สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคปวดข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis)

เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้ในคนทุกวัย พบเป็นกันมากในช่วงอายุ 20-50 ปี แต่จะพบได้มากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโรคปวดข้อรูมาตอยด์

สาเหตุ
เชื่อกันว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่างจนทำให้มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อมกัน ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ ปัจจุบันจึงทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทานที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อบริเวณข้อของตัวเอง เรียกว่า ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด

อาการ
อาการมักเริ่มด้วยการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูกนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน มีลักษณะอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา

ภายหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ หลังผ่าตัด หลังคลอด หรืออารมณ์เครียด น้อยรายที่จะมีอาการของข้ออักเสบเกิดขึ้นฉับพลัน อาจมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโตร่วมด้วยในบางราย ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า จะเริ่มมีอาการอักเสบก่อน และจะอักเสบที่ข้อไหล่ ข้อศอกในเวลาต่อมา

ผู้ป่วยจะปวดข้อพร้อมกันและคล้ายกันทั้งสองข้าง ข้อจะบวม แดง ร้อน นิ้วมือนิ้วเท้าบวมเหมือนรูปกระสวย ต่อมาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกายตั้งแต่ข้อขากรรไกรลงมาที่ต้นคอ ไหปลาร้า ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือลงมาถึงข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า ในบางรายอาจมีการอักเสบของข้อเพียง 1 ข้อหรือไม่กี่ข้อ และอาจเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายก็ได้

ในช่วงตื่นนอนตอนเช้ามักมีอาการปวดข้อและข้อแข็ง ทำให้รู้สึกขี้เกียจหรือไม่อยากตื่น เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายอาการก็จะทุเลาลง ในบางรายอาจปวดข้อจนนอนไม่หลับในตอนกลางคืน

อาการปวดข้อจะเป็นมากขึ้นทุกขณะนานเป็นแรมเดือนแรมปี อาจจะทุเลาลงได้เองในบางระยะ แต่ก็จะกำเริบซ้ำได้อีก โดยเฉพาะขณะตั้งครรภ์หรือมีความเครียด อาจทำให้ข้อแข็งและพิการได้ถ้าข้ออักเสบเรื้อรังอยู่หลายปี

ส่วนอาการอื่นที่อาจมีร่วมด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง ชาปลายมือจากภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น นิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเมื่อถูกความเย็น ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต ตาอักเสบ หัวใจอักเสบ หลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ไข้ต่ำๆ น้ำหนักลด เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจไม่พบอาการชัดเจนในระยะแรก และต่อมาอาจพบข้อนิ้วมือนิ้วเท้าบวมเหมือนรูปกระสวยเมื่อเป็นมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้ข้อพิการผิดรูปใช้การไม่ได้ถ้าเป็นแบบรุนแรงและเรื้อรัง หรือมีการผุกร่อนของกระดูกในบางราย

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาล หากเป็นโรคนี้การตรวจเลือดจะพบค่าอีเอสอาร์สูง พบรูมาตอยด์แฟกเตอร์ พบกระดูกมีการสึกกร่อน และมีความผิดปกติของข้อเมื่อเอกซเรย์

ให้การรักษาด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น แอสไพริน ผู้ใหญ่วันละ 4-6 กรัม เด็กให้ขนาด 60-80 มก./กก./วันแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร เพื่อป้องกันโรคแผลเพ็ปติกจึงควรกินร่วมกับรานิทิดีน ต้องกินยาติดต่อกันนายเป็นเดือนหรือเป็นปี หรือจนกว่าอาการจะทุเลา และควรให้การรักษาทางกายภาพบำบัดไปด้วย เช่น การแช่หรืออาบน้ำอุ่น กรใช้น้ำร้อนประคบ ซึ่งมักจะทำในตอนเช้า ในเวลาประมาณ 15 นาที

เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดผู้ป่วยควรพยายามขยับข้อต่างๆ อย่างช้าๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง

ควรแนะนำให้ผู้ป่วยทำการฝึกกายบริหารในท่าต่างๆ เป็นประจำทุกวัน หลังจากให้กินแอสไพรินได้ 1 สัปดาห์ เพื่อช่วยทุเลาความฝืดของข้อและทำให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และควรหาเวลาพักผ่อนสลับกับการทำงาน หรือออกกำลังกายเป็นพักๆ

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องเข้าเฝือกเพื่อให้ข้อที่ปวดได้พักเต็มที่ และอาจนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

ในรายที่ใช้แอสไพรินไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนไปใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ตัวอื่นๆ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลก็ให้ใช้ ไฮดรอกซีคลอโรควีน หรือสารเกลือของทอง เช่น ออราโนฟิน เพื่อลดการอักเสบควบกันไปด้วย ซึ่งผลการรักษาค่อนข้างดี

เพื่อลดการอักเสบอาจต้องให้สตีรอยด์ หรือให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เมโทเทรกเซต ไซโคลฟอสฟาไมด์ ในบางราย

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้จะไม่มีอาการรุนแรงและมักหายขาดได้ สามารถรักษาด้วยการกินแอสไพริน รักษาด้วยกายภาพบำบัด กำหนดเวลาพักผ่อนและเวลาทำงาน ออกกำลังกายให้พอเหมาะ จนสามารถทำงานได้เป็นปกติ มีเพียงส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนต้องใช้ยาอื่นรักษา

2. หัวใจสำคัญของการรักษาโรคอยู่ที่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยต้องพยายามเคลื่อนไหวข้อ หมั่นฝึกกายบริหารเป็นประจำทุกวัน เพราะหากอยู่นิ่งๆ จะทำให้ข้อยิ่งฝืด และขยับได้ยากขึ้น

3. ไม่ควรซื้อยาชุดมากินเอง เพราะแม้จะช่วยให้อาการทุเลาลงได้ก็อาจเกิดโทษจากสตีรอยด์หรือเกิดอันตรายจากยาอื่นที่ผสมอยู่ในยาชุดนั้น

4. ชาวบ้านอาจสับสนในคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้เรียกอาการปวดข้อ เช่น คำว่า รูมาติสซั่ม ซึ่งหมายถึงภาวะต่างๆ ที่ทำให้มีอาการเจ็บปวด ปวดเมื่อย หรือปวดล้าของข้อ เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ จึงเป็นคำที่ใช้เรียกโรคปวดข้อ ปวดเส้นเอ็นและปวดกล้ามเนื้อโดยรวม ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ดังนั้น รูมาติซั่ม จึงอาจมีสาเหตุมาจากข้อเสื่อม โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ไข้รูมาติก โรคเกาต์ และอื่นๆ หรืออาจเข้าใจว่า รูมาติซั่ม หมายถึงโรคปวดข้อรูมาตอยด์ เวลามีอาการปวดข้อเรื้อรังก็มักเหมาเอาว่า เป็นโรคปวดข้อรูมาตอยด์ไปหมด อาจทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวลและปฏิบัติตัวอย่างผิดๆ จึงควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องนี้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า