สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพยาธิปากขอ (Hook worm disease)

พยาธิปากขอจะเกาะอาศัยอยู่บนผนังลำไส้ และดูดเลือดกินเป็นอาหาร อาการของโรคมักขึ้นอยู่กับจำนวนของพยาธิที่มีอยู่ในลำไส้ พยาธิปากขอจะมีขนาดยาวประมาณ 1 ซม. ไข่พยาธิจะเจริญเติบโตอยู่บนพื้นดินที่ชื้นและมีความอุ่นจากการที่คนอุจจาระและไข่พยาธิหลุดออกมา พยาธิตัวอ่อนที่ฟักตัวอยู่บนดินจะไชเข้าทางผิวหนังของคนที่เดินผ่านไปมาหรือเด็กที่เล่นคลุกดิน และเข้าไปในกระแสเลือด ไปยังหัวใจและปอด และเคลื่อนตัวมาที่หลอดลมจนถึงคอหอย แล้วถูกกลืนลงไปในกระเพาะและลำไส้เล็กอีกแล้วเจริญเป็นตัวแก่ต่อไป

พยาธิอาจไชผ่านเยื่อบุในปากและเข้ากระแสเลือดได้เช่นกันถ้ากินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ

โรคนี้พบได้มากในทางภาคใต้ของประเทศ มักพบในชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนที่เดินเท้าเปล่าบนพื้นดิน หรือในเด็กที่ชอบเล่นคลุกดิน

อาการ
ผู้ป่วยอาจมีตุ่มแดงคันที่ผิวหนังเมื่อพยาธิไชเข้าเท้า อาจจะเกาจนเป็นหนอง และอาจทำให้มีอาการหลอดลมหรือปอดอักเสบได้ถ้าพยาธิเดินทางผ่านปอดในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา

อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย เช่น จุกเสียดแน่นที่ยอดอก ปวดท้อง ท้องเดิน หรือทำให้มีอาการซีด มึนงง หน้ามืด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ้ามีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมาก และอาจทำให้มีอาการบวมหรือหัวใจวายได้ถ้าซีดมากๆ

อาการของโรคจะมีมากน้อยเพียงใดมักขึ้นอยู่กับจำนวนของพยาธิ อายุของพยาธิ ความต้านทานและภาวะทางโภชนาของผู้ป่วย และมักจะพบไข่พยาธิเมื่อตรวจอุจจาระดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้จากภาวะโลหิตจางรุนแรง

การรักษา
1. ให้ผู้ป่วยกินยาถ่ายพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล หรืออันเบนดาโซล
2. ให้กินยาบำรุงโลหิตติดต่อกันนาน 4-6 เดือนถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด

ข้อแนะนำ
นอกจากให้ยาบำรุงโลหิตในผู้ป่วยที่มีอาการซีดเนื่องจากภาวะขาดธาตุเหล็กแล้ว หากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่มีพยาธิปากขอชุกชุมก็ควรให้ยาถ่ายพยาธิปากขอร่วมด้วย

การป้องกัน
การถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ การสวมรองเท้าเมื่อต้องออกไปเดินบนพื้นดิน และในเด็กก็ไม่ควรเล่นคลุกดินทราย ก็จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า