สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคกรดไหลย้อน/เกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease/GERD)

เป็นภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนไประคายเคืองต่อหลอดอาหารและลำคอ มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไปกรดไหลย้อน

สาเหตุ
เกิดจากหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพ ทำให้หูรูดปิดไม่สนิททำให้น้ำย้อยที่มีฤทธิ์เป็นกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหารและลำคอทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้หูรูดหย่อนสมรรถภาพเกิดจากความเสื่อมตามอายุหรือหูรูดยังเจริญได้ไม่เต็มที่ในทารก หรือมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด

ปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบมีหลายประการ เช่น
-การกินอาหารจนอิ่มเกินไปทำให้น้ำย่อยถูกกระตุ้นออกมามาก
-น้ำย่อยอาจไหลย้อนได้ง่ายขึ้นจากการนอนราบ นั่งงอตัว หรือโค้งตัวลงต่ำ
-ภาวะอ้วน การตั้งครรภ์ การรัดเข็มขัดหรือใส่กางเกงที่คับเกินไปจะไปเริ่มแรงดันในกระเพาะอาหารทำให้เกิดน้ำย่อยไหลย้อน
-น้ำย่อยที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมามาก และหูรูดที่หย่อนสมรรถภาพอาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสมอยู่ด้วย
-สิ่งที่จะเสริมให้หูรูดหย่อนคลายหรือน้ำย่อยหลั่งมากขึ้น ได้แก่ การสูบบุหรี่ อาหารมัน อาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยวๆ ผลไม้เปรี้ยวๆ ช็อกโกแลตหรือสะระแหน่ ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เป็นต้น
-การมีไส้เลื่อนกะบังลมขนาดใหญ่(hiatal hernia/diaphragmatic hernia ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม จึงทำให้หูรูดมีความอ่อนแอมากยิ่งขึ้น
-โรคหืด การเพิ่มขึ้นของแรงดันในช่องท้องที่เกิดจากการไอและหอบจึงทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน และภาวะหูรูดหย่อนก็อาจเกิดจากการใช้ยาขยายหลอดลมก็เป็นได้
-เบาหวาน เกิดกรดไหลย้อนเนื่องจากเป็นเบาหวานมานานทำให้ประสาทกระเพาะอาหารเสื่อมทำให้อาหารขับเคลื่อนได้ช้า
-แผลเพ็ปติก แผลหรือรอยแผลเป็น ที่ปลายกระเพาะอาหาร หรือการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่นทำให้มีกรดไหลย้อนได้เนื่องจากกระเพาะขับเคลื่อนอาหารสู่ลำไส้ช้าลง

อาการ
หลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวนอนราบ นั่งงอตัวโค้งลงต่ำ รัดเข็มขัดแน่น ใส่กางเกงคับเอว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอก มักเป็นอยู่นาน 2 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง มีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง

อาจมีอาการจุกแน่นยอดอกคล้ายอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ เรอบ่อย หรือปวดแสบร้าวจากยอดอกขึ้นไปถึงคอหอย มีอาการขย้อนหรือเรอเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยวขึ้นไปที่คอหอย หรือรู้สึกมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในปากหรือคอ หายใจมีกลิ่น ในผู้ป่วยบางราย

ในรายที่มีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรงที่ไหลไปถึงปากและลำคอ อาจมีอาการไอบ่อย รู้สึกระคายคอ รู้สึกมีเสมหะอยู่ในคอ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในท่านอนราบหรือหลังจากรับประทานอาหารแล้ว

ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เนื่องจากมีอาการแบบเรื้อรังเหล่านี้ เช่น รู้สึกขมคอเมื่อตื่นนอน เปรี้ยวปาก มีเสียงแหบ เจ็บคอ แสบลิ้น ไอเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ เช่น ภาวะกลืนอาหารแข็งลำบากเนื่องจากหลอดอาหารอักเสบตีบตันเรื้อรังและเกิดอาการตีบตัน

อาจไม่มีอาการผิดปกติให้เห็นถ้ามีภาวะกรดไหลย้อนเพียงเล็กน้อย

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ จากการตรวจร่างกายทั่วไป

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหากปล่อยให้เป็นแบบเรื้อรังเป็นเวลานาน ที่พบได้บ่อย คือ หลอดอาหารอักเสบ ผู้ป่วยจะเจ็บหน้าอกเมื่อกลืนอาหาร และกลายเป็นแผลหลอดอาหารอาจมีอาการเลือดออก เช่นอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ หากไม่ได้รับการรักษา และเมื่อปล่อยไว้นานเข้าอาจทำให้หลอดอาหารตีบกลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย อาจต้องใช้เครื่องมือถ่างหลอดอาหารเป็นครั้งคราว หรืออาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ในบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารจนกลายเป็นหลอดอาหารบาร์เรตต์ ซึ่งต้องใช้การส่องกล้องไปที่หลอดอาหารและนำชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ ซึ่งผู้ป่วยภาวะนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งหลอดอาหารประมาณร้อยละ 2-5 เวลากลืนอาหารจะรู้สึกเจ็บ กลืนได้ลำบาก อาเจียนบ่อย น้ำหนักตัวลด

ในรายที่มีกรดไหลย้อนถึงคอหอยและหลอดลมก็อาจทำให้กลายเป็นคออักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ โรคหืดกำเริบบ่อย เนื่องจากหลอดลมเกิดการระคายเคืองจากน้ำย่อยที่ไหลเข้าไป

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมักพบได้บ่อยในทารกอายุประมาณ 1-4 เดือน ได้แก่ ปอดอักเสบจากการสำลักน้ำย่อยเข้าไปในปอด

โรคนี้ยังเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผิวฟันกร่อน และมะเร็งกล่องเสียง

การรักษา
1. ให้กินยาต้านกรดร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 เช่น รานิทิดีน นาน 2 สัปดาห์ ถ้าเริ่มมีอาการในระยะแรก ถ้าดีขึ้นให้กินจนครบ 8 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้น น้ำหนักลด มีอาการกำเริบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

2. ควรรีบส่งโรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หรือมีอาการที่ผิดปกติอื่นๆ เช่น เจ็บหน้าอกเมื่อกลืนอาหาร กลืนลำบาก หายใจลำบาก อาเจียน ซีด ตาเหลือง น้ำหนักลด คลำได้ก้อนในท้อง ถ่ายดำ เจ็บหน้าอกรุนแรง หรือในทารกที่อาเจียนบ่อย ไอบ่อย น้ำหนักตัวไม่ขึ้น

แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นจากลักษณะอาการแสดงของโรคกรดไหลย้อน ในรายที่อาการไม่ชัดเจนอาจต้องส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น แผลเพ็ปติก มะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งในโรคกรดไหลย้อนอาจตรวจพบร่องรอยการอักเสบของหลอดอาหาร แผลที่หลอดอาหาร หลอดอาหารบาร์เรตต์ แต่อาจตรวจไม่พบรอยโรคในหลอดอาหารหากเป็นในระยะเริ่มแรก

ในผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ทางโรคหู คอ จมูก ด้วยอาการเสียงแหบ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง มักพบสายเสียงบวมแดงเมื่อตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

แพทย์อาจให้ยากลุ่มต้านกรด ยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 หรือยากลุ่มออกฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น เมโทโคลพราไมด์ ดอมเพอริโดน ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง และก่อนนอน
ถ้ายังไม่ได้ผลก็จะให้ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ เช่น โอเมพราโซล วันละ 20-40 มก. นาน 4-8 สัปดาห์ หรืออาจให้นาน 3-6 เดือนในบางราย

โรคนี้มักกำเริบเป็นครั้งคราว ถ้ามีพฤติกรรมที่ก่อให้โรคกำเริบ และให้ยากินเมื่อมีอาการกำเริบไปเรื่อยๆ

อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมโดยผูกหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารด้วยวิธีส่องกล้องเข้าช่องท้อง หากกินยาแล้วไม่ได้ผล หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารอักเสบรุนแรง หลอดอาหารตีบ กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง โรคหืดกำเริบบ่อย มีไส้เลื่อนกะบังลมขนาดใหญ่ เป็นต้น หรืออาจให้การรักษาด้วยวิธี Radio frequency therapy โดยการใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุทำลายเนื้อเยื่อตรงส่วนปลายของหลอดอาหารทำให้เกิดแผลเป็นดึงรั้งให้หูรูดหดแน่น จึงช่วยให้อาการทุเลาเบาบางลงได้

ข้อแนะนำ
1. ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
-ถ้าน้ำหนักเกินให้ลดน้ำหนักตัวลง
-หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อาการกำเริบ เช่น อาหารมันๆ อาหารรสเผ็ดจัด แอลกอฮอล์ บุหรี่ เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน น้ำอัดลม น้ำผลไม้และผลไม้รสเปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ ช็อกโกแลต หัวหอม กระเทียม สะระแหน่ ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท เป็นต้น
-หลีกเลี่ยงการกินอาการจนอิ่มมาก และการดื่มน้ำมากๆ ระหว่างกินอาหาร อาหารมื้อเย็นควรกินในปริมาณที่น้อยและกินก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป
-หลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ ควรปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวมเพื่อให้รู้สึกสบายท้อง ไม่นอนราบ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ไม่นั่งตัวงอโค้งตัวลงต่ำ
-ความเครียดทำให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารออกมามากอาจทำให้อาการกำเริบได้จึงควรออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียดเสมอๆ
-ถ้ามีอาการกำเริบตอนเข้านอน ควรหนุนศีรษะสูง 6-10 นิ้ว โดยให้เอียงลาดจากศีรษะลงมาถึงระดับเอว ควรใช้เตียงที่สามารถปรับขึ้นลงได้ ไม่แนะนำให้หนุนหมอนสูงเพราะอาจทำให้ท้องโค้งงอทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้นอีก

2. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างจริงจังและรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะโรคนี้มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ควรใช้ยาควบคุมอาการเป็นระยะๆ และกินทันทีเมื่อมีอาการกำเริบ

3. ควรตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยกล้องส่องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน เพราะโรคนี้อาจมีอาการคล้ายโรคแผลเพ็ปติก และมะเร็งกระเพาะอาหาร

4. โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถ้าผู้ป่วยดูแลรักษาและปฏิบัติตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นโรคที่เรื้อรังและน่ารำคาญ แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้หากปล่อยปละละเลย ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงดังกล่าวได้แก่ หลอดอาหารตีบ มะเร็งหลอดอาหารเป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า