สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพิษคาร์บอนไดซัลไฟด์กับการป้องกัน

โรคพิษคาร์บอนไดซัลไฟด์คืออะไร
เป็นโรคที่เกิดจากคาร์บอนไดซัลไฟด์ เข้าไปทำอันตรายต่อร่างกาย ตั้งแต่อาการระคายเคืองต่อตา จมูก ผิวหนัง โดยจะมีการพองขึ้นมาเหมือนถูกไฟลวกทำให้ปลายประสาทในบริเวณที่ซึมผ่านถูกทำลาย นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการทางด้านสมองและระบบประสาท มีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย อยากฆ่าตัวตาย คลุ้มคลั่ง นอนไม่หลับ ละเมอ ความจำเสื่อม เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปวดศีรษะ วิงเวียน เดินเซ ล้มง่าย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นชา อ่อนเพลีย มีอาการระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วยได้แก่ เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง รวมถึงหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ และเป็นสาเหตุของการตายที่ชัดเจน ในผู้ทำงานที่ เกี่ยวข้องกับคาร์บอนไดซัลไฟด์ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น ทำลายตับ มีผลต่อการสร้างเม็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางและมีการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตลดลง ในผู้หญิงอาจพบมีประจำ เดือนผิดปกติได้

คาร์บอนไดซัลไฟด์คืออะไร
คาร์บอนไดซัลไฟด์คือ Carbon disulphide หรือ C S เป็นของเหลวใสวาว เมื่อกระทบแสง ไวไฟ มีกลิ่นหอม เมื่ออยู่ในสภาพที่บริสุทธิ์ แต่ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดมักมีกลิ่นค่อนข้างเหม็น    ละลายได้เล็กน้อยในนํ้ามีคุณสมบัติเป็นสารทำละลายที่ดี

คาร์บอนไดซัลไฟด์มีที่ใช้อย่างไร
ใช้ผลิตผ้าป่าน เรยอง เกลือ แอมโมเนีย น้ำยากำจัดเชื้อโรคในดิน ทำสี หลอดสูญญากาศ กระจก เลนส์แว่นตา น้ำยาลอกสี นํ้ายาเคลือบ คาร์บอน เตตราคลอไรด์ นํ้ายาวานิช ทำผลิตภัณฑ์ผ้า วัตถุระเบิด เชื้อ เพลิงสำหรับจรวด สารกันบูด

เป็นสารทำละลายสำหรับฟอสฟอรัส กำมะถัน โบรมีน ไอโอดีน ไขมัน นํ้ามัน การบูร เรซิน ใช้เชื่อมและปะยาง

นอกจากนั้นยังใช้เป็นสารละลายไขมัน การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า การอบ เมล็ดพืช เพื่อฆ่าแมลง

กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคพิษคาร์บอนไดซัลไฟด์
ได้แก่ผู้ทำงานผลิตผ้าเรยอง ทำเรซิน นํ้ามันชักเงา ทำยาง ทำสี ทำซักแห้ง ช่างชุบโลหะด้วยไฟฟ้า ช่างทาสี และอื่นๆ

คาร์บอนไดซัลไฟด์เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
โดยการหายใจเอาไอระเหยของคาร์บอนไดซัลไฟด์เข้าไป และการซึมผ่านเข้าทางผิวหนังด้วย

การป้องกันและควบคุมโรคพิษคาร์บอนไดซัลไฟด์

1. มีการให้ความรู้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรรู้เกี่ยวกับพิษของคาร์บอนไดซัลไฟด์และการป้องกัน

2. แหล่ง เก็บคาร์บอนไดซัลไฟด์ควรเป็นที่ปลอดภัย มีป้ายบอกชื่อและ เตือนภัยชัดเจน

3. มีระบบกำจัดไอระเหยของคาร์บอนไดซัลไฟด์แบบเฉพาะที่หรือที่ถูกต้อง

4. มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น หน้ากากที่รับรองแล้ว หรือชุดปฏิบัติงานที่เหมาะสม

5. มีอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ได้แก่การเปลี่ยนชุดปฏิบัติงาน อาบนํ้า สระผม และอื่นๆ กรณีที่ทำงานสัมผัสกับคาร์บอนไดซัลไฟด์

6. การตรวจสุขภาพเพื่อค้นพบโรคพิษคาร์บอนไดซัลไฟด์ในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับคาร์บอนไดซัลไฟด์

ที่มา:พญ.อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า