สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome/Hypercortisolism)

เป็นภาวะที่ร่างกายมีกลูโคคอร์ติคอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสตีรอยด์กลุ่มหนึ่งมากเกินไป จึงเป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเกิดขึ้นได้โรคคุชชิง

สาเหตุ
มักเกิดจากการใช้สารสตีรอยด์สังเคราะห์ติดต่อกันนานๆ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักอยู่ในรูปของยาชุด ยาหม้อ และยาลูกกลอน ที่ผู้ป่วยหามาใช้เองโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออาจเกิดจากการใช้สตีรอยด์ในการรักษาโดยแพทย์ เช่น เอสแอลอี โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคไตเนโฟรติก ผู้ป่วยหลังผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น ที่เกิดจากการสร้างฮอร์โมนกลูโคคอติคอยด์มากเกิน ที่เรียกว่า ภาวะคอร์ติซอลเกิน (hypercortisolism) มีเป็นส่วนน้อยซึ่งอาจมีสาเหตุจากเนื้องอกของอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนชนิดนี้ เช่น

-เนื้องอกต่อมหมวกไต และมะเร็งต่อมหมวกไต ซึ่งสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากผิดปกติ

-เนื้องอกต่อมใต้สมอง ซึ่งสร้างฮอร์โมนเอซีทีเอช กระตุ้นให้ต่อมหวมกไตสร้างคอร์ติซอลมากเกิน

เนื้องอกที่พบบ่อยอื่นๆ คือมะเร็งปอดชนิด small cell lung carcinoma และเนื้องอกคาร์ซินอยด์ เนื้องอกเหล่านี้สามารถสร้างฮอร์โมนเอซีทีเอชกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้างคอร์ติซอลมากเกิน

เนื้องอกต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบมากในช่วงอายุ 25-40 ปี ส่วนมะเร็งปอดพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบมากในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป

เมื่อร่างกายมีสารสตีรอยด์อยู่นานๆ ไม่ว่าจะด้วยการสร้างขึ้นมาเองของร่างกายหรือได้รับจากภายนอก มักส่งผลทำให้อ้วนและมีก้อนไขมันพอกจากการสะสมไขมันตามร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อแขนขาลีบ อ่อนแรงเนื่องจากการสลายตัวของโปรตีนของกล้ามเนื้อ ทำให้กระดูกพรุน นิ่วไต จากการสลายตัวของแคลเซียมในกระดูก ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เบาหวาน จากการสร้างกลูโคสที่ตับจากโปรตีนและไขมัน แล้วปล่อยออกมาในกระแสเลือด ทำให้ผิวบาง หนังลาย ฟกช้ำง่าย แผลหายยากเนื่องจากการยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อพังผืดและคอลลาเจน ทำให้บวม ความดันโลหิตสูงจากการคั่งของโซเดียมในร่างกาย ทำให้สิวขึ้น ขนอ่อนขึ้น ประจำเดือนผิดปกติจากการเพิ่มการสร้างฮอร์โมนเพศชายหรือแอนโดรเจน ทำให้มีอารมณ์เคลิ้ม วิตกกังวล ซึมเศร้า อยากอาหารเนื่องจากมีการส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากมีการกดภูมิคุ้มกัน ทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าเนื่องจากกดการสร้างกระดูกและฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต

อาการ
มักจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างช้าๆ นานเป็นแรมเดือน จะพบว่าผู้ป่วยหน้าอูมขึ้นในระยะแรก จนหน้ากลมและออกสีแดงเรื่อๆ ที่แอ่งไหปลาร้า 2 ข้างและที่ต้นคอด้านหลังจะมีก้อนไขมันเกิดขึ้นดูเป็นหนอก ภาษาแพทย์เรียกว่า อาการหนอกควาย(buffalo’s hump) รูปร่างจะอ้วนมากตรงเอว แขนขาลีบเล็กลง จะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย การยกต้นแขนขึ้น เดินขึ้นบันได และลุกจากที่นั่งจะทำได้ลำบาก บริเวณท้อง สะโพก กระเบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา ผิวหนังจะออกเป็นลายสีคล้ำๆ ผิวหนังบาง เวลาถูกกระทบกระแทกจะมีจ้ำเขียวพรายย้ำง่าย ที่หน้า หน้าอก และที่หลังมักมีสิวขึ้น ที่หน้า ลำตัวและแขนขาจะมีขนอ่อนขึ้น มักทำให้มีอาการปวดหลัง หรือกระดูกแตกหักง่ายเนื่องจากกระดูกผุกร่อน อาจมีอาการของเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ในผู้หญิงอาจมีเสียงแหบห้าว มีขนมากเหมือนผู้ชาย ประจำเดือนมีน้อยหรือไม่มีเลย มีบุตรได้ยาก ผู้ป่วยอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ อยากอาหาร อารมณ์ปรวนแปร วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือกลายเป็นโรคจิต

ในรายที่เป็นเนื้องอกต่อมใต้สมอง มักมีอาการปวดศีรษะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน ตามัว มีน้ำนมไหลผิดธรรมชาติ อาจมีอาการของภาวะขาดไทรอยด์ร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ
มักพบผู้ป่วยมีรูปร่างอ้วน พุงป่อง หน้าอูม มีก้อนไขมันที่แอ่งไหปลาร้าทั้ง 2 ข้างและต้นคอด้านหลัง แขนขาลีบ หน้ามีสิวและขนอ่อนขึ้น ท้องลาย ก้นลาย ผิวหนังบาง พบจ้ำเขียวพรายย้ำ ความดันโลหิตสูง

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง เบาหวาน เช่น หัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก โรคหัวใจขาดเลือด ผิวหนังมักมีการติดเชื้อได้ง่าย เช่น ฝี พุพองง่าย โรคเชื้อรา และเกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะหรือเป็นแผลหายยาก อาจทำให้เป็นแผลเพ็ปติก ต้อกระจก ต้อหินเรื้อรัง กระดูกหักง่าย นิ่วไต หรือเป็นโรคจิต อาจทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้าถ้าพบในเด็ก

ผู้ป่วยที่ใช้สารสตีรอยด์มากเกินและเมื่อหยุดสตีรอยด์ทันทีหรือขณะเกิดการเจ็บป่วย อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การรักษา
ควรรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลภายใน 1 สัปดาห์หากมีความสงสัย ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติและอาการของโรคเป็นหลัก การตรวจเลือดมักพบว่ามีระดับคอร์ติซอลต่ำกว่าปกติในรายที่เกิดจากการใช้สารสตีรอยด์มากเกิน

มักมีสาเหตุจากเนื้องอกของต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง และเนื้องอกส่วนอื่นๆ ในกรณีที่ไม่มีประวัติการใช้สารสตีรอยด์ การตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อหาระดับคอร์ติซอลมักพบว่าสูงกว่าปกติ ในผู้ป่วยเนื้องอกต่อมหมวกไตตรวจระดับเอซีทีเอชจะพบว่าต่ำ และในผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองจะพบว่าสูง และอาจทำการทดสอบที่เรียกว่า “Dexamethasone suppression test” และเพื่อค้นหาเนื้องอกต่างๆ อาจจำเป็นต้องทำการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และตรวจหาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ด้วยการตรวจเลือด หรือเอกซเรย์

การรักษาในรายที่มีสาเหตุจากการใช้สตีรอยด์มากเกิน แพทย์มักให้กินยาสตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน และค่อยๆ ลดขนาดยาลงทีละน้อย และตรวจวัดระดับคอร์ติซอลในเลือดเป็นระยะๆ ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมจนเข้าสู่ภาวะปกติ มักใช้เวลานานเป็นปีจึงจะหยุดยาได้

มักต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วให้กินยาสตีรอยด์ทดแทนไปจนตลอดชีวิตในรายที่มีสาเหตุจากการเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง เพราะร่างกายจะสร้างฮอร์โมนชนิดนี้เองไม่ได้หลังจากการผ่าตัดแล้ว

ข้อแนะนำ
1. ไม่ควรใช้ยาสตีรอยด์แบบพร่ำเพรื่อหรือใช้อย่างผิดๆ เพราะโรคนี้มักเกิดจากการใช้สตีรอยด์มากเกิน ส่วนในบางโรคที่ต้องใช้สตีรอยด์ในการรักษาควรจะอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

2. ในรายที่ใช้สตีรอยด์มากเกินจนเป็นโรคคุชชิง ห้ามหยุดยาสตีรอยด์ทันทีระหว่างรอส่งไปโรงพยาบาล ควรให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดยาเอง เพราะอาจเกิดภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้จากภาวะขาดสตีรอยด์อย่างเฉียบพลัน

3. โรคนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

4. การผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวเช่นคนปกติได้ในรายที่เกิดจากเนื้องอกชนิดไม่ร้าย แต่ห้ามขาดยาเป็นอันขาด ต้องกินยาสตีรอยด์เข้าไปทดแทนในร่างกายตลอดไป

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า