สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ทำอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และจะห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างไร หลายท่านคงจะเคยได้รับการวัดความดันโลหิตกันมาบ้างแล้ว และอาจจะงงๆ เมื่อเวลาพยาบาลพูดกันว่าวัดได้ค่าความดันโลหิต 150/80 ว่ามันคืออะไร เราจะมาทำความกระจ่างกันในเรื่องนี้กัน

ความดันโลหิต หมายถึง ความดันของนํ้าเลือดในหลอดเลือดแดง ที่ผลักดันให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้าเปรียบง่ายๆ ลองนึกถึงท่อนํ้าประปาแรงผลักดันให้นํ้าประปาไหลไปตามท่อไปยังบ้านเรือน เทียบได้กับความดันโลหิตที่ผลักดันเลือดไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ต้นกำเนิดของความดันโลหิตเกิดมาจากการบีบตัวของหัวใจและหลอดเลือด เมื่อหัวใจบีบตัวหนึ่งครั้งก็จะบีบเลือดออกจากหัวใจไปตามหลอดเลือดแดง ความดันในหลอดเลือดแดงก็จะสูงขึ้น ที่เราเรียกว่า ความดันซีสโตลิก และเมื่อหัวใจคลายตัว ความดันในหลอดเลือดแดงก็จะลดลงทันที แต่ยังมีความดันจากการบีบตัวของหลอดเลือดอยู่ เราเรียกว่าความดันไดแอสโตลิก

ดังนั้นเมื่อไปวัดความดันโลหิตจึงได้ยินพยาบาลพูดกันว่าวัด ได้เป็น 2 ตัวเลข เช่น วัดความดันโลหิตได้ค่า 150/80 มิลลิเมตรปรอท หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าค่าความดันโลหิตตัวบนก็คือค่าความดันซีสโตลิก และค่าความดันโลหิตตัวล่างก็คือค่าความดันไดแอสโตลิก นั่นเอง

ค่าความดันโลหิตตัวบน หมายถึง ค่าความดันเลือดในขณะที่หัวไจปีบตัว เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ค่าปกติในขณะนั่งพักคือ 80 – 140 มิลลิเมตรปรอท

ค่าความดันโลหิตตัวล่าง หมายถึง ค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว เพื่อรับเลือดกลับเข้ามาในห้องหัวใจ เพื่อเตรียมเริ่มวงจรการปีบตัวและคลายตัวในลำดับต่อไปต่อเนื่องกันเช่นนี้ตลอดชั่วชีวิตเรา ค่าปกติในขณะนั่งพักคือ 50 – 90 มิลลิเมตรปรอท

ดังนั้นการรายงานผลค่าความดันโลหิตจะต้องประกอบด้วย 2 ค่าเสมอ จึงจะประเมินได้ว่ามีระดับความดันโลหิตปกติหรือผิดปกติ และจะต้องทราบว่าค่าไหนเป็นค่าความดันโลหิตซีสโตลิกหรือค่าตัวบน และค่าไหนเป็นค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิกหรือค่าตัวล่าง

ในวันหนึ่งๆ ค่าความดันโลหิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับการมีกิจกรรมและสภาพอารมณ์ในขณะนั้น การวัดความดันโลหิตเพื่อประเมินว่าเราเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ จึงต้องวัดในขณะที่ร่างกายได้พักนิ่งๆ ไม่มีอาการเหนื่อย อารมณ์เป็นปกติ ไม่ตื่นเต้นตกใจ หรือมีอารมณ์โกรธอยู่ และควรวัดตรวจสอบในเวลาอื่นๆ ด้วยเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริงหรือไม่

ภาวะความดันโลหิตสูงคือ มีค่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท หรือมีค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท แต่สำหรับผู้สูงอายุความดันโลหิตตัวบนอาจมากกว่า 150 – 160 มิลลิเมตรปรอท ก็ยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติอยู่

ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายคือ ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบแคบ ถ้าเป็นที่หลอดเลือดในสมองจะทำให้เส้นเลือดในสมองตีบตัน หรือแตกได้จนเกิดเป็นอัมพาต ถ้าเป็นที่หลอดเลือดหัวใจทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และถ้าเป็นที่หลอดเลือดที่ไตทำให้ไตวายได้ จะเห็นได้ว่าภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ จะส่งผลร้ายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ตังนั้นการดูแลสุขภาพที่ดีเพื่อป้องกันการเกิด โรคความดันโลหิตสูงจึงมีความสำคัญมาก

การดูแลสุขภาพเพื่อให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง มีดังนี้

1.  ลดอาหารรสเค็ม

2.  รู้จักควบคุมอารมณ์ไม่หงุดหงิด หรือโมโหง่าย

  1. ไม่ครํ่าเคร่งกับงานมากเกินไป ควรมีเวลาผ่อนคลาย และนอนหลับ พักผ่อนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน

4.  ลดความอ้วนในผู้ที่อ้วน

5.  ออกกำลังกายเป็นประจำ

6.  งดการสูบบุหรี่    เพราะมีผลทำให้หลอดเลือดตีบแข็งเพิ่มขึ้น

7.  ไปรับบริการวัดระดับความดันโลหิตที่อนามัยใกล้บ้าน      เพื่อประเมิน

ตนเอง

การดูตนเองเพื่อให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง เป็นการดูแลตนเอง ที่จะส่งเสริมให้สุขภาพของท่านมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ถ้าท่านมีความ เอาใจใส่ในสุขภาพและปฏิบัติอย่าสมํ่าเสมอก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานโรคหัวใจได้ด้วย

ภาวนา  กีรติยุตวงศ์

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า