สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้(ALLERGIC RHINITIS)

โรคนี้คืออะไร

โรคนี้ชาวบ้านมักเรียก “โรคแพ้อากาศ” ซึ่งเป็นคำที่ไม่ถูกต้องเพราะผู้ป่วยไม่ได้แพ้อากาศ  แต่แพ้ของที่อยู่ในอากาศ แล้วทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบ ทำให้เกิดอาการคันจมูก คัดจมูก จาม และน้ำมูกไหลเมื่อได้พบกับสารที่ตนแพ้

โรคนี้พบได้บ่อยมาก อาจถึง 10-20% ของประชากร เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่เด็กเล็ก ๆ มักยังไม่ปรากฎอาการ โรคนี้เป็นโรคที่มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์สูง อาจเป็นโรคเดียวกันระหว่าง พ่อแม่กับลูก หรืออาจเป็นโรคอื่นแต่อยู่ในกลุ่มภูมิแพ้ด้วยกัน เช่น พ่อหรือแม่เป็นหืด ลูกอาจเป็นโรคนี้ได้ ในวัยเด็กมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ในผู้ใหญ่พบหญิงมากกว่า เช่นเดียวกันกับโรคหืด

ผู้ป่วยโรคนี้มักแสดงอาการได้เป็น 2 พวก

       พวกแรก มีอาการตลอดปี เพราะมีสาเหตุแพ้สารที่ผู้ป่วยพบตลอดปี มักเป็นสารที่อยู่ภายในบ้าน เช่น ฝุ่นในบ้าน ไรในฝุ่นบ้าน ขนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

       พวกที่สอง  มีอาการเฉพาะฤดูกาล อาการเป็นเพียงฤดูเดียวพวกนี้ฝรั่งเรียกว่า “ไข้ละอองฟาง” (Hay fever) ซึ่งก็เป็นคำที่ผิด เพราะโรคนี้อาจไม่ได้แพ้ฟาง และไม่มีไข้ แต่เป็นคำที่ฝรั่งใช้กันมานานเป็นร้อย ๆ ปี จนชินไปแล้วจึงเรียกต่อ ๆ กันมาเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไป  พวกนี้มักเกิดจากการแพ้เกสรพืช หรือเชื้อรา ที่มีในฤดูกาลนั้น ๆ ซึ่งในต่างประเทศจะเห็นเด่นชัด เพราะพืชแต่ละชนิดให้เกสรเป็นฤดูกาลชัดเจน สำหรับประเทศไทยไม่ค่อยเห็นเด่นชัด และเกสรพืชในประเทศไทยที่สำคัญเป็นเกสรหญ้า ซึ่งมีตลอดปี แต่ในกรุงเทพฯ จะสูงสุดในฤดูหนาว

โรคนี้มีสาเหตุจากอะไร

สาเหตุโรคนี้ก็เหมือนกับโรคหืด คือ แพ้สารที่อยู่ในบรรยากาศที่ผู้ป่วยอยู่และสูดดมเข้าไป การสูดดมเข้าไปครั้งแรก ๆ ก็ไม่เกิดอาการ ต้องสูดสารก่อภูมิแพ้ง่าย ๆ เข้าไปบ่อย ๆ และคนบางคนเท่านั้นที่จะสร้างภูมิแพ้ขึ้นในเลือดของตน เมื่อมีภูมิแพ้ก็ไปจับกับเซลล์มาสต์ในเยื่อบุจมูก และถ้าได้รับสารที่ตนแพ้เข้าไปอีกก็ทำปฏิกิริยากัน ทำให้มีการหลั่งสารเคมี เช่น ฮีสตามีน ออกมาทำให้หลอดเลือดในเยื่อจมูกบวม หลั่งน้ำมูกมากขึ้น คันจมูก คัดจมูกและจาม

ปัจจัยอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมทำให้อาการมาก เช่น สิ่งระคายจมูก กลิ่นฉุนๆ ควัน ฝุ่นถนน อุณหภูมิเปลี่ยน อากาศเย็น อากาศอ้าว การติดเชื้อ จิตใจเครียด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้อาการของโรคนี้รุนแรงมากขึ้น

โรคนี้มีอาการอย่างไร

คนที่เป็นจะทราบอาการนี้ดี มีคันจมูก จาม น้ำมูกไหล มักเป็นน้ำมูกใส ๆ บางครั้งใสคล้ายน้ำ บางครั้งเหนียว อาการดังกล่าวเป็นอย่างเรื้อรัง เป็นตลอดปีหรือเป็นฤดูกาล ถ้ามีการติดเชื้อร่วม น้ำมูกมักข้นสีเหลืองหรือสีเขียวเป็นแบบหนอง นอกจากอาการดังกล่าวผู้ป่วยจะมีความรู้สึกไม่สบาย มึนศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าผากและดั้งจมูก อาจมีเสมหะในลำคอ ผู้ป่วยมีความรู้สึกไม่แจ่มใส มึนซึม การรับกลิ่นพลอยเสียไป การเป็นมาก ๆ รูเปิดของหูในบริเวณลำคอจะยวม ทำให้หูอื้อ ฟังไม่ค่อยได้ยิน

แพทย์มักให้การวินิจฉัยโรคนี้ไม่ยาก ผู้ป่วยมักให้การวินิจฉัยได้เองเช่นกัน มักไปหาแพทย์บอกได้เลยว่าตนเป็นโรคแพ้อากาศเพราะอาการค่อนข้างเด่นชัด การตรวจในรูจมูก จะพบเยื่อบุจมูกบวม ซีด บางครั้งรูจมูกตัน ไม่มีทางเดินให้อากาศผ่านเลย นอกจากนั้นบางคนที่เป็นเรื้อรังอาจพบก้อนเนื้อในรูจมูก ที่คนทั่วไปมักเรียก “ริดสีดวงจมูก” อาการอื่น ๆ ผู้ป่วยเด็กมักชอบใช้ฝ่ามือเสยจมูกจนบางครั้งดั้งจมูกมีรอยขาวเป็นรอยขวางชัดเจน เพราะเสยจมูกเป็นประจำ ผู้ป่วยเด็กมักหายใจทางปาก ถ้าเป็นนาน ๆ ทำให้รูปหน้าผิดไป และมีฟันยื่นการหายใจทางปากทำให้คอแห้ง เจ็บคอง่าย และไม่สบายบ่อย

โรคแทรก ผู้ป่วยโรคนี้มีโรคแทรกง่าย ที่พบได้บ่อยคือ

1.  ริดสีดวงจมูก

2.  ไซนัสอักเสบ

3.  หูส่วนกลางอักเสบแบบหูน้ำหนวก

4.  หูส่วนกลางมีน้ำขัง เกิดอาการหูตึง

ผู้ป่วยโรคนี้ควรปฏิบัติตัว และมีการรักษาอย่างไร

การรักษามีหลักคล้ายโรคหืด คือ

       1.  หลีกเลี่ยงสารที่ตนแพ้  ถ้าทราบว่าแพ้สารใดควรหลีกเลี่ยง มักเป็นสารซึ่งสูดดมเข้าไป ผู้ป่วยที่แพ้ฝุ่นในบ้าน ผู้ป่วยไม่ควรเป็นผู้ทำความสะอาดบ้านช่องเอง เพราะจะเกิดอาการมาก  นอกจากนั้นยังต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมให้เกิดอาการมาก เช่น กลิ่นฉุน ๆ ควัน การเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ฯลฯ

       2.  การใช้ยา  ยาที่ใช้ได้ผลเป็นยาแก้แพ้ประเภทยาต้านฮีสตามีน ซึ่งมีมากมาย แต่ผู้ป่วยแต่ละคนจะตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ยาบางอย่างมีอาการข้างเคียงมาก เช่น ง่วงซึม ท้องผูก ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ยาหยอดจมูกที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวไม่ควรใช้ จะทำให้หายใจโล่งชั่วคราว การใช้นาน ๆ จะทำให้เยื่อบุจมูกบวม ยิ่งใช้ยิ่งมีอาการมาก การใช้ยาพ่นจมูกชนิดที่ลดการอักเสบอาจมีประโยชน์ แต่ต้องใช้ในคนที่มีข้อบ่งใช้เท่านั้น ซึ่งแพทย์จะช่วยตัดสินให้

ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาประเภทฮอร์โมน เช่น เพร็ดนิโซโลน หรือยาลูกกลอน ซึ่งส่วนมากมีเพร็ดนิโซโลนผสมอยู่ ซึ่งจะมีอันตรายมาก รับประทานแล้วมีอาการบวมฉุ เด็กจะแคระแกรน ฯลฯ

       3.  การฉีดสารภูมิแพ้เสริมภูมิคุ้มกัน เป็นวิธีการที่ฉีดสารที่ผู้ป่วยแพ้เข้าร่างกายทีละเล็กละน้อย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นวิธีเดียวกันกับการรักษาโรคหืด ได้ผลดีพอสมควร แต่กินเวลาเป็นปี ๆ ทำให้อาการลดน้อยลง และสามารถควบคุมอาการได้โดยใช้ยาน้อยลง หรืออาจไม่ต้องใช้เลย แต่ต้องเลือกสารที่ใช้ให้ถูกต้องและการฉีดต้องเหมาะสมและไม่ขาดตอน ผู้ป่วยมักจะเบื่อหน่าย ในรายฉีดไม่สม่ำเสมอจะไม่ได้ผล

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า