สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพิษปรอท

โรคพิษปรอท คืออะไร
โรคพิษปรอทคือโรคที่เกิดจากปรอททำอันตรายหรือเป็นพิษต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายได้แก่สมอง ไต ตับ ทำให้เกิดอาการเป็นพิษทั้ง เฉียบพลันและเรื้อรัง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปรอท เป็นสารที่ร่างกายไม่ ต้องการ ไม่จำเป็นในการดำรงชีวิต

ปรอทที่สามารถเป็นพิษต่อร่างกายมีลักษณะอย่างไร
ก็คือปรอทที่เรารู้จักกันดี เป็นโลหะสีเงินที่เป็นของเหลวสีเงินในอุณหภูมิปกติ มีชื่อเรียกกันว่า Liquid silver หรือ Quick silver ระเหยได้แม้อุณหภูมิห้องถ้าทำให้ร้อนเช่นเผานานๆ จะเกิดเป็นปรอทออกไซด์ มีสีแดงแต่ถ้าร้อนถึงกว่า 500 เซนติเกรดแล้วจะกลายเป็นปรอทอีก

ปรอทมีที่ใช้อย่างไร
ปรอทมีที่ใช้อย่างกว้างขวางทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและอื่นๆ ในทางอุตสาหกรรม ปรอทในอุตสาหกรรมผลิตหลอดไฟฟ้า สีทาบ้าน กระจก ยาฆ่าแบคทีเรีย โซดาไฟ เครื่องปั้นดินเผา ทองสัมฤทธิ์ เหมืองปรอท หมวกสักหลาด ตะเกียงอุลตร้าไวโอเลท ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดันโลหิต วัสดุอุดฟัน ใช้เป็นสารคะตะลิสต์ในกระบวนการผลิตสิ่งของหลายอย่าง เช่น กระดาษ พลาสติก และอื่นๆ

ในทางเกษตรกรรม ปรอทใช้ในสารกำจัดเชื้อรากลุ่ม Organomercuri aI Fungicide เคลือบเมล็ดพืช และอื่นๆ

ในด้านอื่นๆ ปรอทได้ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ ทันตแพทย์ เช่น การอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันที่ทำจากปรอทหรือที่เรียกว่าอมัลกัม (amalgam) และยังใช้ในการทำยารักษาโรคบางชนิดด้วย มีใช้ในเครื่องสำอาง บางชนิดอีกด้วย

กลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคพิษปรอท
กลุ่มเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในการเกิดโรคพิษปรอทคือผู้ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ปรอท ดังได้กล่าวแล้ว รองลงไปคือ เกษตรกรที่ใช้สารกำจัดเชื้อรา และผู้ทำงานเกี่ยวเมล็ดพืชที่มีสารปรอทเคลือบอยู่ และพบในช่างถ่ายรูปอีกด้วย

การเกิดโรคพิษปรอทในประเทศไทย
โรคพิษปรอทในประเทศไทย มีรายงานครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2496 โดยนายแพทย์ สมบัติ สุคนธพันธ์ เป็นผู้ป่วย 2 รายอายุ 30 ปี และ 28 ปี ได้รับพิษปรอทจากการรมควันปรอทเพื่อหวังผลการรักษาโรคที่ตนป่วย หนึ่งรายเสียชีวิต ต่อมามีรายงานเพิ่มอีก 1 ราย โดยนายแพทย์ ภาสกร เกษมสุวรรณ และนายแพทย์ ปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุ 23 ปี ได้รับพิษปรอทจากการรับประทานปรอท เพื่อหวังผลเป็นยาคุมกำเนิดอีก 1 ราย ได้รับการรักษา ไม่เสียชีวิต

การเกิดโรคพิษปรอทในต่างประเทศ
กรณีที่มีชื่อเสียงและนับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประชาชนญี่ปุ่นคือกรณีพิษปรอทที่เรียกว่า โรคมินามะตะ (Minamata diseases) เป็นโรคพิษปรอทที่ในชาวญี่ปุ่นที่อาคัยอยู่บริเวณอ่าวมินามาตะ (Minamata Bay) บนเกาะคิวชู ในพ.ศ. 2496 มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง จำนวนมากเฉพาะช่วง พ.ศ. 2496-2505 มีผู้ป่วยแบบเดียวกันถึง 111 ราย และพบเสียชีวิตใน ปีพ.ศ. 2509 จำนวน 42 ราย นอกจากนั้นยังมีสัตว์ เช่น แมว หมู สุนัขและนกในบริเวณดังกล่าวเสียชีวิตจากปรอทเป็นจำนวนมาก ปรอทที่ทำให้เกิดพิษดังกล่าวได้มาจากนํ้าเสียที่ถูกปล่อยจากโรงงานทำพลาสติก กระดาษ หลอดไฟฟ้า และอื่นๆ บริเวณรอบ ๆ อ่าวมินามาตะ ซึ่งมีปรอทอยู่โดยขาดการกำจัดสารปรอทก่อนที่จะทิ้งสู่แหล่งนํ้า สาธารณะและทะเล ทำให้ปลาและสัตว์นํ้าได้รับสารปรอทเข้าไป เมื่อคนหรือสัตว์ที่กินปลาและสัตว์นํ้าบริเวณดังกล่าวเข้าไปก็จะได้รับปรอทไปสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งปรอทจะไปทำลายสมองและไตเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิด ความพิการและเสียชีวิตต่อมา

ปรอทเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
ปรอทเข้าสู่ร่างกายส่วนใหญ่โดยการหายใจ ในทางผิวหนังและทางการกินก็พบได้แต่น้อยกว่า

พิษปรอทเกิดได้อย่างไร
ไอปรอทหรือปรอทที่เป็นไอและถูกหายใจเข้าไปจะถูกจับไว้ที่ถุงลมปอด เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 80%ของปรอทที่หายใจเข้าไป ส่วนปรอทอนินทรีย์ทั้งที่เป็นโลหะเหลวนั้น ถ้าถูกกินเข้าไปจะไม่ถูกดูดซึมโดยลำไส้ สำหรับปรอทอินทรีย์จะถูกดูดซึมได้ที่ลำไส้ เกลือของปรอทชนิด เมอคิงรัส    จะเปลี่ยนเป็นเกลือของปรอทชนิดเมอคิวรีค    ซึ่งละลายนํ้าได้ จะถูกดูดซึมที่ทางเดินอาหารง่ายและเข้าสู่กระแสเลือด และปรอท
อินทรีย์ยังสามารถผ่านเข้าสู่สมองไปทำอันตรายต่อสมองได้ เช่น เดียวกันยังสามารกผ่านทางรกไปทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ด้วย

ปรอทในกระแสเลือดจะไปจับกับกลุ่มซัลไฮดริลของเอ็นไซม์ในเซลล์ของร่างกาย ทำให้เซลล์ของร่างกายที่ปรอทจับกับเอนไซม์ที่มี Sulfhydryl ( – SH) ไม่ทำงาน จึงเกิดเป็นพิษขึ้นได้ ซึ่งจำแนกได้เป็นพิษ เฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะและระยะเวลาที่ร่างกายได้รับปรอท ปรอทที่เข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่จะไปสะสมที่ไตประมาณร้อยละ 50 รองลงไปคือที่ตับและสมอง จึงทำอันตรายต่ออวัยวะดังกล่าว ปรอทจะถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่นอกจากนั้นยังถูกขับถ่ายออกทางอุจจาระ เหงื่อ น้ำลาย ลมหายใจ และน้ำนม โดยจะขับออกครั้งหนึ่งได้ในเวลา 80 วัน

โรคพิษปรอทแบบเฉียบพลัน เกิดจากการได้รับปรอท เข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก ในระยะเวลาสั้น ยังจำแนกตามชนิดของปรอทได้ 3 ประ เภทใหญ่ๆ คือ

1. พิษปรอทอนินทรีย์  ได้แก่พิษจากการสูดดมไอปรอทมีอาการหายใจลำบาก ไอ มีไข้ อาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ ปอดบวมน้ำ หรือปอดทะลุได้ มักเป็นสาเหตุการตายในเด็กที่ได้รับปรอทได้ นอกจากนั้น จะมีอาการระบบทางเดินอาหารได้ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แผลในช่องปาก มีน้ำลายออกมาก มีลิ้นรู้สึกรับรสโลหะ (metallic taste) ได้ และมีอาการของภาวะไตวายได้

2. พิษ เกลือของปรอท มักได้รับพิษโดยการกิน หรือติดเข้าไปกับอาหารที่มีการปนเปื้อนด้วยเกลือของปรอทเมอคิวริค เช่น Murcuric Chloride มีผลทำให้เกิดลิ้นรู้สึกรับรสโลหะ (Metallic taste) กระหายน้ำ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ปัสสาวะน้อย ไม่ปัสสาวะ มีภาวะไตวาย และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

3. พิษปรอทอินทรีย์ ปรอทในกลุ่ม Organic Mercury ได้แก่ alkyl mercury มีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการสั่น เซ ชักกระตุก และมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการควบคุมของประสาทผิดปรกติอื่นๆ เป็นความผิดปรกติแบบถาวร

อาการของโรคพิษปรอทเรื้อรัง  โรคพิษปรอทเรื้อรังเกิดจากการได้รับปรอทเข้าสู่ร่างกายทีละเล็กน้อยเป็นเวลานาน เข้าไปสะสมในร่างกาย จะเกิดพิษต่อระบบสมอง ไต ตับ ผิวหนังและอื่นๆ  โดยมีอาการ และอาการแสดงดังนี้ สั่น แบบ(Hatter Shakes) มีการทรงตัวและการเดินผิดปกติ เซง่าย ชักกระตุก ชา และเจ็บที่ปลายมือปลายเท้า ปวดศีรษะ หงุดหงิด ซึมเศร้า ขี้ลืม โมโหง่าย ประสาทหลอน พูดผิดปกติ ช่องปากอักเสบ น้ำลายมาก ฟันหลุด พบเหงือกมีเส้นทึบสีน้ำเงิน หรือน้ำตาล ท้องเสีย นํ้าหนักลด ซีด มีภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวน้อย อาการของตับและไตอักเสบและอาการอื่นๆ

ความผิดปกติที่แสดงถึงภาวะพิษปรอท
พบความผิดปกติที่อวัยวะเป้าหมายของการเกิดพิษปรอท ได้แก่ ความผิดปกติระบบไตมีโปรตีนในปัสสาวะ มีเลือดในปัสสาวะ หรือผิดปกติทางโลหิตวิทยา เช่น การตรวจนับเม็ดเลือด (Proteinuria, Hematuria, Abnormal CBC)

การป้องกันโรคพิษปรอท
1. ให้ความรู้แก่ผู้ที่ต้องสัมผัสกับปรอท ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่ระบุ หรือผู้ที่ใช้สิ่งที่มีปรอทผสมอยู่ เพื่อให้ตระหนักและป้องกัน

2. ผู้ประกอบการจัดให้มีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย สะอาด ไม่เป็นที่ เก็บกักฝุ่นและละอองของปรอท

3. ผู้ประกอบการจัดให้มีการระบายอากาศเฉพาะที่ เพื่อกำจัดไอและฝุ่นปรอทมิให้ฟุ้งกระจาย

4. ถ้ามีปรอทรั่วไหล ให้ใช้ภาชนะที่มีนํ้ารองรับไว้ ปรอทจะได้ไม่ระเหยเมื่ออยู่ในนํ้า

5. จัดให้มีและใช้เครื่องป้องกันตัวแก่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ต้องสัมผัสสารปรอท ได้แก่ จัดหาห้องเปลี่ยนชุดปฏิบัติงาน ห้องอาบนํ้า ที่ล้างมือ ถุงมือ ชุดปฏิบัติงาน รองเท้ายาง
6 . ให้มีการตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์แก่ผู้สัมผัสกับปรอททั้งนี้ เพื่อการเฝ้าระวังการเกิดโรคพิษปรอทและการค้นพบโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

ที่มา:พญ.อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า