สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โปลิโอ(Poliomyelitis)

พบเป็นกันมากในเด็ก เป็นโรคสาเหตุที่ทำให้แขนขาพิการไปตลอดชีวิตจากการอักเสบของประสาทไขสันหลัง เนื่องจากมีการให้วัคซีนป้องกันอย่างทั่วถึงจึงพบโรคนี้ได้น้อยในปัจจุบันโปลิโอ

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ ติดต่อโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป มีการแบ่งตัวที่เนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่คอหอย และแพร่เข้ากระแสเลือดไปยังสมองและไขสันหลัง ทำให้ประสาทส่วนที่บังคับการทำงานของกล้ามเนื้อเสียไป ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้ประสาทสมองเสียได้

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-35 วัน แต่ที่พบได้บ่อยคือ 6-20 วัน

ผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง อาจจะมีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งจะหายไปเองใน 1-9 วัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำให้แขนขาเป็นอัมพาตจากการอักเสบของสมองและไขสันหลัง

อาการ
อาการแขนขาเป็นอัมพาต อาการเริ่มแรกจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียนคล้ายไข้หวัด หรืออาจมีน้ำมูก ท้องอืด ท้องเดินหรือท้องผูกร่วมด้วย ต่อมาขณะยังมีไข้อาจมีอาการคอแข็ง หลังแข็ง กล้ามเนื้อแขนขาปวดเจ็บ เต้นกระตุก และอ่อนปวกเปียกในเวลารวดเร็ว ส่วนมากมักพบเป็นกับขาข้างใดข้างหนึ่ง

อาจมีอาการแขนขาอ่อนปวกเปียกโดยไม่มีไข้นำมาก่อนในทารก

ถ้าเป็นรุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้คือ มีการอัมพาตของแขนขาทั้งหมดถ้ากล้ามเนื้อหายใจส่วนหน้าอกและกะบังลมเป็นอัมพาต

สิ่งตรวจพบ
แขนขาทั้งสองข้างยังรู้สึกเจ็บแต่มีอาการอัมพาตไม่เท่ากัน และมีไข้

รีเฟล็กซ์ของข้อเข่าและข้อเท้าพบว่ามีน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อใช้ค้อนยางเคาะดู

อาจมีอาการเป็นอัมพาตทั้งตัวและหายใจลำบาก คอแข็ง หลังแข็งถ้าเป็นมากๆ

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่มีอาการเฉพาะที่ขา ในบางรายจะหายและแข็งแรงเป็นปกติ ส่วนบางรายส่วนหนึ่งอาจจะค่อยๆ ดีขึ้นจนเกือบปกติแต่ส่วนหนึ่งจะพิการไปตลอดชีวิต

อาจทำให้เกิดการหยุดหายใจและตายได้ถ้าเชื้อลุกลามไปยังสมอง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

การรักษา
1. ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วนในรายที่มีเพียงอาการขาอ่อนปวกเปียก เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโดยตรวจเชื้อในคอหอย น้ำไขสันหลัง หรืออุจจาระ ตรวจสารภูมิต้านทานในเลือด และให้รักษาตามอาการหากพบเป็นโรคนี้จริง โดยให้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ ประคบกล้ามเนื้อด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นเพื่อลดความเจ็บปวด บริหารแขนขาให้มีการเคลื่อนไหว หลังจาก 1 เดือน ให้นวดแบบคนเป็นอัมพาต และหัดเดิน

2. อาจต้องรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และช่วยหายใจในรายที่เป็นอัมพาตทั้งตัว และมีอาการหายใจลำบาก

ข้อแนะนำ
1. ส่วนใหญ่ผู้ที่รับเชื้อโปลิโอเข้าร่างกายจะไม่มีอาการแสดง หรืออาจมีเพียงอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ท้องเดิน อ่อนเพลียเล็กน้อย มีส่วนน้อยที่อาจพิการหรือตาย แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นทางอุจจาระได้

2. การรักษาทางกายภาพบำบัดและการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินในผู้ป่วยที่ขาพิการจะช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้ สมาชิกในครอบครัวควรดูแลเอาใจใส่ให้ได้รับความอบอุ่นทางจิตใจ

3. พบผู้ป่วยโปลิโอได้น้อยมากในปัจจุบัน และควรคิดถึงสาเหตุอื่นๆ ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน เช่น มีอาการอ่อนแรงของปลายเท้าและขาทั้งสองข้าง ลุกลามไปที่ลำตัวและแขนสองข้างซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันอาจเป็นกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร ที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองต่อปลอกหุ้มเส้นประสาทส่วนปลายหลายเส้นทั่วร่างกาย ทำให้แขนขาอ่อนแรงเป็นเหน็บชา กล้ามเนื้อตาและใบหน้าอ่อนแรงพูดลำบาก เคี้ยวและกลืนลำบาก หากเป็นรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากกล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาต อาจมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติในบางราย เช่น ชีพจรเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่ เป็นต้น

สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด พบโรคนี้ได้น้อยแต่อาจเกิดหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น จากไวรัสไซโตเมกาโล ไวรัสเอปสไตน์บาร์/อีบีวี ไข้หวัดใหญ่ หรือหลังอาหารเป็นพิษจากเชื้อแคมไพโรแบกเตอร์เจจูนิ หลังผ่าตัด หรือติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

หากสงสัยว่าเกิดโรคควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้ากล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออาจทำการถ่ายพลาสมา หรือฉีดอิมมูนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำเพื่อกำจัดสารภูมิต้านทานที่เป็นตัวก่อโรค

ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการรักษามักฟื้นตัวดีภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจเรื้อรังเป็นเดือนเป็นปี อาจมีอาการอัมพาตเรื้อรัง และอาจมีอาการกำเริบซ้ำใหม่ในเวลาต่อมาหลังจากทุเลาแล้ว

การป้องกัน
ควรป้องกันการเกิดโรคนี้ด้วยการให้กินวัคซีนป้องกันโปลิโอตั้งแต่อายุ 2 เดือน ให้ครั้งที่ 2 และ 32 เมื่ออายุได้ 4 เดือน และ 6 เดือน แล้วฉีดกระตุ้นอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 1 ½ ปี และ 4-5 ปี ตามลำดับ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า