สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคขาดวิตามินเอ/เกล็ดกระดี่ขึ้นตา(Vitamin A deficiency)

เป็นอาการของประสาทตาส่วนที่เรียกว่าจอตา หรือ เรตินา เสื่อม จากภาวะการขาดวิตามินเอ เกิดเยื่อบุตาแห้ง ต่อมน้ำตาไม่ทำงาน อาจทำให้ตาบอดได้ จึงเรียกกันว่า โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา พบโรคนี้ได้บ่อยในภาคอีสาน หรือท้องที่ชนบทที่มีเด็กยากจนโรคขาดวิตามินเอ

สาเหตุ
เกิดจากการกินอาหารที่มีวิตามินเอน้อยไป เช่น กินแต่นมข้นหวาน กล้วยบดและข้าว โดยไม่ได้รับอาหารเสริมอื่นเพิ่มเติม มักพบโรคนี้ในเด็กวัยแรกเกิดถึงเด็กอายุ 5 ปี มักพบโรคนี้ร่วมกับโรคขาดอาหาร หรืออาจเป็นหลังจากเป็นโรคติดเชื้อ เช่น หัด ปอดอักเสบ หรือท้องเดินเรื้อรัง ในบางราย

ถ้าพบในผู้ใหญ่มักมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น โรคตับเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผลทำให้มีการดูดซึมวิตามินเอน้อยลงจากโรคเหล่านี้

อาการ
เนื่องจากจอตาเริ่มเสื่อมจะมีอาการตาฟางหรือมองไม่เห็นเฉพาะตอนกลางคืนหรือในที่มืดๆ ในระยะเริ่มแรก และในระยะต่อมาเยื่อตาขาวจะแห้งและเมื่อเป็นมากขึ้นจะย่นอยู่รอบๆ กระจกตาดำคล้ายเกล็ดปลา กระจกตาดำจะแห้งไม่มีประกาย ตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือสีเงินเป็นจุดใหญ่ด้านหางตา เรียกว่า จุดบิทอตส์ (Bitot’s spot) หรือเกล็ดกระดี่ อาจเป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง จะสามารถแก้ไขได้ทันถ้าได้รับการรักษาในระยะนี้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนกระจกตาอ่อนตัวเป็นแผล เกิดรูทะลุ มีเชื้อโรคเข้าในลูกตาทำให้เกิดการอักเสบ และตาบอดได้ ไม่ได้รับการรักษา

มักตรวจพบว่ามีการอ่อนตัวของกระจกตาดำแล้วในเด็กเล็ก และจะพบหนังตาบวม ปิดตาแน่น ไม่ยอมลืมตา

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจพบเยื่อตาขาวรอบๆ กระจากตาดำเป็นรอยย่น กระจกตาดำขุ่นมัวไม่สะท้อนแสงและเกิดเกล็ดกระดี่ตรงด้านหางตา

การรักษา
1. ให้กินวิตามินเอชนิดแคปซูล ขนาด 25,000 ยูนิต ครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน พร้อมให้วิตามินรวมชนิดน้ำเชื่อม 1 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง ถ้าเป็นวิตามินเอชนิดฉีดให้ขนาด 1 แสนยูนิต ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกครั้งเดียวเพิ่มเติมจากยาที่กินดังกล่าว ถ้าไม่มียาวิตามินเอชนิดแคปซูลหรือชนิดฉีดให้กินวิตามินรวมชนิดน้ำเชื่อม 1 ช้อนชาวันละ 3 ครั้ง หรือน้ำมันตับปลาเม็ดละ 1,000 ยูนิต ครั้งละ 2-5 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ร่วมกับกินอาหารที่มีวิตามินเอ นาน 2-3 เดือน เมื่อเริ่มมีอาการตาบอดกลางคืน หรือเริ่มมีเกล็ดกระดี่ขึ้นตา

2. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากใน 1 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอ่อนตัวของกระจกตาดำ

3. ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ อาจให้กินวิตามินเอชนิดแคปซูล หรือฉีดวิตามินเอร่วมกับให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ในระหว่างเดินทาง อย่าพยายามเปิดตาเด็กถ้าเด็กปิดตาแน่น เพราะอาจทำให้กระจกตาดำแตกทะลุได้

ข้อแนะนำ
ควรปรึกษาแพทย์เมื่อเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอเป็นหัด เพื่อให้วิตามินเอเสริมเป็นการช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตลงได้

การป้องกัน
โรคนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินเอสูง เช่น เนื้อ ตับ ไข่ นม ฟักทอง มะเขือเทศ มะละกอสุก ผักใบเขียว พริกที่เผ็ดๆ จึงควรแนะนำให้เด็กกินอาหารเหล่านี้ให้มากเป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า