สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แอนแทรกซ์(Anthrax)

เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดในสัตว์เลี้ยง ซึ่งสามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่จะไม่ติดต่อระหว่างคนด้วยกัน สัตว์เลี้ยงที่มีการติดเชื้อที่พบบ่อย เช่น โค กระบือ ม้า อูฐ แพะ แกะ พบโรคนี้มากในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง หรือมีการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบๆ

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อ บาซิลลัสแอนทราซิส(Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นสปอร์อยู่ตามดินทราย มีความทนทานอยู่ได้นานนับสิบปีในสภาพแวดล้อม ตัวนำเชื้อไปแพร่กระจายมักจะเป็นแมลงวันและนกแร้ง ซึ่งเชื้อสามารถติดต่อมาสู่คนได้ 3 ทางด้วยกันคือ

-ทางผิวหนัง เชื้อจะผ่านเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนังจากการสัมผัสถูกสปอร์ตามดินทราย หนังสัตว์ ขนสัตว์ โดยตรง

-ทางปาก จากการกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อโดยไม่ได้ปรุงให้สุกเสียก่อน

-ทางเดินหายใจ มักพบในคนงานโรงงานฟอกหนัง ทำขนสัตว์ หรือหนังสัตว์ โดยการสูดเอาสปอร์เข้าไปในปอด แล้วสปอร์นั้นจะเจริญเติบโตและปล่อยสารพิษหลายชนิดออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้มีอาการอักเสบ บวม เป็นแผล เนื้อตาย เลือดออก

ระยะฟักตัวของโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 1-6 วัน แต่อาจนานถึง 6 สัปดาห์ถ้าเกิดจากการสูดเข้าทางเดินหายใจ

อาการ
อาการแสดงและความรุนแรงจากการติดเชื้อของโรคนี้จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ

แอนแทรกซ์ผิวหนัง (cutaneous anthrax) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการขึ้นเป็นตุ่มนูนที่ผิวหนังคล้ายถูกแมลงกัดหลังจากติดเชื้อได้ 2-5 วัน แล้วต่อมาอีกประมาณ 1-2 วัน ตุ่มนูนนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำขนาด 1 ซม. มีลักษณะบวมโดยรอบ และตุ่มน้ำจะแตกกลายเป็นแผลมีจุดดำตรงกลางคล้ายถูกบุหรี่จี้ เรียกว่า สะเก็ดแผลไหม้อีกประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมา ตุ่มและแผลจะไม่เป็นหนอง ไม่เจ็บ อาจมีอาการคันเล็กน้อย และอาจมีการแพร่กระจายของเชื้อไปทั่วร่างกายเกิดอาการไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองใกล้บริเวณแผลเกิดการอักเสบ และมีการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ เป็นอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษา

แอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร (gastrointestinal anthrax)
ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หลังจากกินเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกเข้าไปประมาณ 2-3 วัน หรืออาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด ท้องมาน หรือช็อกได้ในรายที่เป็นรุนแรง หรืออาจมีอาการไข้ เจ็บคอ คอบวม กลืนลำบาก เลือดออกจากปาก หายใจลำบาก ต่อมน้ำเหลืองข้างคอโตในรายที่มีการอักเสบในคอหอย

แอนแทรกซ์ปอด (inhalation หรือ pulmonary anthrax) อาการในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้งๆ รู้สึกแน่นบริเวณลิ้นปี่ คล้ายไข้หวัดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสูดเอาสปอร์เข้าไปในทางเดินหายใจประมาณ 1-6 วัน และอาการนี้จะทุเลาและหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ผู้ป่วยจะเข้าสู่อาการในระยะที่ 2 เนื่องจากสปอร์ที่อยู่ในร่างกายจะเจริญและปล่อยพิษออกมามากจนทำให้มีอาการไข้สูง เหงื่อแตก หายใจหอบ ตัวเขียว หากไม่ได้รับการรักษาบางรายอาจมีไข้ต่ำๆ หรือตัวเย็นเกินร่วมกับภาวะช็อก มักมีอาการอยู่ประมาณ 24 ชั่วโมงและเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว

สิ่งตรวจพบ
แอนแทรกซ์ผิวหนัง มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีรอยแผลที่ผิวหนังเป็นตุ่มนูนแดง และกลายเป็นตุ่มน้ำเมื่อแตกจะเป็นสะเก็ดมีจุดดำตรงกลางคล้ายรอยถูกจี้ด้วยบุหรี่ เรียกว่า สะเก็ดแผลไหม้ อาจตรวจพบไข้ในผู้ป่วยในระยะหลัง และมีต่อมน้ำเหลืองโต

แอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้ ในช่องปากอาจมีแผล เลือดออกจากปาก ต่อมน้ำเหลืองข้างคอโต คอบวม และอาจพบอาการท้องมาน ถ่ายเป็นเลือด ซีด ช็อก ในระยะหลัง

แอนแทรกซ์ปอด มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้ หายใจหอบ ตัวเขียว ช็อก ได้ยินเสียงกรอบแกรบเมื่อฟังด้วยเครื่องฟังปอด หายใจค่อย ปอดเคาะทึบ หรืออาจมีอาการคอแข็ง หมดสติ ปัสสาวะน้อยหรือไม่ออกซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อน
แอนแทรกซ์ทุกชนิดอาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อทางกระแสเลือดได้ โดยเฉพาะแอนแทรกซ์ปอด และอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ และอาจเกิดภาวะช็อกจากการตกเลือดทางเดินอาหารหรือจากร่างกายสูญเสียน้ำ และในบางรายพิษของแอนแทรกซ์อาจทำให้เกิดภาวะไตวายแทรกซ้อนได้

การรักษา
ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วหากมีความสงสัยในกรณีที่ผู้ป่วย มีตุ่มน้ำหรือรอยสะเก็ดแผลไหม้ที่ผิวหนัง มีไข้คล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดินคล้ายอาหารเป็นพิษ มีประวัติการสัมผัสสัตว์เลี้ยง ขนสัตว์ หนังสัตว์ หรือบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก

แพทย์มักจะตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยวิธี ย้อมเชื้อจากแผล เสมหะหรืออุจจาระ เพาะเชื้อจากเลือดหรือเสมหะ พิสูจน์ชิ้นเนื้อผิวหนัง ทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน เอกซเรย์ปอด เจาะหลังเพื่อกรวดน้ำไขสันหลัง ใช้เครื่องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ ร่วมกับการวินิจฉัยจากลักษณะอาการของผู้ป่วย

นอกจากให้การรักษาไปตามอาการที่พบแล้ว ในโรคนี้การรักษาที่สำคัญคือ การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ เช่น ไซโพรฟล็อกซาซิน หรือดอกซีไซคลีน ร่วมกับคลินดาไมซิน และ/หรือไรแฟมพิซิน โดยให้ทางหลอดเลือดดำ และเปลี่ยนไปใช้ชนิดกินนาน 60 วันเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว

ผลการรักษามักจะได้ผลดีและหายได้เป็นส่วนใหญ่ถ้าผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่เริ่มสัมผัสโรคหรือก่อนมีอาการ หรือในระยะเริ่มแรกเมื่อมีอาการแสดง หรือเป็นแอนแทรกซ์ผิวหนัง แต่ผลการรักษามักจะไม่ดีนักและยังมีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้ถ้าให้การรักษาช้าเกินไป หรือในรายที่เป็นแอนแทรกซ์ปอด และผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตทุกรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ข้อแนะนำ
1. เนื่องจากในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงอย่างทั่วถึง จึงพบผู้ป่วยแอนแทรกซ์ได้น้อยลง แต่ยังต้องระวังการแพร่เชื้อนี้มาสู่คนในกรณีที่บางแห่งอาจมีการละเลยในการป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงอยู่

2. อาการของแอนแทรกซ์อาจคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ สครับไทฟัส ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จึงควรสอบถามประวัติการสัมผัสสัตว์จากผู้ป่วย โดยเฉพาะถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด และมีอาการดังกล่าวด้วยก็อาจเกิดจากโรคนี้ได้

3. โรคนี้ไม่มีความจำเป็นต้องแยกหรือกักตัวผู้ป่วย เพราะการติดเชื้อจะเกิดจากการรับเชื้อมาจากสัตว์ที่มีเชื้อนี้อยู่ ไม่ติดจากคนสู่คนด้วยกันเอง

การป้องกัน
1. ควรป้องกันและควบคุมโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์เลี้ยงอย่างเคร่งครัดและทั่วถึง

2. ไม่ควรสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อหรือเป็นโรคแอนแทรกซ์

3. ไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุกเสียก่อน

4. ควรให้ยาป้องกันกินทันทีก่อนมีอาการในผู้ที่สัมผัสเชื้อด้วยวิธีต่างๆ และให้กินติดต่อกันนาน 60 วัน ด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้

-ไซโพรฟล็อกซาซิน 500 มก. วันละ 2 ครั้ง
-ดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง
-อะม็อกซีซิลลิน 500 มก. ทุก 8 ชั่วโมง เด็กให้ขนาด 80 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง สำหรับเด็กและหญิงตั้งครรภ์

5. วัคซีนป้องกันแอนแทรกซ์ ควรฉีดให้แก่กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แอนแทรกซ์ เช่น ทหารที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยเชื้อนี้ หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ระบาด ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่นำมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อชนิดนี้ แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันให้กับคนทั่วไป

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า