สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเรียนรู้ของแม่และลูกในช่วงสัปดาห์ที่ 1-6

คุณแม่จะได้กลับบ้านพร้อมลูกน้อย หลังจากที่คลอดและพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลระยะหนึ่งแล้ว ก่อนออกจากโรงพยาบาลเพื่อไม่ให้ลูกต้องร้องหิวระหว่างทาง คุณแม่ก็ควรให้ลูกดูดนมแม่จนอิ่มเสียก่อน

ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ ได้จัดเตรียมสถานที่ไว้ก่อนล่วงหน้า การกลับบ้านก็จะไม่มีความโกลาหลเลย เพื่อให้แม่ได้อุ้มลูกมาดูดนมได้ง่าย เตียงของลูกและคุณแม่ก็ควรอยู่ใกล้กัน ของใช้ที่จำเป็นก็ควรวางอยู่ใกล้มือจะได้ไม่ต้องลุกขึ้นเดินไปไกลๆ คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีความสะดวกและลดงานลงไปได้มาก เพราะไม่ต้องมีภาระในการล้างและต้มขวดนม

หลังคลอดคุณแม่ควรมีระยะพักฟื้นประมาณ 40 วัน เพื่อให้ปลอดจากหน้าที่รับผิดชอบเรื่องงานบ้าน เรื่องอาหารการกิน ทำให้ร่างกายของแม่ได้พักผ่อน ฟื้นจากการเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์และการคลอด ได้รับโภชนาการที่ดี และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของแม่และลูก

คุณแม่ไม่ควรทำงานมากเกินไปในระยะพักฟื้นนี้ และยิ่งต้องพักผ่อนให้มากถ้าคุณแม่ต้องกลับไปทำงานนอกบ้านอีก เพราะอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้าถ้าหักโหมออกแรงทำงานมากเกินไปในช่วงนี้ และอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะกลับคืนมาเป็นปกติได้ ความเชื่อที่ว่า ไม่ให้แม่หลังคลอดเดินขึ้นลงบันได เหตุผลก็คือ ต้องการให้ได้พักผ่อนมากๆ นั่นเอง

เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อกลับบ้านในช่วงแรก

คุณแม่ควรนอนอยู่ในห้องให้มากที่สุดใน 3 วันแรกที่กลับบ้าน ให้ผู้อื่นช่วยทำงานบ้านแทน ถ้าจะทำก็เป็นเพียงงานเบาๆ ที่เกี่ยวกับลูก และให้นมแม่แก่ลูก

ในเวลากลางวัน 3 ช่วง ควรหาเวลางีบหลับ ช่วงละ 1 ชั่วโมง เช่น หลังรับประทานอาหารเช้าแล้วตอนสายๆ ตอนบ่าย และตอนหัวค่ำ หรือตอนที่ลูกหลับ พักผ่อนด้วยการนอน เปิดเพลงฟัง ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่ควรทำอะไรที่ต้องออกแรงหรือทำให้เคร่งเครียด เช่น การจัดบ้าน หรือการอ่านหนังสือ

ในช่วง 6 สัปดาห์แรกนี้ จะเป็นการเรียนรู้การให้นมแม่ของแม่และลูก เหตุการณ์ปกติที่อาจพบได้คือ บางวันคุณแม่อาจมีน้ำนมมากจนเหลือเฟือ แต่บางวันอาจมีน้อยจนลูกต้องร้องเพราะหิวนมอยู่ตลอดเวลา ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ คุณแม่ไม่ควรตื่นตกใจ และค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก

ในช่วงนี้ ประมาณวันที่ 6 และวันที่ 14 หลังคลอด ลูกจะดูดนมบ่อยขึ้น การให้ลูกดูดนมบ่อยๆ จะช่วยกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมมากขึ้น จึงไม่ควรหวั่นวิตก

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งบ่งว่า ยิ่งให้ลูกดูดนมแม่มากเท่าไร คุณแม่ก็จะยิ่งลดน้ำหนักส่วนเกินลงไปได้เท่านั้น ซึ่งคุณแม่ก็จะได้ประโยชน์จากการให้นมแม่แก่ลูกอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะในช่วงตั้งครรภ์ ไขมันที่สะสมอยู่จะถูกสลายกลายมาเป็นไขมันในน้ำนมแม่ให้ลูกดื่มนั่นเอง

ในแต่ละมื้อควรให้นมแม่ห่างกันเท่าไร
ในระยะแรกนี้ ผู้ที่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะรู้ดีว่า นมแม่ย่อยได้ง่าย ทารกจึงหิวได้เร็ว แต่สารอาหารในน้ำนมก็ถูกดูดซึมไปใช้ได้อย่างเต็มที่ คงไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดเกี่ยวกับระยะห่างของการให้นมแม่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูก จากข้อมูลในตำราเลี้ยงเด็กอาจจะบอกว่าให้นมลูกห่างกันในแต่ละมื้อประมาณ 4 ชั่วโมงนั้น เป็นการให้นมผสมแก่ลูก ซึ่งนมผสมจะย่อยยากกว่านมแม่ ทารกจึงหิวช้ากว่าการกินนมแม่

ทารกที่กินนมแม่หลายรายใน 24 ชั่วโมง จะกินนมถึง 10 มื้อในช่วง 4 สัปดาห์แรกนี้ แต่ละมื้อห่างกันโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ในเวลากลางวันทารกจะดูดนมถี่ขึ้นถ้าเขาหลับกลางคืนแต่ละช่วงนาน 4-5 ชั่วโมง และถ้าหลับนานในเวลากลางวัน กลางคืนก็จะดูดนมถี่ขึ้น

คุณแม่ไม่ควรเอาบรรทัดฐานของเด็กที่กินนมผสมมาเทียบกับลูกที่กินนมแม่ ถ้าลูกรู้สึกหิวตลอดเวลา ให้ลองสังเกตดูว่า เขาจัดอยู่ในกลุ่มที่กิน 10 มื้อต่อวันหรือเปล่า และไม่ต้องกังวลใจถ้าเป็นในรูปแบบนี้

เมื่อทารกอายุย่างเข้าเดือนที่ 2-3 ก็จะกินนมแม่ประมาณ 8 มื้อต่อวัน หรือทุก 3 ชั่วโมง และเมื่ออายุ 6 เดือนไปแล้วก็จะกินนม 6 มื้อต่อวัน

ทารกจะได้รับนมแม่ทุก 2-3 ชั่วโมง ในเวลากลางคืนอาจมีช่วงหลับยาวคืนละ 1-2 ช่วง แต่ทารกพวกที่ควรได้รับการกระตุ้นให้ดูดนมบ้าง คือ ทารกที่นอนหลับยาวทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อให้ดูดนมก็จะดูดๆ หยุดๆไม่สนใจจะดูดสักเท่าไร ถ้าคุณแม่เห็นว่านอน 3 ชั่วโมงแล้วยังไม่ยอมตื่น ก็อาจปลุกขึ้นมาให้ดูดนมแม่ทั้งสองข้างได้

คุณแม่ต้องให้เวลาในการดูดนมแต่ละมื้อนานสักหน่อย ในเต้านมข้างแรกเพื่อให้ได้นมส่วนท้ายที่อุดมไปด้วยไขมันเข้าไป อาจจะเป็น 20-30 นาที ส่วนอีกข้างก็ให้ไม่นานนัก และสลับมาให้กินข้างที่ให้ดูดไม่นานนี้ในมื้อต่อไป

สภาพแวดล้อมในการให้นมควรมีความสงบ ไม่มีเสียงหรือแสงจ้ารบกวน เพื่อให้ประสาทสัมผัสของลูกตื่นตัวควรอุ้มผิวหนังของลูกแนบชิดกับผิวหนังของคุณแม่มากที่สุด บางรายอาจหลับคานมเมื่อดูดนมไปได้นิดเดียว คุณแม่ควรอุ้มเขาไว้อย่างนั้นอีกสักพัก แล้วค่อยปลุกให้มาดูดใหม่

จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมให้ลูกได้ ถ้าเพิ่มจำนวนมื้อให้ลูกดูด และใช้เวลาในการดูดให้นานขึ้น

รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินนมแม่เข้าไปเพียงพอ
คุณแม่มักกังวลว่าลูกจะได้นมเข้าไปไม่พอ เพราะไม่ได้เห็นกับตาว่าลูกกินเข้าไปเท่าไร วิธีการสังเกตง่ายก็คือ

ลูกปัสสาวะบ่อยแค่ไหน
ทารกในวัยนี้ตามปกติแล้วจะปัสสาวะ 6-8 ครั้งในแต่ละวัน ต่อวันถ้าปัสสาวะมากกว่านี้ก็ถือว่าได้รับนมเข้าไปเพียงพอแล้ว แต่คุณแม่อาจนับจำนวนครั้งในการปัสสาวะของลูกผิดพลาดได้ถ้าใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพราะมีประสิทธิภาพในการซึมซับดีมากจนดูเหมือนยังไม่เปียก ดังนั้น คุณแม่ควรใช้ผ้าอ้อมแบบผ้าในช่วงที่ต้องการจะรู้ว่าลูกปัสสาวะกี่ครั้งต่อวัน

ลูกอุจจาระดีเป็นปกติหรือไม่
ทารกจะถ่ายอุจจาระบ่อยประมาณวันละ 6-10 ครั้งใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด ทารกที่กินนมแม่จะมีอุจจาระที่ค่อนข้างเหลวคล้ายสังขยาไม่เป็นก้อน มีสีเหลืองทอง น้ำกับเนื้ออุจจาระจะผสมกันเป็นเนื้อเดียว หรืออาจมีเม็ดปนอยู่บ้าง บางคนทุกครั้งที่กินนมเสร็จก็ถ่ายอุจจาระ ถ่ายมากบ้างน้อยบ้าง ทารกจะถ่ายน้อยครั้งลงหลังจาก 1 เดือนไปแล้ว อาจจะเป็น 1 หรือ 2 ครั้ง มีปริมาณของอุจจาระมากและไม่แข็ง ถ้ามีลักษณะของอุจจาระเช่นนี้ก็ถือว่าปกติดี

ใน 2 สัปดาห์แรกถ้าทารกกินนมแม่ไม่พอ อาจจะทำให้ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 4 ครั้งต่อวัน ปริมาณอุจจาระที่ออกมาก็น้อย บางรายอาจอาจอุจจาระเป็นน้ำสีเขียวๆ ก็ได้

วันละกี่มื้อที่ลูกดูดนมแม่
ถือว่าลูกดูดนมได้พอเพียงถ้าแม่ให้นมวันละ 8-10 มื้อ และแสดงว่ามีปริมาณน้ำนมที่มากพอถ้าให้นมลูกข้างหนึ่ง และน้ำนมอีกข้างก็ไหลหยดด้วย และกลไกน้ำนมพุ่งที่แม่รู้สึกได้จากการบีบพุ่งของน้ำนมที่ลูกดูด ก็แสดงว่ามีน้ำนมพอเพียงเช่นกัน ถึงแม้ว่าน้ำนมอีกข้างจะไม่หยดลงมาก็ตาม

น้ำหนักตัวลูกขึ้นดีหรือไม่
น้ำหนักตัวลูกในช่วงอายุ 1 เดือนแรก จะขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 800 กรัม ถ้าขึ้นเท่านี้หรือมากกว่านี้แสดงว่าน้ำนมเพียงพอ หรือให้สังเกตจากแขนขาที่อ้วนกลมขึ้น จับแล้วเนื้อแน่น อุ้มแล้วรู้สึกหนักขึ้น ลูกแข็งแรงดี มีแววตาที่แจ่มใส แม้จะไม่ได้ชั่งน้ำหนักคุณแม่ก็สบายใจได้ว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า