สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น

เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น/โรคคาร์พัลทูนเนล(Carpal tunnel syndrome/CTS)

ประสาทมีเดียน คือเส้นประสาทมือ เมื่อลงมาที่ข้อมือจะวิ่งผ่านช่องเล็กๆ ที่ประกอบด้วยกระดูกข้อมือและแผ่นพังผืดเหนียวๆ ที่อยู่ข้างใต้ของกระดูกข้อมือ ช่องเล็กๆ นี้มีชื่อเรียกว่า คาร์พัลทูนเนล บางครั้งเนื้อเยื่อในช่องแคบนี้อาจบวมทำให้เส้นประสาทมือถูกบีบรัด มีอาการปวดชาที่ปลายมือ เรียกว่า โรคคาร์พัลทูนเนล หรือ เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น โรคนี้พบมากให้ผู้หญิงอายุ 30-60 ปี และพบได้ค่อนข้างบ่อยเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น

สาเหตุ
อาจเกิดจากภาวะบวมในระยะก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างตั้งครรภ์ การบาดเจ็บที่ข้อมือ หรือจากภาวะอื่นๆ เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ภาวะขาดไทรอยด์ เบาหวาน ภาวะอ้วน เป็นต้น หรืออาจพบประวัติว่ามีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ ซึ่งบางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็เป็นได้

อาการ
บริเวณมือของผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือรู้สึกชาเป็นพักๆ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและซีกหนึ่งของนิ้วนางด้านที่ติดกับนิ้วกลาง อาจปวดร้าวขึ้นไปที่แขนหรือหัวไหล่ในบางครั้ง มักจะมีอาการปวดมากจนต้องสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืด และจะรู้สึกทุเลาได้เมื่อห้อยข้อมือตรงขอบเตียงหรือสะบัดมือ

อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือชาได้จากการทำงานโดยใช้ข้อมือ งอข้อมือเร็วๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน พิมพ์ดีด เป็นต้น อาจทำให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่นๆ ชาและอ่อนแรงได้ถ้าเป็นมากๆ อาจเกิดอาการขึ้นกับมือข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ หากเป็นในระยะตั้งครรภ์อาการมักจะหายไปเองเมื่อหลังจากคลอดแล้ว

สิ่งตรวจพบ
อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหรือชาที่ปลายนิ้วมือได้จากการกดหรือเคาะที่ข้อมือตรงด้านเดียวกับฝ่ามือ

ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการปวดหรือชาปลายนิ้วมือโดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และซีกหนึ่งของนิ้วนางด้านที่ติดกับนิ้วกลาง จากการทดสอบโดยให้ผู้ป่วยวางหลังมือทั้งสองข้างชนกัน ในท่างอข้อมือให้มากที่สุด และนิ้วมือชี้ลงพื้นนาน 60 วินาที เรียกการทดสอบนี้ว่า Phalen’s sign

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อมือฝ่อได้หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่ได้รับการรักษา

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์อาจทำการวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ

อาจให้การรักษาด้วยการกินยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ และใส่เฝือกที่มือเวลาเข้านอนในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย หรืออาจต้องฉีดสตีรอยด์เข้าที่ข้อมือข้างที่ปวดในบางราย หรืออาจต้องผ่าตัดแผ่นพังผืดที่บีบรัดเส้นประสาทเพื่อช่วยให้อาการทุเลาได้เร็วขึ้นในรายที่เป็นมาก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า