สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ในประเทศไทย

คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นแก๊สที่ได้จากการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของสารที่มีส่วนประกอบของคาร์บอน เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ และยานพาหนะต่างๆ, เตาเผา และการเผาไหม้เชื้อเพลิง, การผลิตพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ต่างๆ จากเมธิลินคลอไรด์ (methylene chloride) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการลอกสี โดยสารนี้สามารถเปลี่ยนเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์โดยร่างกายของเราเอง นอกจากนั้น ยังพบคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่ด้วย

พิษของคาร์บอนมอนอกไซด์เกิดขึ้นเนื่องจากคาร์บอนมอนอกไซด์รวมกับฮีโมโกลบินแล้วทำให้เกิด car- boxyhemoglobin effects ซึ่งเป็นภาวะขาดออกซิเจนในอวัยวะสำคัญ รายงานในปี พ.ศ. 2533 โดย Tuchman RF และคณะพบว่า จากการตรวจสมองของเด็กชายที่ป่วยด้วยพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ด้วย MR (magnetic resonance) พบมี diffuse high signal in centrum semiovale และ high intensity lesions in anterior thalami ทั้ง 2 ข้าง นอกจากนั้น ยังมีรายงานพิษของคาร์บอนมอนอกไซด์อีกจำนวนมาก โดยพบว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจโคโรนารีย์จะไวต่อการเกิดพิษคาร์บอนมอนอกไซด์มากกว่าคนปรกติ

อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ได้แก่ ปวดศีรษะ, light headedness, มึนงงตลอดหน้าผาก (across forehead), อ่อนเพลีย, ตามัว, คลื่นไส้, อาเจียน, เยื่อบุแดงแบบ cherry red, ชีพจรเต้นเร็ว, หายใจเร็ว, เจ็บหน้าอก (จาก secondary to ischemia), ชัก, โคม่า นำไปสู่ภาวะช็อค การหายใจถูกกด, arryth-mia และตายได้ การช่วยเหลือทำได้โดยการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีคาร์บอนมอนอกไซด์และการช่วย CPR แล้วส่งต่อเพื่อให้ได้รับออกซิเจน 100%.

อาการปวดศีรษะพบมากในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่มีระดับ carboxyhemoglobin ร้อยละ 12. ถ้าสูงถึงร้อยละ 25 จะมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปรกติได้ และระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ที่สูงจะกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจโคโรนารีย์ได้.

ดังเป็นที่ทราบกันแล้วว่าในสภาพที่จราจรหนาแน่น การตรวจวัดระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในบรรยากาศของถนนในเขตกรุงเทพมหานครหลายแห่งมีค่าเกินกว่าที่ยอมรับได้ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และเขตเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ.

นอกจากนั้น คาร์บอนมอนอกไซด์ยังได้มาจากการเผาไหม้เพื่อพลังงานในการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตเมือง ซึ่งผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรังก็คือผู้ทำงาน ในอุตสาหกรรมนั้นๆ

ในเขตเมืองของประเทศไทยที่มีการใช้รถยนต์ที่ใช้นํ้ามันเบนซินมาก จะพบระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในบรรยากาศบริเวณที่มีการจราจรคับคั่งสูง และพบค่าสูงเกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ในชั่วโมงเร่งด่วน จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2528-2530 ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์จะสูงในวันธรรมดาและลดน้อยลงในวันเสาร์-อาทิตย์ สำหรับวันธรรมดาจะมีค่าสูงในช่วงเช้าระหว่างเวลา 8.00- 10.00 น. และในช่วงเย็นระหว่างเวลา 17.00-19.00 น.

ตารางที่ 1. ผลการศึกษาปัญหาพิษคาร์บอนมอนอกไซด่ในผู้โดย¬สารรถประจำทาง พ.ศ. 2533.

กลุ่ม

ความชุก/100 ของผู้มี cherry red mucous

ความชุก/100 ของพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ระยะแรก

ผู้โดยสารรถปรับอากาศ

0.5

1.0

ผู้โดยสารรถไม่ปรับอากาศ

11.5

26.0

โดยในช่วงเช้าจะสูงกว่าช่วงเย็น ยกเว้นบริเวณย่านการค้าบางแห่งจะมีระดับคาร์บอนมอนอกไซด์สูงระหว่าง 16.00-21.00น.ทั้งวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์.พบว่าบางแห่งเช่นที่บริเวณวงเวียนใหญ่มีระดับคาร์บอนมอ¬นอกไซด์ที่ค่า 1 ชั่วโมงและ 8 ชั่วโมง สูงถึง 52 มก./ ลบ.เมตร และ 59 มก./ลบ.เมตร ซึ่งสูงกว่าค่าที่ยอมรับได้.

ผู้เสี่ยงต่อการเกิดพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ คือ commuter หรือผู้ที่เดินทางประจำ ได้แก่ นักเรียนซึ่งเป็นเด็กและมีความไวต่อการเกิดพิษสูงกว่าผู้ใหญ่, นักศึกษา,ผู้ทำงานที่สัญจรไปมา,ผู้อยู่อาศัยในอาคารริมถนน ที่มีการจราจรหนาแน่น, ผู้ขับรถโดยสารประจำทาง รถสามล้อเครื่อง รถจักรยานยนต์รับจ้าง, ผู้กวาดถนน, ผู้ค้าขาย และผู้ซื้อของริมทางเท้า. กลุ่มที่สำคัญและสัมผัสกับสารพิษคาร์บอนมอนอกไซด์จากการปฏิบัติงานบนผิวถนนได้แก่ตำรวจจราจร ซึ่งมีผู้ที่มีอายุงานจราจรยาวนาน เช่น 10-20 ปี มีจำนวนไม่น้อย และหลายท่านได้ป่วยด้วยโรคมลพิษทางอากาศเรื้อรังรวมถึงพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ในขณะใดขณะหนึ่งด้วย

จากการสำรวจเมื่อต้นปี พ.ศ. 2534 พบว่า ร้อยละ 12 ของตำรวจจราจรในถนนสำคัญใส่ผ้าปิดจมูกขณะปฏิบัติงาน ซึ่งคิดว่าจะช่วยเหลือตนเองได้ในการป้องกันมลพิษทางอากาศรวมถึงคาร์บอนมอนอกไซด์ แสดงถึงความพยายามในการป้องกันสุขภาพของตำรวจจราจรดังกล่าว. การสำรวจกลางปี พ.ศ. 2534 พบอัตราการใช้ ผ้าปิดจมูกแบบต่างๆ สูงร้อยละ 21 เช่นเดียวกันกับการใช้ผ้าปิดจมูก หน้ากากฟองนํ้า ในผู้ขับรถจักรยานยนต์ และผู้ขับรถสามล้อเครื่องก็ได้เพิ่มจากร้อยละ 5 และ 8 ในต้นปี พ.ศ. 2534 เป็นร้อยละ 15 และ 18 ตามลำดับ.

จากผลการศึกษาปัญหาพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ในผู้โดยสารรถประจำทางไม่ปรับอากาศ โดยสำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมในปี พ.ศ.2533 ของกรุงเทพมหานครโดยสำรวจผู้ที่เดินทางผ่าน และต่อรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิด้านโรงพยาบาลราชวิถีด้วยการใช้แบบสอบถามและบันทึกกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ก่อนและหลังเดินทาง ด้วยการสังเกตเยื่อบุปากแบบ cherry red เพียงอย่างเดียว จำนวนทั้งสิ้น 420 ราย จำแนกเป็นผู้โดยสารรถประจำทางปรับอากาศ 206 ราย และผู้โดยสารรถประจำทางไม่ปรับอากาศจำนวน 214 ราย ดังแสดงไว้ในตารางที่ 1.

เมื่อเปรียบเทียบความชุกของผู้มี cherry red mucous ในผู้โดยสารรถไม่ปรับอากาศที่อัตราร้อยละ 11.5 และความชุกของพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ระยะแรกที่อัตราร้อยละ 26.0 กับผู้ที่ทำงานในโรงงานหลอมโลหะในปี พ.ศ. 2532 แล้วพบว่าใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ในกลุ่มผู้ทำงานพบอัตรา cherry red mucous และภาวะพิษ คาร์บอนมอนอกไซด์ระยะแรกเท่ากับร้อยละ 12 และ 25 ตามลำดับ.

ปัญหาพิษคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชนในเขตเมือง โดยเฉพาะเยาวชน ปัญหาเกิดจากการจราจรที่เป็นปัญหาของประเทศมายาวนานนับสิบปี ควรเร่งระดมนักวิชาการทุกด้าน ได้แก่ วิศวกรเครื่องยนต์พัฒนารถที่มีมลภาวะน้อย เช่น รถไฟฟ้าหรืออื่นๆ นักวางแผน นักวิชาการจราจร นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการทางการศึกษา เศรษฐกิจสังคมและนักวิชาการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ควรร่วมกันกำหนดมาตรการและลำดับการปฏิบัติ เช่น การใช้จักรยานในผิวการจราจรที่ปลอดภัย และมาตรการที่เหมาะสมอื่นๆ ที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และเสียง ของเขตเมืองของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความมีสุขภาพและพลานามัยที่ดีของประชาชนและเยาวชนสืบไป

ที่มา:อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล พ.บ., M.P.H.
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า