สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคที่เกี่ยวข้องกับแอสเบสตอสในประเทศไทย

สถานการณ์โรคพิษแอสเบสตอส และโรคที่เกี่ยวข้องกับแอสเบสตอสในประเทศไทย

แอสเบสตอสเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งที่มนุษย์รู้จักดีมากว่า 10 ปีแล้ว การศึกษาของ Seidman และคณะ (พ.ศ. 2522), Anderson และคณะ (พ.ศ. 2522), Murphy และคณะ (พ.ศ. 2521) และนักวิชาการท่านอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการที่แอสเบสตอสเป็นสารก่อมะเร็ง และการสูบบุหรี่ในผู้สัมผัสแอสเบสตอสจะเป็นปัจจัยเร่งในการทำให้เกิดโรคดังกล่าวมากขึ้น เดิมมนุษย์รู้จักใช้แอสเบสตอสเป็นฉนวนความร้อน วัสดุสร้างความฝืด และประกอบในงานก่อสร้างบางชนิด ทั้งนี้เนื่องจากแอสเบสตอสเป็นสารที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและความร้อน มีความเหนียว และมีคุณสมบัตเป็นเส้นใย ต่อมาเมื่อทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากแอสเบสตอสที่มีระดับตั้งแต่โรคผิวหนังจนถึงมะเร็งปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอด (mesothelioma) ประเทศต่างๆ จึงพยายามลดจนถึงเลิกการใช้แอสเบสตอสกันมาตลอด และผลิตวัสดุอื่นทดแทนแอสเบสตอสที่ใช้กันมาก คือ man made fibre (MMF) และบ้านเรือนที่เคยใช้แอสเบสตอสเป็นผนังฉนวนในประเทศตะวันตกก็มีการกำจัดสารดังกล่าวกันมาก

จากการสำรวจทางอาชีวอนามัยในปี พ.ศ. 2527 ของกองอาชีวอนามัย พบว่า ผู้ที่ทำงานกับแอสเบสตอส ในอุตสาหกรรมต่างๆ มีอัตราผู้มีความผิดปรกติชนิด restrictive ventilatory defect 56.2-57.1 ต่อ 100 (ในการสำรวจครั้งนี้มีการตรวจผู้ทำงานที่สัมผัสแอสเบสตอส 171 คน ชนิด quota sampling)

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2529 ขณะที่ทั่วโลกกำลังตระหนักในพิษภัยของแอสเบสตอสต่อสุขภาพโดยการห้ามการนำเข้า และการใช้แอสเบสตอสในประเทศต่างๆ ประเทศไทยยังตระหนักถึงพิษภัยนี้น้อย แพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล และคณะ ได้รายงานอัตราเพิ่มของการนำเข้าแอส เบสตอสในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเพิ่มจากปี พ.ศ. 2523 ในอัตราร้อยละ 21.6 และจากรายงานการสำรวจโรคแอสเบสโทซิส (asbestosis) ในผู้ทำงานสัมผัสแอสเบสตอส โดยแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล และคณะ (พ.ศ. 2529-2530) พบความชุกของแอสเบสโทซิส ในผู้สัมผัสตาม ILO classification of pneumoconiosis (พ.ศ. 2524) เท่ากับร้อยละ 5.1 ผู้ป่วยทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีใยแอสเบสตอสซึ่งมีผลต่อสุขภาพ ได้แก่ cough, dyspnea, chest pain, difficult breath¬ing, chest tightness, และอื่นๆ รวมร้อยละ 26 ตรวจพบ clubbing finger ร้อยละ 3 และจากการสำรวจโรงงาน อุตสาหกรรม 24 แห่งทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ พบว่า ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมใดมีการดำเนินการป้องกันโรคจาก แอสเบสตอสอย่างถูกต้อง ความรู้ ทัศนคติ และการป้องกันตนเองจากโรคที่เกิดจากแอสเบสตอสยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ, โดยพบว่า ผู้ทำงานไม่รู้พิษภัยร้ายแรงของแอสเบสตอสกว่าร้อยละ 90, ผู้ทำงานในที่มีแอสเบสตอส ใส่หน้ากากเพียงร้อยละ 63.5 และเพียงร้อยละ 0.5 ของหน้ากากที่ใช้อยู่นั้นถูกต้องและได้รับการรับรอง ร้อยละ 62.4 ของผู้ทำงานสัมผัสกับแอสเบสตอสได้รับการอบรม ในการทำงานทั่วๆ ไป (ไม่ใช่เรื่องแอสเบสตอส) ร้อยละ 33.6 ยังคงสูบบุหรี่ขณะทำงานสัมผัสกับแอสเบสตอส และร้อยละ 35.3 ไม่ได้รับชุดปฏิบัติงานจากโรงงาน (ใช้ชุดจากบ้านตนเองในการปฏิบัติงาน)

ภาพที่ 1 แสดงปริมาณนำเข้าแอสเบสตอสของประเทศไทย พ.ศ. 2523-2533.
health-0125 - Copy
เนื่องจากมีรายงานผู้ป่วยแอสเบสตอสในผู้ทำงาน และมีรายงานประปรายของผู้เป็น mesothelioma จาก cancer registration ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในประเทศไทย ถึงแม้จะไม่มีรายงานผู้ป่วย asbestos related dis¬eases ในผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปของประเทศ แต่การที่ประเทศไทยนำเข้าแอสเบสตอสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี พ.ศ. 2533 มีอัตรานำเข้าแอสเบสตอสเพิ่มจากปี พ.ศ. 2523 เท่ากับร้อยละ 98.6 (ในปี พ.ศ. 2533 มีการนำเข้าสูงถึง 116.6 ล้านกิโลกรัม), มีการ dump แอสเบสตอส จากกว่า 10 ประเทศเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องดังภาพที่ 1

ภาพที่ 2. แสดงสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกแอสเบสตอสของประเทศไทย พ.ศ. 2526-2530.
health-0125 - Copy1
และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแทบไม่มีการส่งออกเนื่องจากทั่วโลกมีการลดและเลิกใช้สารนี้แล้ว ดังจะเห็นได้จากปริมาณส่งออกเพียงร้อยละ 0.1 ของปริมาณนำเข้าดังภาพที่ 2 โดยส่งออกไปเพียงประเทศเดียว คือ มาเลเซียจึงทำให้สถานการณ์ด้านโรคที่เกี่ยวกับแอสเบสตอสจะสะสมในประเทศได้ ควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนจะได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และหาวิธีป้องกันต่อไปโดยเร่งด่วน

ที่มา:อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล พ.บ., M.P.H.
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า