารทำละลายแบบเฉพาะที่หรือที่ถูกต้อง

4. มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่นหน้ากากที่รับรองแล้ว หรือชุดปฏิบัติงานที่เหมาะสม

5. มีอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ได้แก่การเปลี่ยนชุดปฏิบัติงาน ล้างมือ อาบน้ำ สระผม กรณีทำงานหรือสัมผัสกับสารทำละลาย

6. การตรวจสุขภาพเพื่อค้นพบโรคพิษสารทำละลายในผู้ทำงานที่สัมผัสกับสารทำละลายเป็นประจำ

ที่มา:พญ อรพรรณ์   เมธาดิลกกุล
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า