สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บรูเซลโลซิส (Brucellosis)

เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดจากสัตว์และสามารถติดต่อมาสู่คนได้ มักพบเชื้อนี้ได้ในสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ อูฐ หมู สุนัข หรือในสัตว์แทะ สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วาฬ โลมา ในสัตว์ป่า เช่น กระบือป่า กระต่ายป่า สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า เป็นต้นบรูเซลโลซิส

มักพบโรคนี้ได้ในคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง เช่น โรงเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ สัตวบาล หรือติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อสัตว์และนมที่มีเชื้ออยู่

สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บรูเซลลา (Brucella) ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย ซึ่งการติดเชื้อจากสัตว์มีอยู่หลายทาง เช่น

-สัมผัสสิ่งปนเปื้อน โดยเชื้อโรคจะเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอกเมื่อสัมผัสถูกน้ำนม เลือด รก น้ำเมือกในอวัยวะเพศของสัตว์เพศเมีย น้ำเมือกตามตัวลูกสัตว์ที่คลอดใหม่ๆ มูลหรือปัสสาวะสัตว์ เป็นต้น

-กินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ นมจากสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากนม ที่มีการติดเชื้อและไม่ได้ปรุงให้สุก หรือผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อให้ปลอดภัยก่อน

-การหายใจสูดเอาฝุ่นหรือละอองของสิ่งคัดหลั่ง น้ำนมที่ปนเปื้อนเชื้อโรคขณะรีดนมในคอกสัตว์

-ถูกเข็มที่ใช้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่สัตว์ทิ่มแทง

ระยะฟักตัวของโรคนี้มักระบุได้ไม่ค่อยแน่นอน อาจเป็นตั้งแต่ 1 สัปดาห์ จนถึงมากกว่า 2 เดือน

อาการ
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย คือ มีไข้สูงๆ ต่ำๆ แบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ไม่แน่นอน ร่วมกับอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย มึนซึม หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ไอ เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด ผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรังแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าอาการแบบเฉียบพลัน

ระยะการเจ็บป่วยอาจนานหลายวันหลายเดือน หรืออาจนานเป็นปี หรือมากกว่านั้นหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูก ปวดหลัง ปวดข้อ ในรายที่ติดเชื้อจากการกินอาหาร หรืออาจติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการชัดเจนก็ได้ในบางราย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้ ตับโต ม้ามโต หรืออาจมีอาการกล้ามเนื้อแข็งตึง ต่อมน้ำเหลืองโต ข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบในบางราย และมักจะพบอาการซูบผอมจากการขาดอาหารถ้าป่วยอยู่นานกว่า 3-6 เดือน หรืออาจมีไข้ต่ำๆ วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ จนทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิตประสาทในรายที่เป็นเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อน
เชื้อบรูเซลลาสามารถก่อให้เกิดการอักเสบต่างๆ ขึ้น จากการเข้าสู่กระแสเลือดแล้วแพร่กระจายไปยังอวัยวะแทบทุกส่วน ที่พบการอักเสบได้บ่อย เช่น กระดูกและข้อ มีการอักเสบของข้อและบวมบริเวณข้อเข่า สะโพก ข้อเท้า ข้อมือ หรือการอักเสบที่กระดูกบริเวณเชิงกราน และข้อสันหลังอักเสบ

ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน คือ อัณฑะและท่อน้ำเชื้ออักเสบ สมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปลายประสาทเสื่อม ตับอักเสบ ฝีตับ ถุงน้ำดีอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด เยื่อตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ผื่นที่ผิวหนัง เป็นต้น

ส่วนสาเหตุการตายที่สำคัญซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง คือ เยื่อบุหัวใจอักเสบที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ ซึ่งมักเกิดกับลิ้นหัวใจเอออร์ติก(aortic valve) แพทย์ต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอย่างเร่งด่วน

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด่วน โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยมีไข้เรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ถึงแรมปี มีน้ำหนักลด ข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ หรือมีอาการติดเชื้อของอวัยวะหลายแห่ง มีประวัติทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง หรือบริโภคสัตว์หรือนมที่ติดเชื้อ

แพทย์มักตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการทดสอบทางน้ำเหลือง ตรวจด้วยวิธี polymerase chain reaction(PCR) การเพาะเชื้อจากเลือด ไขกระดูก น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือน้ำในข้อ มักพบเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ เอนไซม์ตับสูงเล็กน้อยจากการตรวจเลือด หรืออาจต้องตรวจชิ้นเนื้อตับ เอกซเรย์ปอดและกระดูกสันหลังในบางราย

การให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกันเป็นการรักษาที่สำคัญ เช่น ควรให้ ดอกซีไซคลีน 200 มก./วัน ร่วมกับไรแฟมพิซิน 600-900 มก./วัน นาน 6 สัปดาห์ หรือให้โคไตรม็อกซาโซลร่วมกับไรแฟมพิซิน หรืออะมิโนไกลโคไซด์ เช่น เจนตาไมซิน ในเด็กและหญิงตั้งครรภ์

อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมกัน 3-4 ชนิด และให้นานกว่า 6 สัปดาห์ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ หรืออาจต้องทำการระบายหนองออกในรายที่เป็นฝีตับ หรืออาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในรายที่มีภาวะผิดปกติของลิ้นหัวใจ

หลังจากกินยาได้ 4-14 วัน อาการไข้และอาการอื่นมักจะทุเลาลง ซึ่งถือว่าการรักษาได้ผลดี แต่ก็อาจมีอาการกำเริบซ้ำขึ้นได้หากกินยาไม่สม่ำเสมอหรือหยุดยาก่อนกำหนด และแพทย์มักจะติดตามผลการรักษา 2 ปีเป็นอย่างน้อย

ผู้ป่วยมักมีอัตราการตายค่อนข้างสูงในรายที่มีเยื่อบุหัวใจอักเสบร่วมด้วย หรือมีอัตราตายได้บ้างในรายที่ไม่ได้รับการรักษาเมื่อเป็นโรคนี้

ข้อแนะนำ
1. ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคบรูเซลโลซิส หากพบผู้ป่วยมีอาการไข้เรื้อรังร่วมกับน้ำหนักลด ข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ หรือการอักเสบของอวัยวะหลายส่วน และอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิตประสาทถ้าผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับร่วมด้วยเพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่ชัดเจน อาจมีเพียงไข้ต่ำๆ เป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจน ดังนั้นจึงควรซักถามประวัติการทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง หรือการบริโภคนมวัวหรือนมแพะที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อ หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุกก่อนจากผู้ป่วย นอกเหนือจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว

2. เพื่อป้องกันมิให้โรคกำเริบซ้ำ ควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคนี้ จากการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง และการกินยาให้ครบขนาดตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด

3. ควรแนะนำให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงรู้จักอาการของโรคนี้ และควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการที่น่าสงสัยเกิดขึ้น

การป้องกัน
1. เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบรูเซลโลซิสในสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ หมู เป็นต้น

2. ควรปรึกษาสัตวแพทย์ถ้าสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคนี้ เช่น สัตว์มีไข้ ซึม เต้านมอักเสบ ข้อขาอักเสบ เยื่อหุ้มข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ ขาหลังเป็นอัมพาต สัตว์แท้งลูกบ่อยๆ เป็นหมัน ให้น้ำนมน้อยลง เป็นฝีตามที่ต่างๆ ลูกที่คลอดออกมาไม่แข็งแรง เป็นต้น และควรกำจัดทิ้งหากพบว่าสัตว์เป็นโรคนี้จริง และหากสัตว์แท้งลูกควรเก็บลูกสัตว์ที่แท้งและรกส่งตรวจหาสาเหตุของโรค

3. ควรคัดแยกและทำลายถ้าพบว่ามีการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยง ด้วยการหมั่นตรวจสอบการติดเชื้อในฝูงสัตว์เลี้ยง ด้วยการตรวจเลือดและน้ำนม

4. ควรป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกเชื้อโรคโดยตรงในผู้ที่ทำงานในฟาร์ม โดยเฉพาะฟาร์มแพะ เช่น
-ควรสวมถุงมือยางชนิดหนาและทนทาน สวมหน้ากากปิดปากและจมูก ใส่ชุดกันเปื้อน ในขณะที่ทำงานในฟาร์ม

-ระวังการทิ่มตำจากเข็มฉีดยาหรือเข็มเจาะเลือดที่ใช้กับสัตว์

-ภายหลังการสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากอวัยวะสืบพันธุ์ เลือด น้ำเหลือง มูลสัตว์ รกและลูกสัตว์ที่แท้ง ควรล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง

5. ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อทันทีหลังจากถูกเข็มฉีดวัคซีนโรคนี้ทิ่มตำเข้าโดยบังเอิญ และควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาป้องกัน เช่น ดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับไรแฟมพิซิน 600-900 มก. วันละ 1 ครั้ง นาน 21 วัน ถ้าวัคซีนเข้าตาควรรีบล้างออกและกินยาป้องกันนาน 4-6 สัปดาห์

6. เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุก และนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อ การต้ม หรือการทำให้สุกด้วยความร้อนจากวิธีอื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรนำมาบริโภค

7. ไม่จำเป็นต้องแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ แต่ต้องระวังอย่าสัมผัสถูกหนองและน้ำเหลืองของผู้ป่วย และต้องผ่านการทำลายเชื้อหากมีหนองและเลือดของผู้ป่วยติดตามเสื้อผ้าหรือบริเวณต่างๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า